หลักการพัฒนางานจากการเรียนรู้จากความผิดพลาด  71

คำสำคัญ : การพัฒนางาน  เรียนรู้  

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 2024-08-26_23-33-07.png  

การพัฒนางานจากหลักการเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่มีใครที่ทำงานมาโดยไม่เคยทำอะไรผิดพลาด ทุกคนล้วนแต่เคยทำงานผิดพลาดกันมาแล้วทั้งนั้น มากบ้าง น้อยบ้าง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แตกต่างกันไป การจะได้มาซึ่งประสบการณ์ต่าง ๆ ในการทำงาน ย่อมผ่านการลองผิดลองถูกอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือ เมื่อผิดพลาดแล้วต้องเรียนรู้ เพื่อป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีก และยกระดับพัฒนาศักยภาพในตัวเองให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จของการปฏิบัติงาน มีหลักการ 8 ข้อ ให้คนทำงานทุกคน ลองทบทวนตัวตน ค้นหาแง่มุมดี ๆ จากความผิดพลาด และเปลี่ยนให้เป็นประสบการณ์อันมีค่า 

1.ให้โอกาสกับความผิดพลาด ควรให้ตัวเองได้ทำพลาดบ้าง เพราะการทำพลาดเป็นเรื่องที่มนุษย์ทั่วไปหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ถือเสียว่าความผิดพลาดนั้นเป็นบทเรียนและคำแนะนำที่ดีเยี่ยม อีกทั้งยังทำให้การปฏิบัติงานของเราดีขึ้นได้ เพราะความผิดพลาดสอนสิ่งใหม่ ๆ และทำให้เรามองโลกได้กว้างขึ้น เริ่มต้นให้โอกาสความผิดพลาดจากการบอกตัวเองว่า“เรายังมือใหม่ อย่างไรก็ต้องทำพลาด แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไร พลาดบ้างจะได้เก่งขึ้น” บางครั้งความกลัวที่จะทำพลาดก็มักจะมีที่มาจากอุดมคติที่เราได้รับการสั่งสอนมาให้ทำอะไรอย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งนี้มักจะกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ หรือแข่งขันอะไรได้ เพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดีจนไม่กล้าทำ ดังนั้น อย่าปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับตัวเรา 

2. ผิดพลาดเพราะพยายามไม่พอ บางครั้งความผิดพลาดก็เกิดจากเราพยายามไม่เพียงพอ แน่นอนว่าเราไม่สามารถพยายามอย่างเต็มที่กับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตได้ การจัดลำดับความสำคัญจึงเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง รู้ตัวอยู่เสมอว่า ตอนนี้ต้องทำอะไรก่อนเป็นอันดับแรก แล้วมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ หลายครั้งที่คนเราสติหลุด เพราะปล่อยให้จิตใจให้เตร็ดเตร่ออกจากงานที่ทำอยู่ ช่วงเวลานี้แหละที่ความผิดพลาดจะเกิดขึ้น ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าเรามักทำเรื่องผิดพลาดเนื่องจากเหม่อลอย ไม่ค่อยมีสมาธิ จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ก็ต้องลองพยายามฝึกจิตให้อยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมใส่ความมุ่งมั่นตั้งใจให้เต็มร้อยกับเรื่องที่ทำ รับรองไม่มีหลุด ไม่มีพลาด อย่างแน่นอน

3. มองความผิดพลาดให้เป็นโอกาส รู้หรือไม่ว่าสมองของคนเรามีกลไกที่ช่วยป้องกันตัวเองเมื่อเราทำสิ่งผิดพลาด ในช่วงเวลานั้นเอง สมองจะมีการสั่งงานมากขึ้น กระตุ้นให้มีการแก้ไขปัญหา เพื่อเอาตัวรอดและหาทางออกจากปัญหาให้ได้ ซึ่งเป็นผลดีอย่างมากต่อการเรียนรู้ การทำผิดพลาดสามารถช่วยให้เรากลับมาตั้งหลัก ตั้งสมาธิในสิ่งที่เรากำลังทำได้มากขึ้นและพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อลดความผิดพลาดให้น้อยลง

4. ผิดแล้วต้องยอมรับ เมื่อรู้ตัวว่าได้ก่อความผิดเข้าให้แล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือการออกมาแสดงความรับผิดชอบ ยอมรับในความผิดนั้นแต่โดยดี อย่าคิดว่าโชคดีแล้ว ที่ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น เพราะเมื่อไหร่ที่ความผิดของคุณถูกเปิดโปงจากปากคนอื่น ความหายนะมาเยือนแน่นอน นอกจากเรื่องที่ผิดพลาด ก็ยังถูกมองว่าไม่ซื่อสัตย์ ไม่กล้าเผชิญหน้าความจริง และอาจไม่ได้รับความไว้วางใจอีกต่อไป เมื่อยอมรับผิดแล้วให้พยายามอธิบายด้วยเหตุผล ชี้แจงตามความเป็นจริง เชื่อเถอะว่า หากทำได้เช่นนี้คนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังย่อมให้อภัยและชื่นชมในความซื่อสัตย์ของเราอย่างแน่นอน

5. เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง หลังจากออกมายอมรับผิดและชี้แจงความจริงแล้ว ก็คือต้องหาแนวทางแก้ปัญหา เดินหน้าแก้ไข แสดงให้ทุกคนเห็นว่าเราจริงจังที่จะกอบกู้สถานการณ์ ไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก และมีความรับผิดชอบอย่างเต็มเปี่ยม สื่อสารถึงกันว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แล้วลงมือทำทันทีอย่างไม่ลังเล

6. รู้จักขอความช่วยเหลือ บางครั้งปัญหาที่เราต้องเผชิญอาจเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลังคน ๆ เดียวจะรับไหว ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องไม่อายที่จะขอความช่วยเหลือในสิ่งที่เราทำไม่ได้ ปล่อยวางอัตตา และอีโก้ออกไป และเรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์มากกว่า คืออีกหนึ่งวิธีที่จะพัฒนาตัวตนให้มีศักยภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป

7. หาทางป้องกันไม่ให้ผิดซ้ำ คนเราผิดพลาดกันได้ แต่ก็ไม่ควรผิดพลาดในเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ กันไว้ดีกว่าแก้ นอกจากแก้ไขความผิดพลาดแล้ว อีกอย่างที่ควรทำคือป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ไม่ทำผิดเรื่องเดิม ปิดโอกาส ลดความเสี่ยง ไม่ให้เกิดเรื่องที่อาจส่งผลต่อส่วนตัวและส่วนรวมขึ้นอีก เป็นหลักประกันให้ทุกฝ่ายได้อุ่นใจ และเรียกความเชื่อมั่นจากคนรอบข้างว่าเราเป็นคนเตรียมความพร้อม มีแผนรับมือจัดการเรื่องไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และบริหารความเสี่ยงอยู่เสมอ

8. บันทึกความผิดพลาดไว้เป็นบทเรียน จดบันทึกเป็นคลังความรู้ที่มีประโยชน์เสมอ แม้แต่ความผิดพลาดก็เป็นบทเรียนให้ชีวิตได้ ลงมือเขียนและบันทึกออกมาว่าเหตุเกิดเมื่อไหร่ ที่ใด อย่างไร รวมถึงวิธีการแก้ไข สร้าง Know how คู่มือเรียนรู้จากความผิดพลาดในแบบฉบับของเรา แล้วทบทวนเรื่องราวเหล่านั้นเมื่อมีเวลาว่าง พร้อมพิจารณาดูว่ามีทางเลือกอะไรบ้างที่สามารถทำให้สถานการณ์แตกต่างออกไป หรือเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้

สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดีเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผิดพลาดหรือความสำเร็จ เพียงแต่ตัวเรานั้นต้องเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์มาเป็นบทเรียนที่ใช้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองต่อไปได้ในอนาคต อย่ากลัวความผิดพลาดจนไม่กล้าออกจาก comfort zone หรืออย่าจมอยู่กับความผิดพลาดนานเกินไป หากเจอกับข้อผิดพลาด ให้พยายามลุกขึ้นอย่างเข้มแข็ง และก้าวเดินต่อไปอย่างสง่างาม


เขียนโดย : จิรวัฒน์  วงษ์สมาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : jirawat@hotmail.com

พี่ฮาร์ท เรื่องนี้ สอนไว้ดีจังเลยค่ะพี่ อ่านแล้วทำให้มีกำลังใจค่ะ เพราะหนูก็เป็นคนนึงที่ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ ขอบคุณที่นำเรื่องที่น่าอ่านมากๆ มาแชร์นะคะพี่

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล