Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
6 ทักษะ ที่บุคลากรควรจะมีเพื่อให้การทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพ 86
6 ทักษะ ที่ชาว กปว. ควรมีจะมีเพื่อให้การทำงานของ กปว. มีประสิทธิภาพ (ข้อคิดเห็นในการพัฒนางานของบุคลากร กปว. )
ในการทำงานนั้น ย่อมต้องการคนเก่ง คนที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมงาน แต่ในความเป็นจริงการทำงานต้องการคนที่มีคุณสมบัติมากกว่านั้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ในตำราเรียนไม่มีสอน แต่เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากสำหรับการทำงาน และเป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งทักษะที่มีความจำเป็นในการทำงานให้มีประสิทธิภาพนั้น ประกอบด้วย
1.ทักษะการฟัง
ทักษะในการฟังที่ดีจะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เมื่อฟังเข้าใจก็สามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง สามารถคิดแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม และสามารถนำข้อมูลที่รับฟังนั้นไปดำเนินการต่อได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทักษะนี้มีจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานเป็นทีมเวิร์กที่คนในทีมจะต้องฟังกันให้เข้าใจในวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และวิธีการทำงานของทีม สมาชิกในทีมจึงจะสามารถทำงานประสานกันได้อย่างราบรื่นลงตัว และนอกจากนี้การรับฟังข้อเสนอของผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อนำข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะมาใช้ประกอบการ พิจารณาหรือตัดสินใจ รวมไปถึงนำข้อเสนอดังกล่าวมาเป็นบทเรียนและใช้พัฒนาตนเองต่อไป
2. ทักษะการสื่อสารให้ชัดเจน
การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการพูดหรือการเขียนที่มีประสิทธิภาพ สามารถส่งสารไปยังผู้ฟังหรือผู้อ่านได้อย่างครบถ้วนชัดเจน โดยควรจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องการจะสื่อ เรื่องไหนสำคัญและเร่งด่วนให้เอาขึ้นก่อน อีกทั้งยังต้องรู้จักการสรุปใจความสำคัญ รวมถึงการแจกแจงอธิบายรายละเอียดปลีกย่อยในประเด็นต่าง ๆ จะทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจกับข้อมูลที่ได้รับง่ายขึ้น โดยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จะมีส่วนช่วยในความสำเร็จของการทำงานเป็นอย่างมาก
3.ทักษะด้านเทคโนโลยีอย่าให้ล้าหลัง
ทักษะด้านเทคโนโลยี คือการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเลต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสื่อออนไลน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเติบโต และเข้ามามีบทบาทในการทำงานและวิถีชีวิตของทุกคน โดยทักษะด้านดิจิทัลนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 6 ด้าน ดังนี้
1) เครื่องมือและเทคโนโลยี ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเครื่องมือที่เป็น Hardware หรือ Software ควรจะเข้าใจพื้นฐานในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ว่าทำงานอย่างไร
2) การค้นหาข้อมูล สามารถค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป เพื่อนำมาประยุกต์ใช้การทำงานหรือใช้อ้างอิงข้อมูล
3) การเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆเพิ่มเติมได้ง่ายจากเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน
4) การสื่อสารการเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้การสื่อสาร และการทำงานร่วมกันนั้นสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้ Google Meet , Zoom ในการประชุมทางไกลเป็นต้น
5) การสร้างสรรค์และนวัตกรรม สามารถสร้างเนื้อหาดิจิทัลและการเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
6) การยืนยันตัวตนและสวัสดิการ เป็นทักษะในการปกป้องข้อมูลของตัวเองก็สำคัญ เช่น รหัสผ่าน ,การดูแลปกป้องข้อมูลของผู้อื่นที่เราเป็นคนดูแล ,จรรยาบรรณในการใช้งาน เป็นต้น
4. ทักษะการบริหารจัดการกับปัญหาได้
ทักษะในการแก้ปัญหาแบ่งออกเป็นสองแบบ คือปัญหาระยะสั้นและปัญหาระยะยาว ปัญหาระยะสั้นคือปัญหาที่เกิดเฉพาะหน้าต้องเน้นความสามารถ ไหวพริบ และการตัดสินใจที่แน่วแน่ ส่วนปัญหาระยะยาวเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยรูปแบบ แบบแผน และแนวทางขององค์กรนั้น ๆ ในการแก้ไขปัญหา กล่าวโดยง่าย คือปัญหาระยะยาวเป็นปัญหาที่หลายฝ่าย ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข และมีเวลาตัดสินใจนานขึ้น แล้วแต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อถึงช่วงเวลาคับขันที่ต้องตัดสินใจจัดการกับปัญหา คนที่สามารถประเมินสถานการณ์หรือเข้าใจปัญหาได้เร็ว ไหวตัวเร็ว คิดแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาดและทันท่วงที จะเป็นผู้ที่สามารถบริหารจัดการงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้
5. จัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม
การจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสมจะทำให้ผ่านพ้นช่วงวุ่น ๆ ที่รู้สึกว่างานล้นมือได้อย่างไม่ยาก การจัดสรรเวลาทำได้โดยการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องทำ อันไหนควรทำก่อน อันไหนรอได้ หรืออันไหนสามารถมอบหมายให้คนอื่นทำได้ จัดระเบียบโต๊ะทำงานให้สามารถหยิบจับเอกสารที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้ไม่เสียเวลาไปกับการค้นหาเอกสารจากกองเอกสารมากมายบนโต๊ะทำงาน การบริหารจัดการที่ดีจะทำให้มีงานส่งตรงเวลา อีกทั้งยังมีเวลาเหลือสำหรับการตรวจทานและแก้ไขข้อผิดพลาดก่อนส่งงานอีกด้วย
6. ทักษะการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และบุคคลได้ดี
ผู้ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และบุคคลได้ดีเป็นคนเรียนรู้เร็ว ไม่ยึดติดกับตัวเอง พร้อมเปิดรับความคิดใหม่ ๆ เสมอ จึงไม่กลัวที่จะลองทำสิ่งที่แตกต่าง และสามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้ดี
14 มุมมองของคนที่ปรับตัวได้ดี จากมุมมองและประสบการณ์ของ เจฟ บอส (Jeff Boss) ที่ปรึกษาอาวุโสแห่ง N2Growth ประกอบด้วย
1) เพื่อจะปรับตัวได้ พร้อมเปลี่ยนแปลง: คุณต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองพร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่การกระทำ แต่เป็นความต้องการภายในที่พร้อมจะปรับตัว มีทัศนคติที่ดีต่อความอดทน
2) คนที่ปรับตัวเก่ง เห็นวิกฤติเป็นโอกาส: การปรับตัวคือการเติบโต การเปลี่ยนแปลง และคือการเปลี่ยนความเข้าใจของตัวเองต่อสิ่งที่คิดว่าเคยใช่ รู้ว่ามันผิดได้และผิดอย่างไร จากนั้นคนที่ปรับตัวรู้ว่าจะหาวิธีปรับตัวไปสู่สิ่งที่ถูกต้องใหม่อย่างไร (หรือที่เรียกว่า new right) นี่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะความสำเร็จในอดีตไม่ได้หมายความหรือการันตีว่ามันจะเกิดผลแบบเดียวกันในอนาคต
3) คนที่ปรับตัวเก่ง แก้ปัญหาได้ดี: แทนที่จะติดอยู่กับปัญหาที่ (รู้สึก) ว่าแก้ไม่ได้ คนที่ปรับตัวเก่งมีแผน A, B, C อยู่เสมอ
4) คนที่ปรับตัวเก่ง มองหาโอกาสเสมอ: เพื่อการพัฒนาตัวเอง คนที่ปรับตัวเก่งจะขยายขอบความสามารถของตัวเองไปเรื่อยๆ เสมอ
5) คนที่ปรับตัวเก่ง จะไม่ฟูมฟาย: เพราะเมื่อไรที่พวกเขาเจอสถานการณ์ที่จัดการไม่ได้ นั่นแหละพวกเขาก็แค่ปรับตัวและก้าวต่อไป
6) คนที่ปรับตัวเก่ง มักพูดกับตัวเอง: งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันมาแล้ว คนที่คุยกับตัวเองเป็นคนฉลาด! หมายความว่าคนที่คุยกับตัวเองไม่ได้เป็นบ้า แต่เมื่อไรก็ตามที่พวกเขากระวนกระวายใจ ฟุ้งซ่าน หรืออารมณ์ข้างในสั่นไหว พวกเขามักใช้การคุยกับตัวเองในเชิงบวก ถาม-ตอบ กับตัวเองเพื่อทบทวน เรียนรู้ และไตร่ตรองต่อสถานการณ์ตรงหน้า
7) คนที่ปรับตัวเก่ง ไม่โทษคนอื่น: พวกเขาไม่ล่าเหยื่อ ไม่หาคนผิด แต่พยายามทำความเข้าใจ แก้ไข และก้าวต่อ
8) คนที่ปรับตัว ไม่เอาหน้า: พวกเขาไม่อวดตัวว่าเป็นเจ้าของความสำเร็จเพราะรู้ว่าไม่นานมันก็จะสูญสลายหายไป แทนที่จะใช้เวลา (และอารมณ์) กับความสำเร็จชั่วยาม พวกเขาใช้เวลานั้นกับปัญหาที่อาจเกิดในโปรเจ็คต์ถัดไป
9) คนที่ปรับตัวเก่ง มีคาแรคเตอร์แห่งความสงสัยใคร่รู้: ถ้าไม่มีความกระหายอยากรู้ ก็ไม่มีการปรับตัว สองอย่างนี้ยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งการเรียนรู้และผลักให้คนเราพัฒนาต่อไปข้างหน้า
10) คนที่ปรับตัวเก่ง ปรับตัว: แน่นอนที่สุด คนที่ปรับตัวเก่งจะไม่มีบุคลิกแบบนี้ได้ยังไง
11) คนที่ปรับตัวเก่ง ไม่หนีปัญหา: การจะปรับตัวได้ คุณต้องรู้ปัญหาตรงหน้าเสียก่อนว่ามันคืออะไรและสำคัญอย่างไร
12) คนที่ปรับตัวเก่ง มองเห็นระบบ: เวลาพวกเขาพิจารณาบางอย่าง (เพื่อปรับตัว) พวกเขาไม่ได้มองแค่ใบไม้ใบเดียว แต่ต้องการมองเห็นใบไม้ทั้งป่า เพื่อที่จะประเมินได้ว่าพวกเขาจะตัดสินใจต่อสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไร
13) คนที่ปรับตัวเก่ง มีใจที่เปิดกว้าง: ใจที่เปิดกว้างหมายถึงความพร้อมที่จะเข้าอกเข้าใจ รับฟังปัญหาจากคนอื่น ไม่ใช่แค่ความเข้าใจต่อกันที่ลึกซึ้ง แต่หมายถึงความเข้าใจต่อ ‘ข้อมูล’ หรือ ปัญหาที่คนตรงหน้ามี การรู้ปัญหาที่แท้จริงนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่ถูกจุด
14) คนที่ปรับตัวเก่ง รู้ว่าคุณค่าของพวกเขาคืออะไร: การปรับตัวนั้นจำเป็นต้องใช้ความเข้าใจต่อคุณค่าที่ตัวเองยึดถือและอะไรไม่ใช่ รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร แม้ว่าการปรับตัวคือการยืนอยู่ที่เดิม แต่อย่างน้อยจะรู้ว่า ที่ยืนอยู่เพราะเราเชื่อในอะไร
ดังนั้นหากสมาชิกชาว กปว. ได้มีการการพัฒนาตนเองใน 6 ทักษะดังกล่าวข้างต้นนั้น ย่อมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและคุณภาพงานของ กปว. อีกทั้งช่วยให้ กปว. มีรากฐานที่มั่นคงและสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคต