Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
10 ข้อคิด บทเรียนจาก อว.แฟร์ (ข้อเสนอแนะ) 119
10 ข้อคิด บทเรียนจาก อว.แฟร์
ตลอดระยะเวลาการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน ต้องเผชิญอุปสรรคปัญหานานัปการ เรียกได้ว่า บาดแผลเพียบ แต่เมื่อชั่วตวงวัด กับความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่า และยิ่งเป็นประสบการณ์ทำงานที่สอนบทเรียนให้หลายอย่างสำหรับผม ในการทำงานสเกลใหญ่ ที่ต้องประสานงานร่วมกันหลายฝ่าย ภายใต้ข้อจำกัดทั้ง จำนวนคนทำงาน และเวลา รวมถึงการทำงานภายใต้สภาวะที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ หรืออำนาจตัดสินใจอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูง ทำให้หลายๆครั้งการทำงานยังขาดความอิสระคล่องตัว แต่ก็เพราะความใส่ใจของผู้บริหารระดับสูงนั่นเอง ที่ทำให้งาน อว.แฟร์ ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด ถ้าจะให้ถอดบทเรียนทั้งหมดที่ได้จากงานนี้ ผมคงต้องเขียนถึง 10 blog แต่คงไม่มีเวลาขนาดนั้น งั้นข้อสรุป 10 ข้อคิดบทเรียนจาก อว.แฟร์ ละกันครับ
1. ความบันเทิง ดึงดูดความสนใจได้มากกว่า ความรู้
มันก็ดีที่จะมีงานนิทรรศการประจำปีด้านวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความรู้ แต่กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดแล้วมันก็น้อยกว่ากันหลายเท่า คิดง่ายๆครับจากสถิติกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ในปี 2561 จากข้อมูลของ สอวช. มีจำนวนราวๆ 4 ล้านคน แต่เรามีประชากรไทยราวๆ 66 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% นั่นหมายถึงถ้าเราจัดงาน อว.แฟร์ โดยเล็งเป้าหมายแค่กลุ่มคนสายวิทย์ เราจะละลายงบประมาณไปหวังผลกับคนแค่ 6% ซึ่งก็อยู่ในสายวิทย์อยู่แล้ว แต่จากวิสัยทัศน์ของท่าน รมว.อว. ที่เน้นย้ำมาโดยตลอดว่า "มันต้องสนุก มันต้องว้าว" ว้าวใครว้าวมัน สุดแล้วแต่คนจะตีความ แต่ทุกความว้าวของแต่ละคนมันแปลว่าเค้าต้องทึ่งและดึงดูดคนเข้ามาชม ซึ่งมันจะทำให้เราสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายนอกสายวิทย์ที่มีถึง 94% ให้มาดูนิทรรสการสายวิทย์ ที่ผสมผสานความบันเทิงและความสนุกสนาน ให้วิทยาศาสตร์ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป จึงทำให้งาน อว.แฟร์ ครั้งนี้ มีผู้คนเข้าร่วมอย่างล้นหลาน และเป็นผู้คนแบบ organic คือมาเองแบบไม่ต้องจัดตั้งให้มา
2. TOR ที่ดี คือ Time มีกรอบเวลาที่ชัดเจน Operation ระบุการทำงานให้ครบถ้วน Reasonable สมเหตุสมผลสามารถบรรลุได้
การจัดทำ TOR สำหรับงานอีเว้นท์ขนาดใหญ่แบบนี้มันโคตรจะสำคัญ สิ่งสำคัญไม่ใช่การตะบี้ตะบันใส่ทุกอย่างที่คิดได้และอยากให้ผู้รับจ้างทำลงไปใน TOR แต่ต้องคำนึงถึงต้นทุนและความเป็นไปได้ตามราคา เพราะถ้าเราใส่ทุกอย่างที่อยากได้ลงไป สุดท้ายเราจะถูกบีบต้นทุนในการทำงานจริง จนผลลัพธ์ที่เราเล็งไว้มันง่อยเปลี้ยไม่ได้ตามหวัง เพราะต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจ(ของผู้รับจ้าง)ต้องมีกำไร ไม่ใช่งานการกุศล หากความสมเหตุสมผลด้านราคาไม่มี คุณภาพงานก็จะตกต่ำลง อ้อ!งานใหญ่แบบนี้อย่าลืมใส่การประเมินผลลัพธ์ผลกระทบลงไปด้วย หรือหากจำเป็นก็ควรมี TOR แยกออกไป มิฉะนั้นจะต้องมานั่งออกแบบสอบถามและเดินเก็บข้อมูลเองเหมือนผม มันโคตรจะเสียเวลา แต่ที่ผมยอมเสียเวลาก็เพราะรู้ว่ามันสำคัญ
3. ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะทำงานส่วนรวมด้วยจิตอาสา แต่ทำเพราะเป็นผลงานหรือ KPI ได้ จึงต้องกำหนดงานส่วนรวมให้เป็นผลงาน
ในเมื่อการทำงาน “ลอย” หรืองานที่ลอยมาจากไอเดียเลิศล้ำจากผู้บริหารระดับสูง หรือหลายๆครั้งก็ลอยมาจากฝ่ายการเมือง การจะหาข้าราชการสักคนมาทำโดยที่ “ไม่ได้เงิน” “ไม่ได้กล่อง” “ไม่ได้หน้า” มันก็จะยากสักหน่อย ปัจจัยขับเคลื่อนให้คนทำงานที่ไม่ใช่ตัวชี้วัดของตัวเอง หรือ “ไม่ใช่งานตัวเอง” มันจึงต้องทำให้เค้ารู้สึก “ได้” อะไรบ้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกถึง “คุณค่าในตัวเอง” จากการทำงานลอยนั้น มันจึงต้องอาศัย “ระบบ” อะไรสักอย่างมาขับเคลื่อนให้คนเหล่านั้นทำงานลอย ซึ่งความจริงแล้วคือการสร้าง self-esteem ให้คนเหล่านั้นในการทำงานลอย คือ ทำงานลอยแล้วต้องได้ “คุณค่า” อะไรบางอย่างกลับมา ซึ่งไม่ใช่อะไรลอยๆอย่างแค่ “คำชื่นชม” เพราะในการทำงานลอย นั้นมีโอกาสที่จะเป็นงานเหนื่อยยาก และลำบากจากข้อจำกัดมากกว่างานทั่วไปที่ทำเป็นประจำใน comfort zone วิธีการที่ง่ายที่สุดถึงแม้จะบอกไม่ได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด คือ การกำหนดคุณค่าให้กับงานลอย และต้องไม่เป็นเพียงคุณค่าทางใจ แต่ต้องเป็นอะไรที่จับต้องได้มีผลกับชีวิตการทำงาน เช่น KPI การเอางานลอยมากำหนดเป็นตัวชี้วัด จะทำให้คน “เริ่ม” จะวิ่งเข้าหางานลอย แค่เริ่มก็ยังดี การกำหนดว่าทุกคนในที่ทำงานต้องทำงานลอย หรืองานส่วนรวม อย่างน้อยปีละ 2-3 งาน ไม่ได้มีประโยชน์แค่ทำให้ผู้บริหารมีคนช่วยทำงานลอย แต่ยังจะช่วยสลายความเป็นกลุ่มก้อน ที่ไม่ได้หมายถึงความสามัคคี แต่หมายถึงการสร้างเผ่าพันธุ์อาณาจักรของตัวเอง แบ่งแยกกลุ่มใครกลุ่มมัน โดยการค่อยๆปรับ mindset จากการทำงานส่วนรวมร่วมกัน ดึงคนที่เอาแต่อยู่ใน comfort zone ให้ออกมาปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นผ่านการทำงาน โชคดีที่งาน อว.แฟร์ มีการกำหนดตัวชี้วัดในลักษณะนี้ขึ้นมา จึงพอจะมีคนทำงานให้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มาทำงาน อว.แฟร์จะมาเพราะอะไรเล็กน้อยแค่นี้นะครับ Real Hero น่ะมีอยู่จริง และมีอยู่ใน กปว.เรานี่แหละครับ ซึ่งความจริงแล้วยังมีรูปแบบและวิธีการบริหารอีกมากมายที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผ่านรูปแบบการทำงานแบบ cross function หรือการทำงานแบบ Project based โดยอาศัยการฟอร์มทีมทำงานข้ามกลุ่ม แต่ความความเห็นส่วนตัวของผม ไม่ว่าจะรูปแบบการบริหารแบบใด ทฤษฎีการบริหารแบบใด ก็ไม่ได้ผลดีเท่าการระเบิดจากภายใน การเปลี่ยน mindset ในการทำงานของบุคคลเป็นสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าดีที่สุด แต่ก็ยากที่สุดเช่นกัน เพราะคนหนึ่งคน กว่าจะผ่านโลกที่หล่อหลอมให้เป็นเราในปัจจุบันต้องผ่านอะไรมากมาย แต่ละคนก็ผ่านอะไรมาไม่เหมือนกัน จะเปลี่ยนความคิดใครสักคน ยากเย็นยิ่ง แต่…เราสามารถสร้าง self esteem ในการทำงานให้กับคนเหล่านั้นได้ เราสามารถทำให้เค้ารู้สึกถึงคุณค่าจากงานที่ทำได้ หนังสือ How to raise your self-esteem หรือที่แปลเป็นไทยว่า พลังงานแห่งการเพิ่มความนับถือตัวเอง แนะนำให้เลิกกดดันตัวเองจากการกลัวความล้มเหลว จึงทำให้การออกจาก comfort zone ทำได้โดยไม้องใช้ความกล้าด้วยซ้ำ เอาล่ะ พอก่อน ยาวไปจะกลายเป็น blog ด้วยตัวมันเองละ เพิ่งจะอยู่ ข้อ 3 เอง ยาวไปไม่มีใครอ่าน 555
4. ในบางช่วงของการทำงาน ต้องนิ่งเข้าไว้ เพราะในบางครั้งยิ่งทำอะไรลงไป ยิ่งเสียเวลาเปล่า
Sometimes doing nothing is doing everything เป็นวลีของพวกฝรั่งที่ได้รับอิทธิพลจากหลักการคิดแบบเต๋า ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันใช้ได้จริงเลยล่ะ เพราะในบางครั้ง “การรอเฉยๆ” เสียบ้าง โดยไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เอาเวลาไปทำอย่างอื่น คือสิ่งที่ควรทำที่สุด ถึงแม้ว่าในตำราการบริหารสมัยใหม่จะมองว่า “การรอ หรือ idle time” คือปัญหาที่ควรกำจัด แต่ในตำราพิชัยสงคราม การรอ มีความหมายถึงขนาดกำหนดแพ้ชนะของสงครามได้เลยทีเดียว ในการทำงาน อว.แฟร์ ภายใต้เวลาที่จำกัด ถูกกดดันด้วยเวลาที่หดสั้นลงทุกที แต่ในบางครั้ง ในบางเรื่องเราก็จำเป็นต้องรอ การเสี่ยงทำอะไรในสถานการณ์ที่ต้องรอ อาจสร้างความเสียหายให้กับงานได้มากกว่า
5. งานที่มีคนรุมกันทำเยอะๆ อาจไม่ใช่งานสำคัญเพียงงานเดียว กระจายคนไปทำงานสำคัญอื่นบ้างนะ
เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ผมยังจดจำแม้งานจะจบลงไปแล้ว ก็ไม่ได้โทษใครครับนอกจากตัวเอง ทุกคนอาสามาช่วยงานด้วยความหวังดีครับ แต่งานหนึ่งที่มีคนอาสามาช่วยทำอย่างจริงจัง คือ การจัดผังที่นั่งในพิธีเปิด เนื่องจากเป็นพิธีเปิดที่มี กรมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า มาทรงเป็นประธานเปิดงานให้ การจัดผังที่นั่งหน้าพระพักตร์จึงสำคัญ เรามีคนมาช่วยจัดผังที่นั่งกันเยอะแยะเลยครับ แต่เราดันมองข้ามการลงทะเบียนหน้างานที่สำคัญไม่แพ้กันไป คนทำเอกสารหรือใบลงทะเบียนมีเพียง คนเดียว!!! ประกอบกับระบบลงทะเบียนที่เราทำกันเองผ่าน google form และความไม่เข้าใจของผู้ลงทะเบียนต่องานพิธีเปิดที่มีกรมสมเด็จพระเทพฯ มาทรงเปิดงานให้ ว่าการจะให้ใครเข้าบริเวณงานจะต้องส่งข้อมูลส่วนตัวให้ทางสถานีตำรวจที่รับผิดชอบ ตรวจสอบประวัติ จึงมีการมาขอลงทะเบียนเพิ่มเติมกันตลอดแม้กระทั่ง หน้างาน!! ถึงแม้เราจะมีอาสาสมัครมาช่วยเรื่องการลงทะเบียนหน้างาน แต่ยังคงขาดการสื่อสาร ถึงวิธีการจัดการ จะจัดแถวการลงทะเบียนอย่างไร ตามหน่วยงาน หรือตามสีบัตร รวมถึงวิธีการหารายชื่อผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า แต่เรากลับไม่ได้วางแผนการล่วงหน้าเหล่านี้มา และประกอบกับมีคนจำนวนมากมายืนกดดัน จุดเริ่มต้นของความพังพินาศ คือการตัดสินใจเปิดให้ลงทะเบียนก่อนกำหนดการ เพราะไม่สามารถอดทนต่อการกดดันของแขกที่มายืนรอเป็นจำนวนมากได้ ความใจดี มีใจให้บริการ ในขณะที่ยังไม่พร้อม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสายโซ่แห่งปัญหาที่ตามมาเป็นลูกโซ่ ในขณะที่บัตรสีก็ยังเรียงไม่เสร็จ ใบลงทะเบียนก็ยังจัดแถวไม่ลงตัว เมื่อคนเข้าแถวกันเยอะขึ้นป้าย 3 เหลี่ยมเล็กๆที่วางอยู่บนโต๊ะลงทะเบียนก็ไม่ใหญ่พอที่จะทำให้คนข้างหลังมองเห็นว่าแถวที่เข้าอยู่คือแถวของกลุ่มอะไร เมื่อจุดลงทะเบียนหน้างานมีปัญหา ก็ต้องมาช่วยกันแก้ และเมื่อมาแก้ปัญหาหน้างานอื่น หน้างานที่รับผิดชอบก็หละหลวม เรียกว่าตลอดการจัดงาน อว.แฟร์ วันที่หนักหนาที่สุดสำหรับผมคือวันนี้นี่แหละ โชคดีที่ส่วนอื่นๆในพิธียังอยู่ในแผน ยังเป็นไปตามลำดับพิธีการ ไม่มีสะดุด งานจึงจบลงไปได้ด้วยดี งานนี้ต้องขอบคุณเหล่าฮีโร่ทุกคนที่ไม่นิ่งเฉยกับปัญหา กระโดดเข้ามาช่วยแก้ไขกันเท่าที่พอทำได้ สำหรับผมแล้วเหตุการณ์ครั้งนี้ติดค้างคาในใจผมมากที่สุด ทำให้ผมอยากจัดงาน อว.แฟร์ อีกรอบเพื่อจัดการเรื่องนี้อีกครั้งให้ดีกว่าเดิม
6. ความช่วยเหลือมักมาในตอนที่เราช่วยเหลือตัวเองจนมากพอ
คุณจะยอมกระโดดลงไปช่วยคนที่กำลังจมน้ำไหม ถ้ารู้ว่าเค้าจะทำคุณจมลงไปด้วยกัน คนที่ยินดีมาช่วยต้องมีความผูกพันกับคุณมากๆ หรือไม่ก็ต้องมั่นใจมากพอว่าจะช่วยคุณได้โดยไม่เดือดร้อน หรืออาจจะได้รับประโยชน์อะไรบางอย่างจากการช่วยคุณ ดังนั้น ถ้าจะให้ใครมาช่วยคุณ คุณต้องทำให้เค้ามั่นใจในระดับหนึ่งว่าช่วยคุณแล้วจะสำเร็จไปด้วยกัน ไม่ใช่กอดคอกันล้มเหลว เราจึงต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเสียก่อนว่าเราพอจะทำงานนี้ต่อไปได้ แม้ว่าจะขาดแคลนอะไร ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร งาน อว.แฟร์ ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายๆเรื่อง บางเรื่องที่ได้เรียนรู้ก็ทำให้เจ็บปวดใจ บางเรื่องก็ประทับใจ เรื่องของงานเรียนรู้กันเร็ว แต่เรื่องของคนต้องศึกษากันยาวๆ โลกเรามันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น การทำงานกับคนหมู่มากจะมัวแต่โลกสวยไม่ได้ ทุกคนเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์ของตัวเอง ถ้าจะให้ใครช่วยเราเค้าก็ต้องได้อะไรบ้าง มันเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะครับ การที่เราพยายามอย่างหนักที่จะทำงานตรงหน้า แล้วมีหลายคนเห็นว่างานมันหนักแล้วเข้ามาช่วย คนเหล่านี้คือฮีโร่ ฮีโร่หลายๆคนเข้ามาทำงานเพราะมันเป็นงาน เค้ารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองจากการได้ช่วยเหลือคนอื่น มากกว่าเรื่องเห็นแก่ตัวทั่วไป ผมชื่นชมคนเหล่านี้จากใจเลยครับ อย่าเข้าใจผิดว่าฮีโร่คือผู้ยิ่งใหญ่มีตำแหน่ง ที่จริงแล้ว เป็นน้องๆนี่แหละครับที่สมควรชื่นชม
7. คนทำงาน ไม่มีเงื่อนไข คนที่มีเงื่อนไข อาจเพราะไม่ได้เต็มใจทำงาน
ต่อเนื่องจากข้อ 6 จะให้ใครมาช่วยงานเราก็ต้องมองเงื่อนไขในใจเค้าให้ออก สารภาพตามตรงว่าผมก็ไม่ได้เก่งนักในเรื่องการมองคน การใช้คน งานใดๆมันจะง่ายนะถ้ามีทีมทำงานที่รู้ใจ เพราะการจะให้ใครทำอะไร หรือมอบหมายอะไรให้ใครทำ เราต้องรู้ว่าเค้าเก่งเรื่องไหน ถนัดเรื่องอะไร ใครไว้ใจในเรื่องไหนได้ ใครไว้ใจวางใจไม่ได้ ซึ่งถ้าเราวางเงื่อนไขได้ตรงใจกับเค้า เค้าก็จะเต็มใจทำงานให้ บางคนอยากได้หน้า ก็ต้องให้หน้าให้เครดิต บางคนทำเพราะโดนสั่ง เราก็ให้งานตามที่สั่ง แต่ก็นะ ถ้าเลือกได้ผมก็อยากทำงานกับคนที่ willing จะทำจริงๆมากกว่า พวกคนที่เป็นฮีโร่น่ะ
8. ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ อย่ารอให้ทุกอย่างพร้อม เดินไปแบบทุลักทุเล ก็ยังก้าวหน้ากว่าไม่ได้เดิน
ประโยคนี้ใช้ได้ดีกับงานลอย งานที่ไม่มีรูปแบบ งานที่ไม่เคยทำมาก่อน และยังใช้ได้ดีกับการทำธุรกิจ อย่างที่จะเห็นได้ว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจ มักมาจากการเริ่มต้นที่ล้มลุกคลุกคลาน ความสำเร็จบางอย่างมันไม่ได้มาจากการวางแผนและทำทุกอย่างไปตามแผน ความสำเร็จอาจไม่ได้เหมือนที่เราวาดไว้ในตอนแรก เราจึงจะได้เจอกับความสำเร็จที่เหนือคาดหมาย ความสำเร็จเกิดจากการเผชิญหน้าอุปสรรคปัญหา แล้วฝ่าฟันมันไปทีละอย่างสองอย่าง และบางทีมันก็มาพร้อมๆกันหลายทาง และทุกๆครั้งที่เราผ่านมันไปได้ หรือผ่านมันไม่ได้ ล้มเหลว ผิดพลาด แต่ความสำเร็จมันก็คือเส้นทางที่ร้อยเรียงด้วยความผิดพลาดล้มเหลวนี่แหละ ฉะนั้น จงทำไปเถอะ ความผิดพลาดน่ะ มีแค่คนที่ต้องการจะเอามากล่าวโทษ หรือบั่นทอนเราเท่านั้นแหละที่จะยึดติดกับมัน เราต้องเรียนรู้จากมัน และเตรียมพร้อมรับมือมันในครั้งต่อไป ไม่ต้องกลัวความผิดพลาด ชีวิตมีเวลาจำกัด ถ้าเราเอาเวลาทั้งหมดไปแก้ไขความผิดพลาด เราก็จะไม่มีเวลาไปทำงานอื่นๆ ยอมรับความผิดพลาด แล้วไปต่อ นักรบย่อมมีบาดแผล คนที่ไม่เคยทำอะไรผิด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรนั่นแหละ
9. โอกาสไม่เลือกเวลา หลายๆครั้งมันมาในตอนที่เราไม่พร้อม
ผมได้รับมอบหมายให้ทำงาน อว.แฟร์ เพราะ…ผมเป็นคนเขียนโครงการ ทั้งๆที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานอีเว้นท์มาก่อน งานที่มีในมือก็เยอะอยู่แล้ว เรียกว่า ไม่พร้อมเลย ทั้งประสบการณ์ ความสามารถ ไม่มีกำลังคน ไม่มีลูกน้อง รวมถึงไม่มีใจด้วย กับงานที่ใม่ใช่ความถนัด ทำไปแล้วเจ็บตัวแน่ ใครจะอยากทำ แต่เมื่อเขียนไปแล้ว และได้เงินมาทำด้วย ยังไงมันก็ต้องทำ และมันค่อยๆกลายเป็นความรับผิดชอบของเราไปในที่สุด นับจากวันที่เขียนข้อเสนอโครงการเพื่อของบ ภายในเวลาแค่ 48 ชั่วโมง ก่อนหมดเวลา จวบจน จบงาน (ปัจจุบันก็ยังไม่จบซะทีเดียว) มันอาจจะเป็นภาระ เพราะมันหนักและเหนื่อย จนแทบไม่ได้ทำงานเดิมที่ต้องรับผิดชอบ จนโดนน้องๆในทีมกระแนะกระแหนบ่อยครั้ง แถมพองาน อว.แฟร์ มันหนักมาก หันหน้าไปพึ่งใครก็ไม่ได้แล้ว หัวกลับมามองน้องๆในกลุ่มก็..ไม่เหลือใคร ถึงอย่างนั้นก็ทนทำไป อาจจะเรียกมันว่าโอกาสยังไม่ได้ เพราะผลสำเร็จของมันก็ไม่ได้สร้างผลดีอะไรกับตัวเรา ก็แค่จบๆงานใหญ่ไปอีกงาน ยังเหลืองานอื่นให้เคลียร์อีกมาก แต่อย่างน้อยมันก็ทลายขีดจำกัดของตัวเราไปอีก 1 อย่าง ไม่เคยทำงานอีเว้นท์ ก็ได้ทำ และทำได้ โอกาสมันมักจะมาตอนที่เรายังไม่พร้อม แต่อย่าเพิ่งคิดว่าทำไม่ได้ ทำๆไปแบบล้มลุกคลุกคลานยากลำบาก มันจึงจบงานไปอย่างมีคุณค่า มีความหมาย
10. คนที่สำเร็จคือคนที่ไม่ล้มเลิก
ทำงาน อว.แฟร์นี่ ท้อแท้จนอยากจะเท ไปหลายรอบ ไม่รู้จะทำไปทำไม ทำไปก็เหนื่อย เหนื่อยแล้วก็ไม่เห็นจะได้อะไร งานอื่นก็มีตั้งเยอะแยะ คนทำน้อย เวลาเร่ง แต่ก็ทนทำไปเพราะความรับผิดชอบ ดีบ้าง แย่บ้าง แต่ก็ทำไปเรื่อยๆ เผลอแป๊บเดียว จบงานซะแล้ว ชออภัยทุกท่านที่ผมไม่ได้เทงานนี้ไปซะก่อน ไม่งั้นถ้าเทงานนี้ไปมีคนอื่นมาทำแทน งานมันอาจจะออกมาได้ดีกว่านี้ก็ได้ 5555 ต้องขอบคุณบรรดาฮีโร่ทั้งหลาย ที่มาร่วมหัวจมท้าย หกคะเมนตีลังกา ล้มลุกคลุกคลาน เกลือกกลิ้งกันมาด้วยกัน จนจบงาน ไม่ว่าจะช่วยน้อย ช่วยมาก ช่วยนิดหน่อย ช่วยแป๊บๆ ก็ถือว่าช่วย ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมกับงาน และที่ต้องขอบคุณที่สุดก็คือ ท่าน ผอ.กปว.พี่เอก ที่อดทนกับผมและ “เพื่อนสนิทคนใหม่” มาได้จนจบงาน ขอบคุณครับ