อว.แฟร์ ผลาญงบประมาณ หรือ ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของ อว.? (งานที่รับผิดชอบ)  97

คำสำคัญ : อว.แฟร์  ถอดบทเรียน  ผลกระทบ  มหกรรม  

"อว.แฟร์" ผลาญงบประมาณ หรือ ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของ อว.?

นาทีนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักงาน อว.แฟร์ หรือชื่อเต็มๆคือ มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ (Sci Power Thailand) ที่จัดงานโดย กระทรวง อว.อย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 22-28 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 280 ล้านบาท ถึงแม้ว่างานจะจบลงไปแล้ว แต่ควันหลงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในสนามบิน ข้างรถเมล ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ จอขนาดใหญ่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ และจอขนาดเล็กอีกนับไม่ถ้วนทั่วประเทศ พร้อมข้อความทิ้งทายว่า "แล้วพบกันใหม่ปีหน้า" 

ก่อนจะพบกันใหม่ปีหน้า เอาปีนี้ให้รอดก่อนไหม? กับงบประมาณแผ่นดิน 280 ล้านบาท เนี่ย ประชาชนได้อะไร? ประโยชน์คุ้มค่าไหม? งานสำเร็จดีหรือเปล่า? เราลองมาวิเคราะห์กันว่าระดับความสำเร็จของงาน อว.แฟร์ ปีนี้มันเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นมาพิจารณาจากผลลัพธ์การดำเนินงานก่อนว่า 280 ล้านบาท ในงาน อว.แฟร์ ทำอะไรได้บ้าง

ภาพที่เสนอมาทั้งหมดคือ "ภาพความสำเร็จ" ที่เงิน 280 ล้านบาทสร้างขึ้นมาได้ ด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 1,600 ล้านบาท หรือเป็นมูลค่าเกือบ 6 เท่า ของงบประมาณในการดำเนินงาน ทำให้คนรู้จัดกระทรวง อว. ที่มีอายุไม่นานมากขึ้นยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ด้วยพลังแห่งการโฆษณาในทุกช่องทาง และการสร้างบรรยากาศ อว. ให้สนุกสนานมากกว่าจะมีสาระเคร่งเครียด ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย มีทั้งสาระและความบังเทิง

ถ้าจะถามผมว่า อว.แฟร์ประสบความสำเร็จไหม ผมตอบเลยในฐานะคนทำงานว่า "ใช่" ตลอดระยะเวลาการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน ต้องเผชิญอุปสรรคปัญหานานัปการ เรียกได้ว่า บาดแผลเพียบ แต่เมื่อชั่วตวงวัด กับความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่า และยิ่งเป็นประสบการณ์ทำงานที่สอนบทเรียนให้หลายอย่างสำหรับผม ในการทำงานสเกลใหญ่ ที่ต้องประสานงานร่วมกันหลายฝ่าย ภายใต้ข้อจำกัดทั้ง จำนวนคนทำงาน และเวลา รวมถึงการทำงานภายใต้สภาวะที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ หรืออำนาจตัดสินใจอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูง ทำให้หลายๆครั้งการทำงานยังขาดความอิสระคล่องตัว แต่ก็เพราะความใส่ใจของผู้บริหารระดับสูงนั่นเอง ที่ทำให้งาน อว.แฟร์ ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด อว.แฟร์ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง ผมขอสรุปเป็น 10 ความสำเร็จ งานอว.แฟร์ ดังนี้ละกันครับ

1. การผสมผสานความรู้เข้ากับความบันเทิง มันคือ ศาสตร์+ศิลป์ ที่เป็นตัวแทนของ อ+ว 

มันก็ดีที่จะมีงานนิทรรศการประจำปีด้านวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความรู้ แต่กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดแล้วมันก็น้อยกว่ากันหลายเท่า คิดง่ายๆครับจากสถิติกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ในปี 2561 จากข้อมูลของ สอวช. มีจำนวนราวๆ 4 ล้านคน แต่เรามีประชากรไทยราวๆ 66 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% นั่นหมายถึงถ้าเราจัดงาน อว.แฟร์ โดยเล็งเป้าหมายแค่กลุ่มคนสายวิทย์ เราจะละลายงบประมาณไปหวังผลกับคนแค่ 6% ซึ่งก็อยู่ในสายวิทย์อยู่แล้ว แต่จากวิสัยทัศน์ของท่าน รมว.อว. ที่เน้นย้ำมาโดยตลอดว่า "มันต้องสนุก มันต้องว้าว" ว้าวใครว้าวมัน สุดแล้วแต่คนจะตีความ แต่ทุกความว้าวของแต่ละคนมันแปลว่าเค้าต้องทึ่งและดึงดูดคนเข้ามาชม ซึ่งมันจะทำให้เราสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายนอกสายวิทย์ที่มีถึง 94% ให้มาดูนิทรรศการสายวิทย์ ที่ผสมผสานความบันเทิงและความสนุกสนาน ให้วิทยาศาสตร์ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป จึงทำให้งาน อว.แฟร์ ครั้งนี้ มีผู้คนเข้าร่วมอย่างล้นหลาน และเป็นผู้คนแบบ organic คือมาเองแบบไม่ต้องจัดตั้งให้มา นับทั้ง onsite และ online ก็หลักล้านคน

2. เนรมิตงานนิทรรศการขนาด 23,000 ตรม. ได้ภายในระยะเวลาเตรียมงานเพียง 2 เดือน!!

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีการจัดสรรงบประมาณ 2 รอบ โดยรอบที่ 2 เป็นรอบที่งาน อว.แฟร์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งกว่าจะได้รับงบประมาณมาก็ต้นเดือน มิถุนายน!!! การวางแผนงาน การจัดซื้อจัดงาน การทำงาน การประชาสัมพันธ์ ทุกอย่างถุกเนรมิตขึ้นมา ภายใต้การทำงานอย่างหนักของทุกฝ่าย จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ง่ายนักที่จะจัดงานใหญ่ด้วยเวลาที่จำกัด แล้วสามารถทำได้ดีจนเป็นที่พูดถึงและจดจำของผู้คนได้ 

3. สามารถทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารของ อว.

คนไทยมีจำนวน 66 ล้านคน แต่งาน อว.แฟร์สามารถสร้างการรับรู้ สร้างยอดการเข้าถึงข่าวสารและกิจกรรมต่างๆในงาน อว.แฟร์ ได้มากถึง 65.8 ล้านครั้ง!!! เกือบจะเท่าจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ จากหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะ Facebook เว็บข่าวออนไลน์ KOLs Influencers Tiktok และ Youtube เป็นต้น

4. สามารถรวมพลัง "ทีม อว." จากทุกหน่วยงานใน อว. และพาร์ทเนอร์ มากกว่า 400 หน่วยงาน มาอยู่ในงานเดียว

ก็ไม่อยากจะโม้ว่าที่จริงมันมากกว่า 400 ไปไกลมาก เพราะมีหน่วยงานเอกชนที่มาร่วมจัดงานอีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นความสำเร็จในระดับสูงเลยกับการรวมตัวกันของหน่วยงานต่างๆเหล่านี้ในงานเดียว

5. สร้างการรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของกระทรวง อว. ในวงกว้าง

สืบเนื่องจากความสำเร็จในข้อ 1 ทำให้ อว.เราได้ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ทำให้กลุ่มคนทั่วไปกลุ่มอื่นๆได้รับรู้บทบาทภารกิจของ อว.มากยิ่งขึ้น

6. สามารถขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ได้มากกว่า 100 งานวิจัย

งานวิจัยขึ้นหิ้ง เป็นคำปรามาสที่กระทรวง อว. ต้องแบกรับมาตลอด การขยายผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ได้มากกว่า 100 รายการในงานเดียว จึงเป็นชัยชนะของกระทรวง อว. ที่จะลบคำสบประมาทนี้ไปอย่างแท้จริง ยิ่งสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นก็จะยิ่งทำให้คำนี้หายไปเร็วยิ่งขึ้น

7. เปิดโอกาสให้เกิดจากเจรจาและจับคู่ทางธุรกิจได้มากกว่า 60 คู่

8. ความคุ้มค่าในการลงทุนจัดงาน อว.แฟร์ ด้วยค่า SROI มากกว่า 5 เท่า!!!

ในการลงทุนจริง แค่ ROI 2 เท่า ก็น่าลงทุนแล้วครับ แต่สำหรับงานภาครัฐจะมาคิดแค่ ROI ก็ไม่ได้มันต้อง SROI และ 5-6 ก็เป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ สะท้อนความสำเร็จได้อย่างดี และไม่ได้เป็นตัวเลขที่โอเว่อร์เกินจริง เพราะจากกระประเมิน SROI ของการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ก็สูงถึง 13 เท่า แต่เป็นการประเมินผลลัพธ์สะสมย้อนหลังไปถึง 4 ปี

9.  สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ประมาณ 1,600 ล้านบาท!!

ถึงแม้จะเป็นจำนวนที่มาจากการประมาณการ ที่ดูเว่อร์วัง แต่ก็เป็นการคำนวนตามหลักการทางสถิติ ซึ่งมิได้เป็นการประมาณการแบบเล็งผลเลิศ แต่เป็นการประมาณการขั้นต่ำที่เป็นไปได้จริง เนื่องจากเป็นการเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ผลงานนวัตกรรมที่ปกติไม่สามารถหารือได้ตามท้องตลาด ทำให้ผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากการรับรู้ค่อนข้างสูง

10. ทำให้ประชาชนรู้จัก รมว.อว. มากขึ้นยิ่งกว่างานไหนๆ

ผมว่างาน อว.แฟร์ เป็นงานที่สร้างชื่อให้กับ รมว.ศุภมาส ยิ่งกว่างานใดๆ ทำให้ทุกคนได้รู้จักท่านในมุมที่น่ารัก จากสื่อโซเชียล และสื่อทีวี โดยเฉพาะเมื่อท่านกระโดดขึ้นเวที ร้องเพลงคู่กับศิลปินตัวแม่อย่างปาล์มมี่ นั่นทำให้ท่านเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปเพียงข้ามคืน แน่นอนว่านั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ผมคาดว่าหลังจากนั้นจะมีคนค้นหาชื่อท่านและได้รับรู้บทบาทหน้าที่ รวมถึงผลงานต่างๆของท่านในกระทรวง อว. ในเวลาถัดมา


เขียนโดย : นายสมบัติ  สมศักดิ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : sombat.s@most.go.th