“แผนการบริหารราชการแผ่นดิน” เรื่องการปกครองเบสิกพื้นฐานแต่ความยิ่งใหญ่เบอร์นี้ทีเดียว  79

คำสำคัญ : แผนการบริหารราชการแผ่นดิน  รัฐสภา  ระเบียบราชการ  

“แผนการบริหารราชการแผ่นดิน” เรื่องการปกครองเบสิกพื้นฐานแต่ความยิ่งใหญ่เบอร์นี้ทีเดียว

==========================================

ช่วงเวลาร้อนๆ ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2567 ที่ผู้เขียนกำลังเขียน Blog อยู่อย่างเพลิดเพลิน? นั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านผู้นำสูงสุดของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอีกหลายประการหลังจากนี้ ผู้เขียนจึงถือโอกาสชักชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจ ว่าเหตุใดการเปลี่ยนผ่านครั้งแล้วครั้งเล่าดังกล่าวนี้ จึงส่งผลมายังชีวิตการทำงานของพวกเราชาว กปว. ผ่านการขยายความ คำว่า “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”

 

แผนการบริหารราชการแผ่นดิน คืออะไร??

“แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”  เป็นเครื่องมือในการแสดงให้เห็นการตัดสินใจและจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลว่าเลือกที่จะทำหรือไม่ทำในเรื่องใด สิ่งใด เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ อันสะท้อนให้เห็นถึงภาวะผู้นำของคณะรัฐมนตรีหรือผู้บริหารฝ่ายการเมืองในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์ การกำกับดูแลควบคุมให้ฝ่ายข้าราชการประจำรับผิดชอบในการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติให้บรรลุผล อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขของประชาชนและความมั่นคงยั่งยืนของประเทศ

 

ทำไมต้องมี “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 76 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 13 และมาตรา 14 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มี  “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”  ตลอดระยะเวลาการบริหารราชการของคณะรัฐมนตรี โดยจัดทำเป็นแผน 4 ปี เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนนิติบัญญัติและแผนปฏิบัติราชการ รวมทั้งใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินตลอดระยะเวลา 4 ปีของคณะรัฐมนตรี

 

ที่มาของ “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”

โดยปกติตามที่ทราบกันดีว่า นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลแต่ละชุดเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่ง จะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในมาตรา 176 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะมีรายละเอียดครอบคลุมเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ และแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาและสร้างความเข็งแกร่งให้กับประเทศ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการแข่งขันต่อนานาประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม กรอบนโยบายสำคัญที่รัฐบาลแต่ละชุดนำเสนอ จะคล้ายกันแต่แตกต่างในรายละเอียด กรอบนโยบายที่สำคัญในแต่ละด้านประกอบด้วย

(1) นโยบายเร่งด่วนที่เริ่มดำเนินการในปีแรก

(2) นโยบายความมั่นคงของรัฐ

(3) นโยบายเศรษฐกิจ

(4) นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต

(5) นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(6) นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม

(7) นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

(8) นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ซึ่ง“แผนบริหารราชการแผ่นดิน” นี้ จะดำเนินการจัดทำขึ้น หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วเสร็จ และมีสาระสำคัญพื้นฐานหลักการที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา มีส่วนประกอบการของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และการประกาศแผนพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยสาระสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ แนวคิดและทิศทางการบริหารประเทศ แนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน และกลไกการนำแผนการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่การปฏิบัติ โดยทั้ง 3 ส่วนจะช่วยสร้างความชัดเจน และกำหนดทิศทางการดำเนินของส่วนราชการต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางและเป้าหมายเดียวกัน 

 

แล้ว “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”มีขั้นตอนการจัดทำ เป็นอย่างไร?

จุดเริ่มต้นของการอธิบายขั้นตอนการจัดทำ “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”  ที่สามารถเห็นภาพเหตุการณ์ชัดเจนที่สุด

นั่นคือการที่ “สภาสิ้นอายุ” หรือ “ยุบสภา”นั่นเอง

  1. เมื่อสภาสิ้นอายุหรือยุบสภา ซึ่งเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งนั้น  รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็ได้บัญญัติให้มีการตั้งคณะกรรมการ จำนวน 2 คณะ ขึ้นอย่างอัตโนมัติ คณะที่ 1คณะกรรมการจัดทำรายงานสรุปสภาวะของประเทศ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน  และ คณะที่ 2คณะกรรมการรวบรวมข้อมูล    โดยมีเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นประธาน
  2. ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นประธาน เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะสั่งเป็นอย่างอื่นและให้นำข้อมูลที่คณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด รวบรวมนั้น มาประกอบการพิจารณาและจัดทำร่างแผนการบริหารราชการแผ่นดินให้แล้วเสร็จ และเสนอนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
  3. เมื่อนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ระเบียบสำนักนายรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2547)

 

แล้ว “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”ที่จัดทำขึ้น จะเกี่ยวข้องกับการทำงานของเรายังไง??

คำตอบคือ : มีความเกี่ยวข้องอย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาตามแผนภาพด้านล่าง จะพบว่า “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”  ที่ทางรัฐบาลจัดทำขึ้น จะถูกแปลงและถ่ายทอดเป็น“แผนปฏิบัติราชการ” ในระดับกระทรวงกรม/ จังหวัด/กลุ่มจังหวัดซึ่งในแผนปฏิบัติราชการนี้เอง จะบรรจุเอาทุกๆ กิจกรรมโครงการที่หน่วยงานดำเนินการและต้องมีความสอดคล้องกับแนวทางใน “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”  ไว้ในนั้น กล่าวคือ ทุกวันนี้ การทำงานของข้าราชการจะถูกกำหนดให้ล้อไปตามแนวทาง “แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”  วัตถุประสงค์ก็เพื่อกำกับควบคุมให้การดำเนินกิจกรรม/โครงการ เพื่อการพัฒนาประเทศของภาครัฐเป็นไปตามทิศทางและนโยบายของรัฐบาลเป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง

 

==

References :
เอกสารการอบรม OCSC Learning Portal รายวิชา "นโยบายสาธารณะ" : https://learningportal.ocsc.go.th/learningspace/courses/1031


เขียนโดย : น.ส.ชัชฎาพร  มีศรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : chatdaporn.m@mhesi.go.th