การติดตามและประเมินผลการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  72

คำสำคัญ : กปว.  สัปดาห์วิทยาศาสตร์  ภูมิภาค  

16 สิงหาคม 2567 / มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
จุดเด่น 
ภาพรวมการงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถือว่าจัดงานได้ดีมาก ทั้งการประชาสัมพันธ์ (ออนไลน์และออฟไลน์) นิทรรศการที่เป็นไฮไลท์ (การศึกษาธรรมชาติจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช) กิจกรรม Open House และกิจกรรมการประกวดแข่งขันที่เลือกดำเนินการ
จุดด้อย/ข้อเสนอแนะ/ข้อควรปรับปรุง 
1.นิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย ความจริงก็จัดได้ดี แต่เลือกไปวางในอาคารที่ใช้ในการประกวดแข่งขัน ซึ่งไม่ได้เปิดให้คณะครูและนักเรียนทั่วไปเข้าชมได้ การจัดงานในปีถัดไปควรนำนิทรรศการเทิดพระเกียรติฯ ไปจัดแสดงในจุดที่คณะครูและนักเรียน/ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้
2.การบริหารจัดการ ไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงนักศึกษาช่วยงานน้อยไป งาน 3 วันคือ 16 -18 ส.ค. แต่วันที่ 16 ส.ค. มีคณะครูและนักเรียนลงทะเบียนเข้าชมงานมากกว่าวันอื่น แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือนักศึกษานำคณะครูเยี่ยมชมงาน ทำให้การเยี่ยมชมงานในแต่ละกิจกรรมดูวุ่นวายและมั่วไปหมด การจัดงานในปีถัดไปควรขอความร่วมมือนักศึกษาให้มาช่วยงานมากกว่านี้
3.การจราจร จากผังการจัดงานที่เปิดให้เดินรถเส้นทางเดียวซึ่งน่าจะทำให้การจราจรคล่องตัว แต่ในทางปฏิบัติกลับปล่อยให้รถมาจอดบนถนนทั้ง 2 ฝั่งเลยทำให้การจราจรไม่ค่อยคล่องตัวเท่าที่ควร อีกทั้งไม่ได้อำนวยความสะดวกให้รถบัสที่นำคณะครูและนักเรียนมาส่งตรงหน้าอาคารซึ่งเป็นจุดอำนวยการ ทั้งที่ในทางปฏิบัติสามารถทำได้ ถ้าไม่ปล่อยให้รถมาจอดข้างทางทั้ง 2 ฝั่ง
ทั้งนี้ได้แจ้งประเด็นดังกล่าวให้อาจารย์ที่รับผิดชอบทราบแล้ว ซึ่งจะได้นำไปหารือแนวทางกับคณะทำงานต่อไป

 

17 สิงหาคม 2567 / วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู
จุดเด่น
การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู ในภาพรวมก็ถือว่าจัดงานได้ดี โดยเฉพาะในส่วนของการประกวดแข่งขัน ส่วนเรื่องนิทรรศการต่างๆ ก็ถือว่าจัดได้ดีตามศักยภาพของวิทยาลัยชุมชน
จุดด้อย/ข้อเสนอแนะ/ข้อควรปรับปรุง 
1.การประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ มีเพียงการทำหนังสือเชิญโดยตรงไปยัง 8 โรงเรียนในพื้นที่อำเภอเมือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีเพียง 300 คน ถือว่าน้อยมาก อีกทั้งไม่มีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบออนไลน์ ส่วนป้ายประชาสัมพันธ์ก็มีเพียงป้ายเดียวตรงทางขึ้นอาคารหลัก แต่ไม่มีป้ายประชาสัมพันธ์ด้านหน้าวิทยาลัย ทำให้การจัดงานเป็นเหมือนระบบปิดเฉพาะวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภูและโรงเรียนที่ได้รับเชิญ ส่วนประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าชมงานได้ ซึ่งคณะติดตามได้ให้ข้อเสนอแนะในการจัดงานในปีถัดไป ดังนี้
1.1 ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบออนไลน์ด้วย เพื่อให้โรงเรียนและประชาชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูรับทราบและเข้าร่วมงานมากขึ้น
1.2 ป้ายประชาสัมพันธ์ อาจจะด้วยงบที่จำกัดทำให้ทำป้ายประชาสัมพันธ์ได้เพียง 1 ป้าย แต่ขอให้นำไปติดไว้หน้าวิทยาลัย เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาได้รับทราบว่ามีการจัดงานด้วย
1.3 การประชาสัมพันธ์โดยการทำหนังสือเชิญโดยตรงไปยังโรงเรียนต่างๆในพื้นที่ อยากให้เชิญมากกว่านี้ โดยวิทยาลัยชุมชนเองก็มีเครือข่ายที่เป็นโรงเรียนครูพี่เลี้ยง (U-School Mentoring) กระจายอยู่ทุกอำเภอ ซึ่งถ้าหากทำหนังสือเชิญไปยังโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายครูพี่เลี้ยง น่าจะได้กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานมากยิ่งขึ้น
2.งบประมาณโดยการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภูใช้งบประมาณจาก สป.อว. เพียงแหล่งเดียว ซึ่งการจัดงานในปีถัดไปอาจมีความเสี่ยงหากไม่ได้การสนับสนุนงบประมาณ รวมถึงหากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเครือข่ายโรงเรียนครูพี่เลี้ยงตอบรับเข้าร่วมงานมากขึ้น งบประมาณที่ใช้จัดงานอาจไม่เพียงพอ คณะติดตามเลยเสนอแนะให้ของบประมาณสนับสนุนจากแหล่งอื่นทั้งภาครัฐ (เช่นจังหวัดหรือ อบจ.) และภาคเอกชน เพิ่มเติมเพื่อให้มีงบประมารเพียงพอการจัดงานในปีถัดไปที่อาจมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมงานมากยิ่งขึ้น
3.ความเห็นของคณะติดตามฯ ต่อการสนับสนุนงบประมาณให้กับวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภูยังคงคิดว่ามีความจำเป็นเนื่องจากวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพียงแห่งเดียวในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งถ้าหาก สป.อว. ยังคงสนับสนุนงบประมาณให้วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภูจัดงานในปีถัดไป ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้คณะครู/นักเรียน ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมงานหรือร่วมการประกวดแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องลำบากเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปร่วมงานในจังหวัดอื่นๆ เช่น เลย อุดรธานี หรือขอนแก่น ฯลฯ

 

18 สิงหาคม 2567 / มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จังหวัดเลย
จุดเด่น
ในภาพรวม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติได้ดีมาก โดยมีจุดเด่นของการจัดงาน ดังนี้
1.การประชาสัมพันธ์ที่มีทั้งแบบออนไลน์และทำหนังสือเชิญไปยังหน่วยงานโดยตรง รวมถึงการบริหารจัดการคณะครู/นักเรียนที่เข้าเยี่ยมชมงาน โดยให้ตอบรับผ่าน google form ที่ช่วยให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น
2.นิทรรศการ โดยเฉพาะนิทรรศการที่เป็นไฮไลท์ของงานคือ นิทรรศการอัตลักษณ์วัฒนธรรมข้าง GI เมืองเลย ทั้งข้าวเหนียวแดงเมืองเลย และข้าวเหนียวชิวเกลี้ยง ซึ่งหลังจากที่ได้ GI ราคาขายข้าวบรรจุถุงของกลุ่มเกษตรกรก็ขายได้ราคาดีขึ้นมาก โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยอยู่ระหว่างเสนอโครงการเพื่อของบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำระบบตรวจย้อนกลับมาใช้ในการยกระดับข้าว GI เมืองเลย ซึ่งผมได้เสนอแนะว่า เรื่องการนำระบบตรวจย้อนกลับมาใช้ในการยกระดับข้าว GI เมืองเลย ควรดึงหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะอย่าง GISTDA เข้ามาช่วยน่าจะดีกว่า ซึ่งจะได้มีการหารือเพิ่มเติมในลำดับต่อไป
3.การประกวดแข่งขัน เช่น การแข่งขันประกวดอาหารท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การประกวด Science Show ซึ่งจัดได้ดีมาก
จุดด้อย/ข้อเสนอแนะ/ข้อควรปรับปรุง
ยังไม่พบจุดด้อยหรือข้อควรปรับปรุง การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กำหนด 3 วันคือ 18 – 20 สิงหาคม 2567 แต่เนื่องจากวันที่ติดตามคือวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นอาทิตย์ จึงมีโรงเรียนตอบรับเข้าเยี่ยมชมงานเพียง 4 โรงเรียน รวมประมาณ 400 คน ส่วนกิจกรรมการประกวดแข่งขันก็มีเพียง 7 กิจกรรม โดยคณะครู/นักเรียนเข้าเยี่ยมชมงาน รวมถึงการประกวดแข่งขันจะไปในวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2567 เป็นส่วนใหญ่ จึงยังไม่เห็นจุดด้อยหรือข้อควรปรับปรุงแต่ประการใด
อีกทั้ง เท่าที่ได้ฟังผู้รับผิดชอบโครงการอธิบายถึงวิธีการ/ขั้นตอนในการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการบริหารจัดการการตอบรับของคณะครู/นักเรียนเข้าเยี่ยมชมงาน รวมถึงการประกวดแข่งขัน ก็ถือว่าวางแผนจัดการได้ดีมาก

 

19 สิงหาคม 2567 / มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
จุดเด่น
การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในภาพรวมถือว่าจัดได้ในระดับดีเยี่ยม ทั้งการประชาสัมพันธ์งาน การจัดกิจกรรมต่างๆภายในงาน และโดยเฉพาะการบริหารจัดการ เนื่องจากการจัดงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีคณะครู/นักเรียนเข้าเยี่ยมชมงานรวมถึงการประกวดแข่งขันจำนวนมาก
การบริหารจัดการของทีมเจ้าหน้าที่/นักศึกษา ทั้งในจุดอำนวยการที่ให้คณะครู/นักเรียนเข้าแถวรอ ก่อนที่จะปล่อยออกไปทีละคณะ โดยมีนักศึกษานำคณะครู/นักเรียนชั้นประถม/มัธยมต้น ไปเยี่ยมชมงาน ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมปลายส่วนใหญ่จะจับกลุ่มกันเดินไปเยี่ยมชมงานเอง
และในระหว่างรอตรงจุดอำนวยการ หรือจุดดูงานแต่ละแห่ง ถ้าคณะครู/นักเรียนที่เข้าชมงานก่อนหน้ายังดูงานไม่เสร็จ ก็จะมีทีมนักศึกษาที่คอยทำกิจกรรมหรือเล่นเกมส์กับนักเรียนในระหว่างรอด้วย
จุดด้อย/ข้อเสนอแนะ/ข้อควรปรับปรุง
การจราจร
เนื่องจากการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีคณะครู/นักเรียนเข้าเยียมชมงานรวมถึงการประกวดแข่งขันจำนวนมาก จึงทำให้การจราจรบนถนนมอดินแดงติดขัดหรือไม่คล่องตัวตั้งแต่ประตูหน้ามหาวิทยาลัย ฝั่งถนนมิตรภาพ จนถึงถนนหน้าอาคารตรงจุดอำนวยการที่เป็นจุดจอดรถให้นักเรียนลง ซึ่งรถนำส่งนักเรียนหลายคันเลือกที่จะไปจอดตรงลานจอดรถและให้นักเรียนเดินไกลมาที่จุดอำนวยการเอง
ซึ่งประเด็นดังกล่าว ผมได้นำหารือกับผู้รับผิดชอบโครงการแล้ว โดยให้ข้อเสนอแนะไปว่า การจัดงานในปีหน้าควรที่จะประกาศห้ามใช้เส้นทางถนนมอดินแดงตั้งแต่ประตูหน้ามหาวิทยาลัย ฝั่งถนนมิตรภาพ จนถึงถนนหน้าอาคารตรงจุดอำนวยการที่เป็นจุดจอดรถให้นักเรียนลง ตั้งแต่ 07.00 – 12.00 น. โดยให้ใช้ได้เฉพาะรถที่มารับส่งครู/นักเรียนเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่หรือทีมนักศึกษาช่วยงาน น่าจะมาก่อน 07.00 น. แล้ว ส่วนรถคันอื่นขอให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน
โดยผู้รับผิดชอบโครงการแจ้งว่าการปิดถนนมอดินแดงตั้งแต่ประตูหน้ามหาวิทยาลัย ฝั่งถนนมิตรภาพ อาจจะทำได้ยาก เนื่องจากเป็นถนนสาธารณะและเชื่อมโยงไปยังคณะอื่นอื่นๆด้วย โดยผมได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่าถ้าประกาศห้ามใช้เส้นทางถนนมอดินแดง ตั้งแต่บริเวณหน้าคณะมนุษยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ที่เป็นสถานที่จัดงานน่าจะพอทำได้หรือไม่เพื่อให้การจราจรคล่องตัวขึ้นมาบ้าง ซึ่งผู้รับผิดชอบโครงการก็เห็นชอบด้วย และจะได้นำประเด็นดังกล่าวหารือคณะทำงานต่อไป


เขียนโดย : นายชุมพล  เยาวภา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : chumpon@mhesi.go.th