เสนอโครงการอย่างไร ให้ได้งบประมาณ (ข้อเสนอแนะในการพัฒนา/ปรับปรุงงาน)  104

คำสำคัญ : โครงการ  otop  

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะทำงานพิจารณาและคัดเลือกข้อเสนอโครงการต่าง ๆ ของ กปว. นับตั้งแต่คลินิกเทคโนโลยี หมู่บ้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนงานล่าสุดแนวทางคูปองวิทย์เพื่อโอทอป พบว่าโครงการที่อาจารย์ที่ปรึกษาเสนอมากว่าครึ่งที่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ
ในวันนี้ผู้เขียนจะมาตะโกนบอกเคล็ดไม่ลับ สำหรับอาจารย์ที่สนใจจะเสนอของบประมาณจาก กปว. ต้องทำอย่างไรบ้าง 
1. ทำความเข้าใจแหล่งทุน

 
- รู้ concept ของโครงการ ตัวอย่างเช่น
คูปองวิทย์เพื่อโอทอป ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ประเภท ภายใต้ 6 ประเด็นการพัฒนา ดังภาพ
 
 
- รู้วัตถุประสงค์ของการทำโครงการ ตัวอย่างเช่น
 
 
จากภาพ จะเห็นว่า แหล่งทุนให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาเป็นอันดับแรก โดยเน้นที่การพัฒนาให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเสียก่อน จากนั้นจึงจะก้าวไปสู่การเพิ่มมูลค่า การเพิ่มผลิตภัณฑ์ และการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้เป็นลำดับถัดไป
 
- รู้จักนิยามศัพท์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ตัวอย่างเช่น
ความหมายของผู้ประกอบการโอทอป ความหมายของผลิตภัณฑ์โอทอป ความหมายของแต่ละประเด็นการพัฒนาของคูปองวิทย์ เป็นต้น
 
****เมื่อเรามีความเข้าใจแหล่งทุนแล้ว จะทำให้เรามองเห็นภาพกว้างของการทำงาน กลุ่มเป้าหมายที่เราเลือกที่จะมาร่วมโครงการควรจะมีลักษณะอย่างไร มีเงื่อนไขพิเศษของโครงการอะไรบ้างที่ต้องเจรจาต่อรองตั้งแต่เริ่มต้น
 
2. ต้องมองเห็นเส้นทางการดำเนินโครงการ / การพัฒนาของผู้ประกอบการ 
 
โดยส่วนใหญ่แล้ว โครงการของ กปว. จะสามารถขอรับทุนสนับสนุนแบบต่อเนื่องได้ คือ มีระยะเวลาตลอดเส้นทางการพัฒนามากกว่า 1 ปีงบประมาณ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการตกม้าตาย อาจารย์จะต้องร่วมวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของงานที่จะดำเนินการในแต่ละปี แต่ต้องอย่าลืมว่า แผนงานนี้ต้องสอดคล้องกับแนวทางของแหล่งทุนที่เราได้ทำความเข้าใจด้วย ตัวอย่างเช่น 
ผู้ประกอบการต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะมีลูกค้าต่างประเทศมาติดต่อจะขอซื้อ แต่ผลิตภัณฑ์เดิมที่จำหน่ายอยู่ ยังไม่มีมาตรฐาน อย. รับรอง อาจารย์ควรจะต้องเร่งผลักดันให้สถานที่ผลิตของผู้ประกอบการได้รับรองมาตรฐานในระดับที่สามารถส่งออกไปยังประเทศเป้าหมาย และมาตรฐานในไทยให้ได้เป็นอันดับแรก ก่อนที่จะดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นลำดับรองลงไป และที่สำคัญ อย่าลืมเจรจาถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านมาตรฐานที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ และเงื่อนไขที่แหล่งทุนสามารถสนับสนุนได้ด้วย
 
3. วางแผนให้ละเอียด ลงรายละเอียดของงานให้มาก
ในการเขียนข้อเสนอโครงการ หรือนำเสนอโครงการต่อกรรมการพิจารณา ให้นึกอยู่เสมอว่า "กรรมการไม่ได้มีความรู้เท่าอาจารย์" ข้อมูลที่นำเสนอให้ทำให้ละเอียด เสนอเทคโนโลยี/วิธีการที่ใช้ อธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์ วางแผนขั้นตอนการทำงานโดยละเอียด เพื่อให้กรรมการเกิดความเข้าใจ เกิดความเชื่อ และคล้อยตามว่าสิ่งที่จะทำนี้จะสำเร็จได้และเกิดผลดีเพียงใด
 
จงตระหนักอยู่เสมอว่า...กรรมการไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง แต่กรรมการเลือกทีมงานอาจารย์ที่เก่ง และผู้ประกอบการที่พร้อม มาร่วมในเส้นทางการทำงานร่วมกัน...
 
4. มุมมองด้านแผนการตลาด การพัฒนาธุรกิจ ก็สำคัญนะ
นอกจากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแล้ว อาจารย์ต้องทำความเข้าใจถึงแผนการตลาด การพัฒนาแบบแผนทางธุรกิจ ต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการใส่เทคโนโลยีลงไปด้วย


5. อย่า Over Claim

การ Over Claim นี้ไม่ได้หมายถึงการตั้งเป้าหมายของโครงการที่สูงเกินไปเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการตั้งงบประมาณที่สูงเกินจริง ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งอาจมีผลให้โครงการไม่ได้รับการสนับสนุนได้เลยทีเดียว
ทางผู้เขียนหวังว่า เคล็ดลับนี้จะช่วยให้อาจารย์หลาย ๆ ท่านพบทางสว่างในการเขียนข้อเสนอโครงการได้นะคะ ^^

เขียนโดย : สุชานุช  ชนะชาญมงคล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : suchanuch.c@most.go.th