มารู้จัก บพข.  48

คำสำคัญ : บพข.  PMUC  หน่วยบริหารจัดการทุน  

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ ทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าวมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม

โดยกลุ่มทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าว มุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มหลัก ได้แก่ อาหารมูลค่าสูง, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ, ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม, เศรษฐกิจหมุนเวียน, ระบบคมนาคมแห่งอนาคต และโลจิสติกส์และระบบราง ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีรายละเอียดของโจทย์วิจัยที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

>> อาหารมูลค่าสูง

สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์มูลค่าสูง ได้แก่ ส่วนประกอบฟังก์ชัน (Functional Ingredients) และสารสกัดจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาระบบและมาตรฐานห่วงโซ่ความเย็น (cold Chain) และเครื่องจักรกลเกษตรและอาหาร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยให้สามารถยกระดับการผลิตและการส่งออก Functional Ingredients, Functional Food, Novel Foodให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกชั้นนำของโลก โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

>> สุขภาพและการแพทย์ การพัฒนา ชีววัตถุ เซลล์บำบัด เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ และระบบผลิตทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อการขึ้นทะเบียน

>> พลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ การพัฒนาพลังงานทดแทน เชื้อเพลิงชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ และสารเคมีชีวภาพ

>> ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและจัดการมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางธรรมชาติของประเทศไทยให้เป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวตามแนวทางที่เป็นสากล

>> ดิจิทัลแพลตฟอร์ม สนับสนุนแผนงานการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มแข็ง และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

>> เศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม แพลตฟอร์มการพัฒนาธุรกิจรูปแบบความร่วมมือใน Value Chain ที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน

>> ระบบคมนาคมแห่งอนาคต ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบคมนาคมแห่งอนาคต การพัฒนาต้นแบบยานพาหนะไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ระบบขับขี่อัตโนมัติ ระบบราง การบิน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมของไทย

>> โลจิสติกส์และระบบราง สร้างความพร้อมด้านนวัตกรรมโลจิสติกส์ในประเทศ ความเป็นมาตรฐานเพื่อเพิ่มโอกาสการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีการเชื่อมต่อเส้นทางเครือข่ายโลจิสติกส์ เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางราง และการเปลี่ยนถ่ายที่ต่อเนื่องราบรื่น

และยังมีอีก 5 แผนงานโครงสร้างพื้นฐาน ที่รอให้เราไปทำความรู้จัก ดังนี้

1. Technology Localization

เป็นการวิจัยในระดับ TRL 5ขึ้นไป เช่น การพัฒนาต้นแบบ (Prototype) หรือเทคโนโลยีสำคัญที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศโดยคนไทย และผ่านการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และ/หรือด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจนวัตกรรมใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยผ่านการทดลองใช้งานจริง เนื่องจากหากทำวิจัยในแต่ละส่วนตั้งแต่แรกเริ่มเองจะใช้ระยะเวลานานในการพัฒนา เทคโนโลยีไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามพลวัตรการพัฒนาโลก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product) สำหรับการทดลองใช้งาน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ เก็บข้อมูลเฉพาะด้าน ด้านเทคนิค ด้านการตลาด รูปแบบลักษณะโมเดลธุรกิจ (Business Models) เพื่อนำมาปรับปรุงออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมให้มากขึ้น

สำหรับการใช้งานในประเทศไทย (Operational Research) มุ่งเน้นให้การสนับสนุนการดำเนินการทำโครงการที่มีขนาดใหญ่ และ/หรือมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง สร้างให้เกิดความสามารถด้านการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศขึ้นในประเทศไทยได้เอง เพื่อเร่งการยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม (Research, Development and Innovation : RDI) ของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Competitiveness) และการพัฒนาร่วมกันกับพันธมิตรยุทธศาสตร์ (Co-development Strategic Alliances) สร้างให้เกิดความสามารถใหม่และยกระดับจากการผลิตตามแบบ (OEM) ไปสู่การออกแบบเชิงเทคนิคและพัฒนาเทคโนโลยีได้เอง

เมื่อสิ้นสุดแผนงาน การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จะต้องเกิดผลผลิตที่ใช้งานได้จริงพร้อมนำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ ตัวอย่าง เป้าหมายโครงการ Technology Localization ได้แก่

  • อุตสาหกรรมระบบการคมนาคมแห่งอนาคต ในกลุ่ม อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive) ระบบราง (Railway) การบินและอากาศยาน (Aviation) และ โลจิสติกส์ (Logistics)
  • อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ด้านหุ่นยนต์แขนกล ระบบการผลิตอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ผลผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • อุตสาหกรรมอาหาร ด้านการผลิตอาหารมูลค่าเพิ่มสูงและสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ (High Value-added Food and Functional Ingredient) และเทคโนโลยีใหม่เพื่อการรักษาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและอาหาร
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ ยา ชีววัตถุ เซลล์บำบัด ชุดตรวจวินิจฉัยโรค และเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ใช่ IVD (In Vitro Diagnostics) Nutraceuticals
  • อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุชีวภาพ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (Final Energy) การกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) การเชื่อมต่อกับยานยนต์สมัยใหม่ และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)

2. Deep Science & Technology Accelerator Platform

การส่งเสริมขับเคลื่อนงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Science and Technology) เพื่อให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงออกสู่เชิงพาณิชย์ เป็นปัญหาสำคัญของประเทศสำหรับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิจัยที่เริ่มต้นจากระความพร้อมของเทคโนโลยี Technology level readiness (TRL) อย่างน้อยระดับ 5 และไปสู่ระดับ TRL อย่างน้อยระดับ 8 ออกสู่เชิงพาณิชย์ หรือเพื่อข้ามหุบเขามรณะ (Death valley)ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และที่สำคัญคือหน่วยงานวิจัยยังขาดระบบการบริหารจัดการนวัตกรรม (Innovation management system) และกระบวนการเร่งขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดด (Accelerator) ให้กับนักวิจัยให้สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึกจนได้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มีมูลค่าสูง สามารถทำให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำออกสู่ผลิตภัณฑ์ หรือบริการสู่ตลาด เสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศและก่อให้มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง

บพข. จึงได้สนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก ให้กับหน่วยงานวิจัย ซึ่งมีความพร้อมและมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะและเร่งงานวิจัยและนวัตกรรม มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการเชิงพาณิชย์เพื่อย่นระยะเวลาของการพัฒนานวัตกรรมให้รวดเร็วขึ้น ทำให้หน่วยงานวิจัยสามารถส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ภายในหน่วยงานวิจัยไปสู่การลงทุนในภาคธุรกิจ การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือนำไปสู่การใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยี (Disruptive technology) การสนับสนุนให้เกิดการสร้างแพลตฟอร์มบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกให้กับหน่วยงานวิจัยนี้จะเป็นกลไกล ความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจในห่วงโซ่มูลค่าที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กของไทยสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่

3. Public private partnership – Innovation driven enterprise (PPP-IDE)

ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยออกจาก “กับดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง” และมุ่งสู่ประเทศรายได้สูงภายในปี 2579ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี เนื่องจากภาคเอกชนเป็นทั้งผู้ผลิตนวัตกรรมและแหล่งจ้างงาน จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเสริมสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย ให้กลายเป็นวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises – IDEs) ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5-10ต่อปี เป็นแรงขับสำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศและสามารถบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ลงทุนทำวิจัยและนวัตกรรมจำนวนไม่มาก เงินลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทเพียง 15บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่และเป็นบริษัทต่างชาติ

ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทย ไม่สามารถลงทุนวิจัยและพัฒนาได้เนื่องจากเสียเปรียบในการเข้าถึงตลาด ขาดองค์ความรู้ บุคลากรและแหล่งทุน ในการพัฒนานวัตกรรมให้เท่าทันกับคู่แข่งจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิตในการกำหนดโจทย์นวัตกรรมจากความต้องการจริง เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้น

มีตลาดรองรับ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องการพัฒนานวัตกรรม นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงองค์ความรู้และมีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมได้เอง โดยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือเพื่อแบ่งปันและต่อยอดองค์ความรู้ระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่คุณค่า ในรูปแบบของนวัตกรรมแบบเปิดเพื่อย่นระยะเวลาของการพัฒนานวัตกรรมให้รวดเร็วขึ้น พร้อมรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพ และประเทศไทยมีเอกชนที่สามารถขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้เล่นที่ส่งผลกระทบสูงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

แผนงาน PPP-IDEs จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กให้สามารถสร้างนวัตกรรมได้ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อ (รัฐ/เอกชน) กับ SMEs เพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของหน่วยงานนั้น ๆ ตลอดจนเชื่อมโยงองค์ความรู้จากบริษัทใหญ่สู่บริษัทในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อยกระดับทั้งอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน

4. Global partnership

การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจ สีเขียว (BCG in Action) ให้กับนักวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนไทยผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเพิ่มความสามารถได้อย่างก้าวกระโดด บพข. จึงสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการพัฒนา ววน. ของประเทศ ทำให้เกิดกระบวนการเลือกรับและถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีอย่างมีทิศทางตรงตามความต้องการของประเทศ เกิดการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งสามารถทำให้ผู้ประกอบไทยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายนานาชาติผลักดันสินค้า ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและบริการของไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างความเป็นเลิศของระบบอุดมศึกษาไทยในระดับนานาชาติ ผ่านการยกระดับความร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อทำงานกับหน่วยงานต่างประเทศทั้งในระดับหน่วยงานรัฐ และระดับภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ ซึ่งนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านผลงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งความร่วมมือกับเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ ในกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศเป็นการส่งเสริมการเจรจาต่อรองทางการค้าระหว่างประเทศและการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยสู่เวทีการค้าโลก

5. National Quality Infrastructure

ในสภาวะที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้าโลกมีความรุนแรงและมีความผันผวนสูง ทั้งที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเอง และที่มาจากความต้องการใหม่ หรือความกังวลของผู้บริโภค รวมไปถึงความจำเป็นของฝ่ายรัฐที่จะต้องปรับ หรือออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชนและสังคมโดยรวม ก่อให้เกิดเงื่อนไขใหม่ในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาด ปัจจุบันภาคเอกชนและผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาในเรื่องการเข้าถึงบริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือตามมาตรฐาน หรือระเบียบที่ลูกค้ากำหนด

แผนงานเสริมสร้างสมรรถนะและขยายขอบเขตบริการโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศจึงเกิดขึ้นเพื่อวางแผนการลงทุนที่จำเป็นของภาครัฐที่ต้องมีการลงทุนอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในเวลาที่ประเทศไทยจะยังได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนดังกล่าว เนื่องจากการลงทุนสร้างความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพนั้นเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วยบุคลากร เครื่องมือวิทยาศาสตร์ สภาวะแวดล้อมที่อยู่ภายใต้การควบคุมและระบบคุณภาพ แต่ละปัจจัยมีขั้นตอนการพัฒนาที่เฉพาะเจาะจง ทำให้ใช้เวลาในการพัฒนามากและใช้เงินลงทุนสูง

ดังนั้น จึงต้องมั่นใจว่าการกำหนดสาขาและระดับความสามารถที่ต้องการพัฒนานั้นได้รับการวิเคราะห์และวางแผนมาเป็นอย่างดี สอดคล้องกับบทบาทของรัฐและเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว มิเช่นนั้นอาจจะนำไปสู่การสูญเปล่าได้ นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศยังรองรับความจำเป็นของประเทศมากกว่าเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือการส่งออก บริการโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพที่เกิดขึ้นจากแผนงานนี้จึงสามารถนำไปใช้รองรับการดำเนินการด้านอื่นของประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ขอบเขตความรับผิดชอบของแผนงานนี้อยู่ที่การสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ประเทศในสาขาที่กำหนดในยุทธศาสตร์ อววน. เป็นหลัก

ที่มา : https://pmuc.or.th/


เขียนโดย : น.ส.จิณห์นิภา  พลีทอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : jinnipa.p@mhesi.go.th