ทำความรู้จักกับโครงการดีๆ ของ กปว. ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ (โครงการยกระดับความพร้อมของเทคโนโลยีและส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ )  60

คำสำคัญ : Startup  ยกระดับ  สร้างผู้ประกอบการ  เทคโนโลยี  อุทยานวิทยาศาสตร์  SME  นิสิต  นักศึกษา  วิสาหกิจชุมชน  

โครงการยกระดับความพร้อมของเทคโนโลยีและส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ New Regional Tech-based Entrepreneurial Ecosystem Enhancement

โครงการยกระดับความพร้อมของเทคโนโลยีและส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศเป็นโครงการพัฒนาในระดับภูมิภาค ด้วยแผนงานการดำเนินงาน 4 แผนงาน อันได้แก่

1. แผนงานการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ในภูมิภาค (New Regional Startups Platform) สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ในภูมิภาค สามารถเข้าถึงการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค การเข้าถึงที่ปรึกษาทั้งด้านการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีและธุรกิจ ไปจนถึงการทดลองผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เพื่อนำไปสู่การทดสอบต่อยอดทางการตลาดในอนาคต

2. แผนงานยกระดับธุรกิจภูมิภาค (Regional Entrepreneur Upgrade Platform) ยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีในภูมิภาค ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและงานวิจัย ผ่านกระบวนการยกระดับที่หลากหลายและเกิดการนำไปประยุกต์ใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม

3. แผนงานส่งเสริมผู้ประกอบการภูมิภาคสู่ตลาดโลก (Regional to Global Platform : R2G) เชื่อมโยงผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคสู่ลูกค้าในระดับโลกผ่านการส่งเสริมยกระดับศักยภาพด้านการตลาด เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นและเกี่ยวข้องในการเจรจาทางธุรกิจ

4. แผนงานยกระดับเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม (Technology to Industry Convergence) พัฒนางานวิจัยสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับการใช้งานจริงการพิสูจน์เทคโนโลยี การวางแผนและวิเคราะห์แนวทางในการต่อยอดทางธุรกิจ (Industry Convergence) รวมถึงการมองหาภาคเอกชนที่จะมาใช้ประโยชน์งานวิจัยในอนาคต

ทั้ง 4 แผนงาน ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่ระดับแนวคิดจนกระทั่งพร้อมใช้งาน พร้อมทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด ใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการสร้างธุรกิจใหม่และยกระดับธุรกิจในระดับภูมิภาคเพื่อเตรียมพร้อม เพื่อรองรับการปรับตัวของธุรกิจเมื่อประสบภาวะวิกฤติ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคสู่ตลาดโลก โดยมุ่งเน้นพัฒนาคนโดยแบ่งเป็น 4กลุ่มหลัก ๆ คือ

1.  กลุ่มบุคลากรของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

2.  กลุ่มนักศึกษา/ผู้จบการศึกษาในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ควรมีการสร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม มองเห็นและเข้าใจกระบวนการการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมืออาชีพ รองรับความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายในอนาคต พร้อมต่อการเป็นผู้ประกอบการในยุคศตวรรษที่ 21

3.  กลุ่มบุคลากรในมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านการคิดค้น วิจัย ทดลอง จนเกิดเป็นนวัตกรรมสู่สังคม ซึ่งปัจจุบันยังคงมีงานวิจัยจำนวนมากที่ทรงคุณค่า
แต่ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้นวัตกรรมเหล่านี้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์สูงสุดจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการเทคโนโลยีทั้งกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่การจัดเก็บ ต่อยอด และการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานที่มีนักจัดการนวัตกรรมควรได้รับสิทธิพิเศษในการขอรับทุนสนับสนุน เนื่องจากผ่านการคิดวิเคราะห์และแนวทางการจัดการอย่างมีขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

4.  กลุ่มผู้ใช้เทคโนโลยีในภูมิภาคทั้งภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปพัฒนา เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการในภูมิภาค โดยผู้ใช้เทคโนโลยีมีความจำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมให้เกิดความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง รวมถึงการนำผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง เป็นการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมที่สร้างขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โครงการนี้ยังมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล อันได้แก่ การแก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร การพัฒนานวัตกรรม การยกระดับศักยภาพของแรงงาน การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21นอกจากนั้น ยังตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 4 ยุทธศาสตร์ กล่าวคือ มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ครอบคลุมการพัฒนาในทุกพื้นที่ ด้วยพลังของมหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1)  ส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในภูมิภาคเพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ

2)  ยกระดับความพร้อมของเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค

3)  เสริมศักยภาพผู้ประกอบการภูมิภาคให้สามารถเติบโตและก้าวสู่ตลาดโลก

4)  เพื่อพัฒนางานวิจัยให้เป็นเทคโนโลยีเข้มข้น สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ ด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

กลุ่มเป้าหมาย

          1) นิสิต นักศึกษา

          2) SME

          3) Startup

          4) วิสาหกิจชุมชน


เขียนโดย : ดร.สุมนรัตน์  ริยาพันธ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : sumonrat.r@mhesi.go.th