Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
ถอดบทเรียน Crowdstrike ความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และโอกาสทางธุรกิจ 88
เมื่อวันที่ 19กรกฎาคม 2567เกิดเหตุระบบไอทีล่มหลายแห่งทั่วโลก เป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนโกลาหลด้านการเดินทางทั่วโลก รวมถึงระบบสาธารณสุขและธนาคารอีกหลายแห่งได้รับผลกระทบจนใช้งานไม่ได้
เที่ยวบินจำนวนมากไม่สามารถขึ้นบินได้ เนื่องจากผู้โดยสารไม่สามารถเช็คอินขึ้นเครื่องบินได้ รวมถึงเกิดการเลื่อนเที่ยวบินในสนามบินหลายแห่งในไทยและทั่วโลก ระบบการชำระเงินก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยร้านค้าหลายแห่งต้องเปลี่ยนไปทำการซื้อขายด้วยเงินสดแทน ในสหราชอาณาจักร ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Morrisons และ Waitrose ไม่สามารถรับชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
คราวด์สไตรค์ (Crowdstrike) ซึ่งเป็นบริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์สัญชาติสหรัฐฯ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองออสติน มลรัฐเท็กซัส โดยหุ้นของบริษัทถูกซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ชี้แจงว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากการอัปเดตซอฟต์แวร์ของบริษัท ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Window โดนแฮ็ก ในขณะที่ทางไมโครซอฟต์ระบุว่า ตอนนี้บริษัทกำลัง “ดำเนินการแก้ไข” เพื่อรับมือกับ “ผลกระทบสืบเนื่อง” ดังกล่าว ในขณะที่ จอร์จ เคิร์ตซ์ ผู้บริหารสูงสุดของ คราวด์สไตรค์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อระบบปฏิบัติการอื่น ๆ [ที่ไม่ใช่ไมโครซอฟต์วินโดว์] และเสริมว่า “นี่ไม่ใช่เหตุด้านความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber security) หรือการโจมตีทางไซเบอร์”
ทั้งนี้ หุ้นของบริษัทคราวด์สไตรค์ล่วงลงทันทีถึง 21% ในช่วงการซื้อขายของวันที่เกิดเหตุ และตกลงอย่างต่อเนื่องสูงสุดที่ 38% ก่อนที่จะเริ่มดีดตัวกลับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ หุ้นของไมโครซอฟต์ และหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวหลายแห่ง ก็ยังถูกเทขายและราคาหุ้นร่วงด้วย โดยสาเหตุมาจากการที่นักลงทุนต้องพิจารณาว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวนั่นเอง นอกจากนี้ คราวด์สไตรค์รายงานว่า บริษัทมีลูกค้าเกือบ 24,000 ราย ตัวเลขจำนวนลูกค้าที่มากขนาดนี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นขนาดของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความยากในการแก้ปัญหาครั้งนี้ด้วย
ลูกค้าแต่ละเจ้าก็มักเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ดังนั้นจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้รับผลกระทบจึงยากที่จะประเมิน
ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวแสดงทัศนะว่า การแก้ปัญหาอาจจะต้องทำกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหาทีละเครื่อง ซึ่งจะทำให้ฝ่ายไอทีของทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องต้องปวดหัว
จากบทเรียนในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าถึงแม้เราจะก้าวเข้าสู่ยุคของดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ทำงานของระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีความซับซ้อนก็ยังจำเป็นต้องมีแผนสำรองที่สามารถดำเนินการแบบ offline ได้หากจำเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรต้องเตรียมแผนรับมือไว้ นอกจากนี้ ก็เป็นประเด็นที่บริษัท Tech companies ทั้งหลายต้องไปขบคิดผลิตภัณฑ์หรือวิธีการกันต่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยแบบนี้อีก