ผลการดำเนินงานและแผนการติดตามและประเมินผล การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗   7

คำสำคัญ : แผนติดตามโครงการปี๒๕๖๗  แบบประเมิน4  คณะทำงานจัดงานและติดตามประเมินผล  

ผลการดำเนินงานและแผนการติดตามและประเมินผล

การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗       

โดย ดร.สรรณพ นาควานิช นวค.ชพ.  หัวหน้าโครงการสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

         

สป.อว. ได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้รับผิดชอบโครงการสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยมีวงเงินประมาณ ๗,๒๙๖,๕๐๐ บาท แบ่งเป็นการอุดหนุนสถาบันการศึกษาและสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ จัดงาน จำนวน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเป็นงบดำเนินงานอีก ๑,๒๙๖,๕๐๐ บาท สป.อว. ได้รับข้อเสนอโครงการจากสถาบันการศึกษาของรัฐที่มีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากทั่วประเทศ จำนวน ๕๘ แห่ง คณะทำงานจัดงานและติดตามประเมินผลโครงการสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติได้พิจารณาและนำเสนอผู้บริหารอนุมัติให้การสนับสนุน จำนวน ๕๑ แห่ง ใน ๔๒ จังหวัด จำแนกเป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่ (๑) มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์ภูมิภาค ๕ แห่ง และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับเงินแห่งละ ๒๐๐,๐๐๐ - ๓๕๐,๐๐๐ บาท (๒) มหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน ๒๒ แห่ง ได้รับเงินแห่งละ ๗๐,๐๐๐ - ๑๓๓,๐๐๐ บาท (๓) มทร. ๒ แห่ง ได้รับเงินแห่งละ ๘๕,๐๐๐ และ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๔) มหาวิทยาลัยสังกัด ทปอ. จำนวน ๑๒ แห่ง ได้รับเงินแห่งละ ๖๐,๐๐๐ - ๑๒๗,๐๐๐ บาท และ (๕) วิทยาลัยชุมชน จำนวน ๙ แห่ง ได้รับเงินแห่งละ ๖๐,๐๐๐ - ๙๔,๐๐๐ บาท

เนื่องจากการใช้งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ พลางก่อนในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ – มีนาคม ๒๕๖๗ และต้องมาขอเปลี่ยนแปลงเป็นงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๗ ทำให้ต้องขออนุมัติใหม่ให้เป็นไปตามนัยแห่งระเบียบทำให้เสียเวลาในการดำเนนงานการส่งเอกสารเพื่อขอให้ กอก. พิจารณาตรวจสอบโครงการและขออนุมัติโอนเงินอุดหนุน ที่ส่งไปเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/743/files/Change_ToR_June6.pdf

ในการนี้ การทำงานของเจ้าหน้าที่การเงินมีความละเอียดมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงห้วงเวลาที่จำกัด  ได้ส่งเอกสารคืนเพื่อให้แก้ไขรายละเอียดแผนการเบิกจ่ายเงิน รายการเงินโอนผ่านระบบ KTB หนังสือการอนุมัติโครงการ ตามคำแนะนำ อย่างเป็นทางการ ๒ ครั้ง และให้แก้ไขรายละเอียดโครงการทั้ง ๕๑ แห่ง อีก ๒ ครั้ง (ไม่เป็นทางการ ส่งกันเองระหว่างกอง) และผมได้ประสานงานกับผู้รับผิดชอบโครงการให้แก้ไขตามคำแนะนำและส่งรายละเอียดที่สมบูรณ์จนแล้วเสร็จได้ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗

การแนะนำของเจ้าหน้าที่การเงิน ถือว่ามีความรอบคอบ หากจะให้ดีกว่านี้ ควรแนะนำให้สมบูรณ์เบ็ดเสร็จเพียงครั้งเดียว จะได้ไม่เสียเวลา ด้วยเหตุนี้ มีโอกาสส่งผลให้ผู้รับผิดชอบโครงการทั้ง ๕๑ แห่ง อาจมีความยุ่งยากในการดำเนินงานและมีความล่าช้าในการขอเบิกเงิน หรืออาจต้องขออนุมัติยืมเงินจากต้นสังกัดดำเนินงานไปพลางก่อน จึงเป็นภาระของผู้รับผิดชอบโครงการในส่วนภูมิภาค ทำให้การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ไม่เต็มประสิทธิภาพตามที่วางแผนไว้แล้ว

การจัดทำแผนการติดตามและประเมินผลการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ ใช้คณะทำงานฯ ภายใน และเจ้าหน้าที่ของ สป.อว. ทั้งหมด เนื่องจากได้นำงบประมาณไปจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท จึงไม่มีเงินพอในการจ้างมหาวิทยาลัยภายนอกมาดำเนินงานเหมือนปีที่ผ่านมา โดยได้กำหนดแผนติดตามลงพื้นที่จัดงานจริงใน ๒๙ แห่ง ทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยระดับศูนย์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยสังกัด ทปอ. และวิทยาลัยชุมชน โดยใช้แบบประเมินชุดที่ ๔ ในการติดตามและประเมินผล ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๗

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/743/files/Monitor_Sci_wk_plan2567_July26.pdf

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/743/files/Sci_wk_workingGr_64.pdf

อนึ่ง ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๗ กำหนดให้ทุกสถาบันการศึกษาจัดพิธีถวายราชสักการะ วางพานพุ่มดอกไม้เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางที่ สป.อว. และหน่วยงานในภูมิภาค ๕๑ แห่ง

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/743/files/Eval_form4_2567.pdf


เขียนโดย : ดร. สรรณพ  นาควานิช สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : sannop@mhesi.go.th