จาก “ครูอสวท” ผู้ร่วมสร้าง “ม่อนล้านโมเดล” ในวันนั้น ต้นแบบสู่การสร้าง “ครูนวัตกร” Innovative Teacher ในวันนี้ (EP : 1 จุดเริ่มต้น )  133

คำสำคัญ : ครูนวัตกร  Innovative  Teacher  ม่อนล้านโมเดล  

ย้อนไปเมื่อปี 2560 ปค.ภาคเหนือ หรือ ศวภ.1 ในตอนนั้น ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับคลินิกเทคโนโลยี มทร.ล้านนา นำโดย อาจารย์ไพโรจน์ วรพจน์พรชัย ผู้บุกเบิกการทำงานในชุมชนพื้นที่สูง ร่วมกับ ครู กศน. ตำบลเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ครูนันท์นภัส ไชยสวัสดิ์ หรือ “ครูน้อง” ที่เรียกกันจนติดปากในวันนี้

          การนัดรวมตัวหารือกันเกิดขึ้นหลายครั้ง ด้วยเป้าหมายและแนวคิดร่วมกัน ในการพยายามพัฒนากลไก อสวท. จาก ครู กศน. ซึ่งถือว่าเป็นกลไกที่ใกล้ชิดชุมชนชาวบ้านมากที่สุด ซึ่งไม่ง่ายนักที่คลินิกเทคโนโลยีจะลงพื้นที่เคาะประตูบ้านแล้วจะได้ประเด็นปัญหาของชุมชนที่แท้จริง แต่หากปัญหาเหล่านั้นถูกคัดกรองและสะท้อนมาจาก ครู กศน. ผู้เปรียบเสมือน พ่อ แม่ พี่ น้อง คุณหมอ คุณครู ของชุมชน (ซึ่งแล้วแต่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน) ปัญหาย่อมเป็นสิ่งที่ชุมชนพบเจอและต้องการ การแก้ไขอย่างแท้จริง

          แนวคิดที่วางแผนร่วมกันคือ การจัดกิจกรรมเติมความรู้ ครู อสวท. (รุ่นที่ 1) โดยนำร่องจังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก ด้วยความอนุเคราะห์จาก ท่านศุภกร ศรีศักดา ผอ.กศน. จังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ท่านได้เล็งเห็นแนวทางที่จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวครู และเกิดการร่วมทำงานแบบข้ามกระทรวงฯ ข้ามเครือข่าย ซึ่งจะเป็นช่องทางการทำงานในรูปแบบใหม่ที่ครูจะได้มีโอกาสตักตวงองค์ความรู้จากหน่วยงานภายนอกที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่หลากหลายและจะสามารถประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย และที่สำคัญที่สุดคือท่านเห็นแนวทางที่จะมาลองทำอะไรใหม่ ๆ ร่วมกัน

          กิจกรรมเติมความรู้ครู อสวท. (รุ่นที่ 1) จึงเกิดขึ้นในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2560 มีคุณครู กศน. จากทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนถึง 31 คน ซึ่งแน่นอน คุณครูมาพร้อมกับคำถามมากมายในหัว ว่ามาทำอะไร จะได้อะไร และจะต้องทำอะไร กิจกรรมในงาน 2 วันอัดแน่นไปด้วยการให้ความรู้ด้านต่าง ๆ และการศึกษาดูงานที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ และสุดท้ายคือการทำ Work Shop เพื่อให้คุณครูได้สะท้อนประเด็นปัญหาความต้องการของชุมชนออกมา มีเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีภาคเหนือหลายแห่งเข้าร่วมวิเคราะห์ปัญหา และเกิดเป็นแผนงานด้าน วทน. จำนวนถึง 20 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ร่างโครงการ “ม่อนล้านโมเดล” ซึ่ง คุณครู กศน.จากอำเภอพร้าว ได้พยายามทำแผนต้นแบบร่วมกับ คลินิกเทคฯ มทร.ล้านนา ขึ้นมา

          ภายหลังจากกิจกรรมในครั้งนั้น เกิดการร่วมผลักดันเพื่อพัฒนาแผนงานโครงการ “ม่อนล้านโมเดล” ให้ชัดเจนและสมบูรณ์ขึ้น โดยมี ศวภ.1 เข้าประสานการทำงานและจัดตั้งคณะทำงานฯ “ม่อนล้านโมเดล” เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการ โดยมีหน่วยงาน อว. หน่วยงานคลินิกเทคโนโลยีฯ ภาคเหนือ และอีกหลายภาคส่วน เข้าร่วมจัดทำแผนงานระยะ 3 ปี ที่ชัดเจน มีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตลอดห่วงโซ่คุณค่า มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชุมชนบนดอยม่อนล้าน 7 หย่อมบ้าน และ มีคลินิกเทคโนโลยี มทร.ล้านนา โดย อาจารย์ไพโรจน์ วรพจน์พรชัย ผู้เป็นแกนนำผลักดันแผนงานโครงการในครั้งนี้ให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรม

          โครงการ “ม่อนล้านโมเดล” ขับเคลื่อนด้วยงบประมาณจาก กปว. ภายใต้โครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากจะเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ มากถึง 23 ผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเกิดแผนการท่องเที่ยวชุมชน เกิดกิจกรรมการเปิดศูนย์ถ่ายทอด วทน. ประจำตำบลเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดตั้งเพื่อเป็นเสมือนหน่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่และเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ วทน. สำหรับชุมชน นอกจากนี้ยังเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัด อว. เช่น สวทช. คลินิกเทคโนโลยีในภาคเหนืออีกหลายแห่ง เข้าทำกิจกรรมร่วมกันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งทีมทำงาน “ม่อนล้านโมเดล” ยังประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานงบประมาณแหล่งอื่น ๆ ในพื้นที่ เช่น โครงการออมสินยุวพัฒน์ โครงการหลวง และอื่น ๆ อีกมากมาย ทุกวันนี้ภาพของ “ม่อนล้านโมเดล” ยังคงเดินต่อด้วยความแน่วแน่ของ คุณครู อสวท. รุ่นที่ 1 อย่าง “ครูน้อง” และ อาจารย์ไพโรจน์ วรพจน์พรชัย ที่ไม่เคยหยุดนิ่งและยังคงขยายผลการทำงานในประเด็นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนอำเภอพร้าว ด้วย วทน. จนถึงทุกวันนี้

          ถึงแม้ว่า จะมีความพยายามร่วมกัน ในการสร้าง ครูอสวท.รุ่นที่ 2 ขึ้นในปี พ.ศ. 2561 ขยายกลุ่มเป้าหมายคุณครูเพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เกิด ครูอสวท. รุ่นที่ 2 อีก 55 คน แต่เนื่องด้วยประเด็นปัญหาในการทำงานในพื้นที่ที่มีความห่างไกล ความไม่เข้าใจ และขาดความต่อเนื่องในการประสานการทำงาน ทำให้การดำเนินงานในรุ่นที่ 2 ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มีเพียง “ม่อนล้านโมเดล” เท่านั้นที่ยังคงหยัดยืนมาจนทุกวันนี้

          มาจนถึงในวันนี้ ปี พ.ศ. 2567 ด้วยแนวคิดของ ผอ.เอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผอ.กปว. ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของ “ม่อนล้านโมเดล” ซึ่งถือเป็นโมเดลนำร่องที่ดี จึงได้มอบหมายให้ ปค.ภาคเหนือ วางแนวทางเพื่อขยายผลการทำงานไปสู่พื้นที่อื่น จนเกิดแผนการพัฒนาศักยภาพ ครู สกร. เกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การจะพัฒนาพื้นที่ใดให้ยั่งยืนจำเป็นต้องเริ่มจากการพัฒนากลไกตัวบุคคลในพื้นที่ ที่จะคอยทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนให้แผนงานเกิดขึ้นได้อย่างเข้มแข็งเสียก่อน และกลไก นั้น ยังคงเป็น ครู กศน. หรือ ครู สกร. อีกเช่นเคย ทั้งนี้ ด้วยนโยบายการทำงาน และพรบ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของ สกร. ในปัจจุบัน จึงน่าจะพอมีความหวังอีกสักครั้งในการพลิกฟื้นการพัฒนา ครู สกร. ด้วย ววน. และนำไปสู่การพัฒนาเป็น “ครูนวัตกร” ภายใต้แผนงาน Upskill Reskill และ New skill คุณครู สกร. ด้วยความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวง คือ อว. และ ศธ. และผลจากการประชุมหารือฯ ร่วมกันระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงเกิดแผนการพัฒนาศักยภาพครู สกร. ภาคเหนือ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ 2567 เพื่อนำร่องการดำเนินงานพื้นที่ 10 จังหวัด ด้วยความร่วมมือของกลไกคลินิกเทคโนโลยี 10 แห่ง และคุณครู สกร. จาก 10 จังหวัดนำร่อง โดยกิจกรรมได้จัดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 14-16 กรกฏาคม 2567 มีคุณครูเข้าร่วมจำนวนมากถึง 58 ท่าน และเกิดแผนงานโครงการด้าน ววน. นำร่องถึง 40โครงการ ซึ่งคลินิกเทคโนโลยีในพื้นที่ภาคเหนือ ที่รับผิดชอบแผนงานในแต่ละจังหวัด จะได้สานต่อเพื่อพัฒนาเป็นโครงการที่สมบูรณ์ ต่อไป


เขียนโดย : น.ส.รชนิศ  ศรีวิชัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : rachanis.s@mhesi.go.th

เขียนได้ดีครับ เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์

เพิ่มในส่วนกระบวนการในการพัฒนา ครู อสวท. สู่ ครูนวัตกร อีกสักหน่อย 

เขียนโดย นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ