Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 836
‘ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ’ เครื่องมือยกระดับเศรษฐกิจประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
.
🔹 ปลายปีที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการ ‘ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ’ ที่จะสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ กระจายไปยัง 4 ภูมิภาคทั่วไทย กลายเป็นประเด็นใหญ่ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนที่หลายคนจับตามอง โครงการนี้คืออะไร สำคัญอย่างไร ทำไปแล้วได้อะไรบ้าง ใครที่กำลังสนใจหรือทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจ ภาคการผลิตและการบริการ ไม่อยากให้พลาด ชวนมาติดตามเรื่องนี้กัน
.
🔹 ก่อนอื่นขอเท้าความก่อนว่า โครงการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ชาติ ‘ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน’ ที่เล็งเห็นว่าประเทศของเรานั้นต้องเร่งเครื่องยกระดับศักยภาพ ผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น เนื่องจากผลการประเมินดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ปี 2559-2560 ชี้ว่า ศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และแรงงานทักษะของไทยมีพัฒนาการเชื่องช้าเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งจัดเป็นปัญหาหลักของภาคธุรกิจ
.
🔹 ดังนั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงได้มีการบรรจุแผนแม่บทเรื่อง ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ เป็นอีกหมุดหมายการพัฒนา ด้วยเชื่อมั่นว่าจะเป็นกลไกสำคัญช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งยกระดับรายได้ของประชากรให้ไทยกลับมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดียิ่งกว่า พร้อมนำพาประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ที่หนุนเสริมเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ ซึ่งในรายละเอียดของแผนแม่บทนี้ได้จัดจำแนกแผนพัฒนาออกเป็น 3 แผนย่อย ได้แก่
▶️ 1. การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
▶️ 2. การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ
▶️ 3. การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
.
🔹 กล่าวโดยสรุป ‘ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ’ ก็คือ 1 ใน 3 เครื่องมือหลักทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ควบคู่กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ (New Growth Poles) เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมตั้งเป้าเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับพื้นที่เศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันได้มีการการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้วใน 4 ภาค และกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้
• ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA) ครอบคลุมจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนของประเทศ (Creative LANNA)
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC) ครอบคลุมจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต
• ภาคกลาง – ตะวันตก (Central - Western Economic Corridor : CWEC) ) ครอบคลุมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง พร้อมเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
• ภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ครอบคลุมจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้เชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ การแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง ควบคู่ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่ระดับนานาชาติ
.
🔹 สำหรับการดำเนินงานขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค จะมีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วยมีรัฐมนตรี 13 กระทรวง และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน เป็นกรรมการ โดยมีทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เป็นฝ่ายเลขา ทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ สำรวจศักยภาพและโอกาส วางยุทธศาสตร์การพัฒนา ตลอดจนการออกแบบฉากทัศน์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของจังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตามจุดเด่นของแต่ละภาค เพื่อให้ได้แนวทางการขับเคลื่อนที่จะสามารถพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จ สอดรับกับศักยภาพ โอกาส รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรม
.
อ้างอิง : แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (09) เขตเศรษฐกิจพิเศษ (ช่วงที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566 – 2580)) (ฉบับปรับปรุง) และร่าง 'แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค' โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ