Impact Pathway เส้นทางสู่ผลกระทบของงานวิจัย  732

คำสำคัญ : อว.ส่วนหน้า  วิจัย  คลินิก  เครื่องมือ  

" Impact Pathway เส้นทางสู่ผลกระทบของงานวิจัย "
😃
      ข้อมูลจากหลักสูตร ผู้จัดการงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม (RDI Managers) ด้านชุมชนและพื้นที่ (Research Development and Innovation Manager for Area and Community : RDI – MAC) ซึ่งวันนี้ผมเอาที่อาจารย์สอนมาเล่าให้นักวิจัยฟัง เรื่อง Impact Pathway ซึ่งตอนนี้แหล่งทุนจะให้นักวิจัยจัดทำมาด้วยในการเขียนข้อเสนอโครงการ ลองมาดูกันครับ
🙂
Impact Pathway “เส้นทางสู่ผลกระทบของงานวิจัย”
เป็นการแสดงให้เห็นเส้นทางของการประเมินผลกระทบการวิจัย ที่จะทำให้ได้ทราบถึงการบริหารจัดการโครงการของนักวิจัยในระยะเวลา (Timeline) ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงระยะสิ้นสุด ทำให้ได้ทราบความสำคัญ ประโยชน์ที่จะได้รับ และคุ้มค่าการลงทุนวิจัยอีกด้วย การออกแบบเส้นทางสู่ผลกระทบ มีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Inputs) ผลผลิต (Outputs) ผลลัพธ์ (Outcomes) และ ผลกระทบ (Impacts)
😙
• Inputs ปัจจัยนำเข้า
คือ การแสดงให้เห็นถึงบุคลากรวิจัยและพัฒนา งบประมาณที่ได้รับ ระยะเวลาในการดำเนินงานวิจัยและอาจรวมถึงองค์ความรู้หรือผลการศึกษาที่ใช้เป็นพื้นฐานของงานวิจัยและพัฒนานั้น
☺️
• Outputs ผลผลิต
คือ ส่วนที่โครงการการวิจัยและพัฒนา จะ "ส่งมอบผลงาน” (keyword นี้คือหัวใจ) โดยสามารถระบุผลผลิตที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผลผลิตจากงานวิจัยและพัฒนา อาจเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ หลายประเภท และหลายระดับ ทั้งผลผลิตขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสุดท้าย ผลผลิตแต่ละชนิดหรือประเภทจะสัมพันธ์กับผู้ใช้ประโยชน์ สิ่งที่นักวิจัยและนักพัฒนา มักมีความสับสน คือการนำขั้นตอนการวิจัยมาอธิบายเป็นผลผลิตของงานวิจัย
สกสว. ให้ตัวอย่างของผลผลิต เช่น ต้นแบบผลิตภัณฑ์ หรือ เทคโนโลยี/กระบวนการใหม่ หรือนวัตกรรมทางสังคม การพัฒนากำลังคน หรือหน่วยงาน ที่ได้รับการพัฒนาทักษะ ต้นฉบับบทความวิจัย (Manuscript) ประเภทบทความในประเทศ และเครือข่าย เป็นต้น
😁
• Outcomes ผลลัพธ์
คือ สิ่งที่ผู้ใช้ประโยชน์และเกิดการยอมรับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
ผลลัพธ์ในระยะสั้น ให้พิจารณาระดับการยอมรับสำหรับกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัยและพัฒนากลุ่มแรกๆ หรือเรียกว่า กลุ่มภาคีเป้าหมาย (Target Partner) และต่อมาคือการขยายผลไปสู่การยอมรับในวงกว้างของกลุ่มภาคีอื่นๆ ในชุมชนหรือสังคม
นอกจากนี้ต้องอธิบายลักษณะการเปลี่ยนแปลงว่าภาคีผู้ใช้ประโยชน์แต่ละกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลง (change) อย่างไร เช่น ผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น คุณภาพของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เป็นต้น
สกสว. ให้นิยามของผลลัพธ์ คือผลที่เกิดขึ้นหลังจากโครงการ ววน.สิ้นสุดไปแล้ว โดยเป็นการนําผลผลิต (Output) ที่ได้ของโครงการพัฒนา ววน. ไปใช้ประโยชน์โดยผู้ใช้ (Users) ที่ชัดเจน ส่งผลทําให้ระดับความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรม การปฏิบัติ หรือทักษะของผู้ใช้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อเทียบกับก่อนการนําผลผลิตจาก โครงการมาใช้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากผลผลิตของโครงการที่เป็นทั้งผลิตภัณฑ์ การบริการ และเทคโนโลยี โดยภาคเอกชนหรือประชาสังคม ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดผลผลิตของโครงการเดิมที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ให้มี ระดับความพร้อมในการใช้ประโยชน์สูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ) เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลักดันนโยบาย แนวปฏิบัติ แผนและกฎระเบียบ กิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม ความร่วมมือหรือหุ้นส่วน ความร่วมมือ ทรัพย์สินทางปัญญา ผลงานตีพิมพ์ เป็นต้น
😃
Impacts ผลกระทบ
คือ องค์ประกอบสุดท้ายซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ในการอธิบายผลกระทบ สามารถพิจารณาจากการใช้ประโยชน์งานวิจัยและพัฒนาที่หลากหลายตามกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์เป็นวงกว้าง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผลลัพธ์ (outcome) ในวงกว้างทั้งด้านวิชาการ นโยบาย เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือผลสำเร็จระยะยาวที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้การแสดงผลกระทบนี้สามารถจำแนกออกเป็น 3 ด้านสำคัญประกอบด้วย
1) ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เช่น ปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น ลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รายได้สุทธิ(กำไร) ของกลุ่มผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น มีต้นทุนการผลิตลดลง คุณภาพสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รายได้สุทธิของภาคเกษตรเพิ่มสูงขึ้นจากผลของงานวิจัยที่นำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการภาครัฐ) เป็นต้น
2) ผลกระทบด้านสังคม เช่น เครือข่ายชุมชนมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น เกิดการรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชน การเพิ่มโอกาสทางเลือกในการประกอบอาชีพของชุมชน ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น เป็นต้น
3) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ดูตัวอย่างการเขียนจากภาพครับ


.......................
ท่านที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมจาก "การประเมินผลกระทบจากการวิจัยและพัฒนา"
โดย กัมปนาท วิจิตรศรีกมล ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์ วรภัทร จิตรไพศาลศรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สถาบันคลังสมองของชาติ, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว. )
😁😁😁
แบ่งปันโดย……ธัชธาวินท์ สะรุโณ 
ขอบคุณผู้เขียน ครับ


เขียนโดย : นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ekapong@mhesi.go.th

กำลังศึกษาและนำไปใช้ กับการเขียนข้อเสนอโครงการ เพื่อขอสนับสนุนงบ จากแหล่งทุน สกสว ภายใต้แพลตฟอร์ม ST 68 ค่ะ

เขียนโดย ดาวริน  สุขเกษม