Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
SCAMPER Technique เทคนิค วิธีการสร้างหรือกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ 462
ตามที่ สป.อว. ได้กำหนดให้ข้าราชการและพนักงานราชการ ต้องดำเนินการเข้ารับการพัฒนาตนเองผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 1 หลักสูตร/1รอบประเมิน นั้น ด้วยความใฝ่รู้แบบไม่มีอะไรแอบแฝง (จริงๆๆ ครับ) จึงได้ไปค้นหาหลักสูตรที่น่าสนใจ และได้เจอกับ “การแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ | Creative Problem-solving” จากเว็ปไซต์ https://academy.thaimooc.ac.th/
แค่ชื่อก็น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์กับการทำงานและการดำรงชีวิตแล้วใช่ไหมครับ เพราะการทำงาน และการดำรงชีวิตของเรานั้น ไอ้เจ้า “ปัญหา” คงแวะมาทักทาย สบตากับเราบ้างในบางวัน ไม่มากก็น้อย บล็อกนี้จึงขอมาแชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรมอย่างใฝ่รู้ ด้วยจิตใจใฝ่เรียน (จริงๆ ครับ) กับเทคนิควิธีการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์อย่าง SCAMPER Technique
.....
SCAMPER Technique คืออะไร ?
SCAMPER Technique คือเทคนิคที่จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ โดยการตั้งคำถามผ่านมุมมองทั้ง 7 คิดค้นโดย โดย Alex Osborn ในปี 1953 และต่อมาในปี 1971 นักจิตวิทยาชื่อว่า Bob Eberle ได้นำแนวคิดของ Osborn มาพัฒนาต่อยอด กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และวิธีการแก้ปัญหา เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ บริการ หรือวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ และหลายบริษัทชั้นนำระดับโลกก็ใช้ SCAMPER ในการคิดค้นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงคิดสร้างสรรค์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือเพิ่มประสิทธิภาพของงาน อีกด้วยครับ
SCAMPER
ประกอบขึ้นจาก 7 ตัวอักษร หรือ 7 มุมมอง ซึ่งสื่อความหมายถึงแนวคิดในการพัฒนาหรือปรับปรุง ได้แก่
ที่มารูปภาพ : https://www.facebook.com/InnohubKKU/photos/a.452679395089634/1345205679170330/?type=3
Substitute (การทดแทน) : การหาสิ่งใหม่ ๆ ส่วนผสมใหม่ ๆ หรือวิธีการใหม่ ๆ มาแทนที่ผลิตภัณฑ์เดิมหรือส่วนประกอบเดิม เช่น การใช้ไม้ไผ่ก่อสร้างแทนเหล็กเส้นและซีเมนต์ การใช้ AI ตอบคำถาม Call Center แทนมนุษย์
คำถามชวนคิด : - จะเอาอะไรมาแทนได้บ้าง?
- มีวัตถุดิบอื่น/แนวความคิดอื่น ใช้แทนได้ไหมนะ?
Cubstitute Combine (การผสมผสาน) เป็นการนำสองสิ่ง หรือ มากกว่านั้นมาผสมผสานกันจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ตัวอย่างที่เห็นภาพชัด ๆ เช่น โฮมสเตย์ (Home stay) ที่ผสมผสานกันระหว่างการเป็นที่พักและสถานที่ท่องเที่ยว หรือ นาฬิกา Smart Watch ที่รวมฟังก์ชั่นนาฬิกากับ fitness tracker และฟังชั่นอื่นๆ เป็นต้น
คำถามชวนคิด : - ถ้าอันนี้รวมกับอันนี้จะเป็นอย่างไรกันนะ?
- จะเกิดอะไรขึ้นถ้ารวมผลิตภัณฑ์นี้กับผลิตภัณฑ์อื่น ?
Adaptation/use differently (การดัดแปลง) การดัดแปลงสิ่งหนึ่งเพื่อใช้ประโยชน์อีกวัตถุประสงค์หนึ่ง หรือใช้ประโยชน์ในมุมอื่น หรือ การนำแนวคิดหรือสิ่งใหม่ ๆ มาปรับใช้เข้ากับสิ่งเดิม เช่น การนำเครื่องบินหรือเรือปลดระวางแล้วมาทำเป็นร้านอาหารหรือภัตตาคาร การนำล็อตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัลไปทำเป็นดอกไม้จันทน์หรือพวงหรีด เป็นต้น
คำถามชวนคิด : - สินค้านี้จะดัดแปลงไปทำอะไรได้อีกบ้าง ?
- จะเปลี่ยนกลไกลของสิ่งประดิษฐ์ได้หรือไม่ อย่างไร?
Modification / minify / magnify (การปรับปรุง / ลดขนาด / เพิ่มขนาด) การปรับการใช้งาน การทำงาน กลิ่น สี รสชาติ ขนาด หรือ การดัดแปลง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขบางส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ จากของเดิม เพื่อทำให้ดีขึ้น เช่น การปรับปรุงเซนเซอร์นาฬิกาให้สามารถทำงานได้หลากหลาย สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดประสิทธิภาพการนอนหลับ เป็นต้น
คำถามชวนคิด : - เราจะปรับปรุงกระบวนการ/ผลิตภัณฑ์นี้ได้อย่างไร?
- สามารถเพิ่มอะไรในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์นี้ได้?
Put to another use (การประยุกต์ใช้/การนำไปใช้ในอีกวัตถุประสงค์หนึ่ง) คำนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับการดัดแปลง หรือ Adaptation แต่จะเป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์กับสิ่งอื่น หรือ ลูกค้ากลุ่มอื่น เช่น การเปลี่ยนรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้หรือว่างจากการใช้งาน มาให้บริการเช่าแก่ผู้สนใจ
คำถามชวนคิด : - สามารถนำสิ่งนี้ไปใช้ประโยชน์อย่าอื่นได้ไหมนะ?
- สามาถใช้กระบวนการผลิตนี้ไปผลิตวัตถุดิบอื่น/สินค้าอื่นได้ไหม อย่างไร ?
Elimination (การลด เลิก กำจัด ตัดออก) การลด เลิก กำจัดหรือตัดขั้นตอนบางส่วนออกไป เพื่อก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่สะดวก รวดเร็วและประหยัดมากขึ้น เช่น การตัดปุ่มในโทรศัพท์จากเดิมที่ใช้แสกนนิ้วด้วนการสัมผัสออก มาเป็นการแสกนด้วยใบหน้าแทน
คำถามชวนคิด : - ขั้นตอนในบ้างในกระบวนการผลิตสินค้า/การให้บริการที่สามารถลด หรือตัดทิ้งไปได้?
- วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนใดบ้างที่เราสามารถลด หรือตัดทิ้งได้ ?
Rearrange / Reverse (การจัดรูปแบบใหม่/การทำกลับกัน การทำตรงกันข้าม) การเรียงกระบวนการใหม่ หรือ ย้อนกลับกระบวนการ เพื่อแก้ปัญหาหรือได้สิ่งที่ตรงกับความต้องการ เช่น การสร้างแบบผลิตภัณฑ์สมัยใหม่มักจะเริ่มจากการทำ User Experience หรือรับฟัง feedback จากผู้ใช้งานจริง ก่อนที่นำข้อมูลที่ได้มาเป็นแนวทางในการออกแบบหรือสร้างกระบวนการแก้ปัญหา ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด
คำถามชวนคิด : - จะเกิดอะไรขึ้นถ้ากลับกระบวนการนี้หรือจัดเรียงลำดับตามลำดับใหม่ ?
- ส่วนประกอบใดที่สามารถใช้ทดแทนเพื่อเปลี่ยนลำดับของผลิตภัณฑ์นี้ได้บ้าง ?
มาดูตัวอย่างผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการใช้ SCAMPER Technique กันบ้างนะครับ
ที่มารูปภาพ : https://designtechnology.ipst.ac.th/wp-content/uploads/sites/83/2019/01
นอกจาก SCAMPER Technique แล้วก็ยังมีเทคนิคอื่น ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเราอีก เช่น
- Integration Technique (Multiple Combinations) เทคนิคการบูรณาการ
- Observation and Creation Technique การสังเกตเห็นสิ่งหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่ง แล้วเกิดความคิดนำไปสร้างสรรค์อีกสิ่งหนึ่ง
- Classical Conditioning เทคนิคการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคของPavlov มาประยุกต์ใช้ในนำมากระตุ้นให้สินค้าหรือบริการมีคุณค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
....
และนี่คือส่วนหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าอบรมหลักสูตรออนไลน์อย่างใฝ่รู้ ด้วยจิตใจใฝ่เรียน (ย้ำว่า จริงๆครับ) ถ้าพี่ ๆ ท่านไหนมีเทคนิค หรือวิธีคิดที่เป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์ นำมาแชร์หรือบอกต่อกันได้นะครับ 😊
...
อ้างอิงข้อมูล :
https://apps.learn.thaimooc.ac.th/
https://medium.com/@pichartint/เทคนิคสร้างไอเดียนอกกรอบด้วย-scamper-2b2c0d3b42a6
https://www.sasimasuk.com/16667925/scamper-เทคนิคความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม
https://inskru.com/idea/-NMib_LsxL2R2z6O-dC6
https://www.dots.academy/post/คิดแก้ปัญหาด้วยเทคนิค-scamper
http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/5640/5/บทที่ 2.pdf
https://www.charnveeresortkhaoyai.com/th/blog/homestay-vs-resort/
เป็นหัวข้อที่น่าอ่านนค่ะ ความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้อีกเยอะนะคะ ขอบคุณข้อมูลดีๆ ค่ะ
คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกันค่ะ เนื่องจากที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาเลยค่ะ (หรืออาจจะไม่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว อิอิ) หากสามารถนำเทคนิคน้ไปใช้ได้จริง ก้น่าจะเป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ