บันทึกเส้นทางการพัฒนาระบบสารสนเทศเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ OAN  300

คำสำคัญ : oan  organic  อินทรีย์  สารสนเทศ  

บันทึกประวัติศาสตร์ OAN

วันที่ 23 สิงหาคม 2560 พวกเราชาว SDGsPGS ได้รู้จัก ผอ.เอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผอ.สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ภาคอีสาน ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด โดยดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ (ดร.จ๋อง เจ้าชายเกษตรอินทรีย์) ได้เชิญท่านมาเป็นวิทยากร ในการประชุมขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 20 จังหวัดภาคอีสาน ที่โรงแรมเจริญโฮเต็ล จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2560

วันนั้น ผอ.เอก ยังเคือง ดร.จ๋อง ไม่หาย เพราะได้รับเชิญมาบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ประมาณ 45 นาที ท่านเตรียมนำเสนอมากว่า 100 สไลด์ สุดท้ายได้เสนอเพียง 15 นาที แต่ท่านก็ได้ร่วมรับฟังการประชุมของเครือข่าย SDGsPGS อย่างเต็มอิ่ม เห็นพลังและเห็นโมเดลในการขับเคลื่อน

ผอ.เอกเผยว่าท่านอยากเห็นเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ได้มี "ข้อมูล" เพื่อการบริหารและการตัดสินใจในกิจกรรมค้าขายสินค้า สร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่ท่านก็ยังไม่เห็นกลุ่มไหนที่มีการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง ถึงกระนั้นท่านก็ได้ลงมือออกแบบพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเกษตรอินทรีย์ OAN ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ด้วยปนิธานที่ว่า "เมื่อแผ่นดินกลบหน้า ขอให้ได้ฝากมรดกฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ให้แก่ลูกหลาน ชนรุ่นหลัง และขอให้มีอาหารปลอดภัย อาหารอินทรีย์ได้บริโภคร่วมกัน" ผอ.พูดในหลายเวทีว่าท่านเห็นพลังของเจ้าชายเกษตรอินทรีย์ และเครือข่าย และเชื่อมั่นว่าน่าจะสามารถสร้างเนื้อหา (Content) เข้าระบบฐานข้อมูลที่ท่านกำลังพัฒนาได้ จึงได้เริ่มแตะมือกับทีมงาน SDGsPGS ปรับโมเดลและออกแบบฐานข้อมูลเพิ่มเต็ม โดยเฉพาะในส่วนของกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม SDGsPGS แล้วเริ่มนำออกมาให้พวกเราได้ลองใช้ในวันที่ 14 กันยายน 2560

ผ่านไป 2-3 เดือน ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะทำให้มีเกษตรกรมาใช้ระบบอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ได้มีหลายจังหวัดเร่ิมสอบถามวิธีการใช้งาน และได้ปรับปรุงเรื่อยๆ ผอ.แทบไม่หลับไม่นอน ใช้เวลาค่ำคืนส่วนใหญ่ในการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสได้หารือกับ ดร.จ๋องถึงแนวทางในการส่งเสริมการใช้ระบบ OAN ให้มากขึ้น ทำให้ ดร.จ๋องได้ลงมือศึกษาระบบที่ผอ.เอกพัฒนามาแล้วอย่างจริงจัง และเห็นว่าสิ่งที่ ผอ.เอกได้พัฒนามาแล้วสมบูรณ์เกือบ 100% ในกระบวนการ SDGsPGS ตั้งแต่การอบรมผู้ตรวจแปลง ไปจนถึงการออกหนังสือรับรองแปลงในระดับจังหวัด สุดยอดมากที่ ผอ.เอก ได้แปลงกระบวนการในการตรวจแปลง การรับรองแปลงเป็นระบบที่จะรองรับข้อมูลจริงได้อย่างสมบูรณ์

อีกท่านหนึ่งที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล คือพี่พรรษวรรณ จันทร์ดี จากกรมการค้าภายใน หลังจากที่ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมประชารัฐ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ปี 2561 จึงได้ออกแบบให้การพัฒนาระบบฐานข้อมูล OAN เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ทำให้เราสามารถนำเสนอระบบ OAN ให้กับ 8 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการด้วย ได้แก่สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สกลนคร น่าน แม่ฮ่องสอน อุดรธานี และเพชรบูรณ์ โดยมี 2 จังหวัดแรกที่ได้มีกระบวนการอบรมผู้ตรวจแปลง ตรวจแปลง ประชุมกลั่นกรอง และประชุมรับรอง แต่ยังเป็นการนำเสนอข้อมูลการรับรองนอกระบบคือสกลนครและสุพรรณบุรี ซึ่งมีความขลุกขลักพอสมควรในการทำการประมวลผลข้อมูล สุดท้ายผอ.เอก ได้พัฒนาให้กระบวนการทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ในระบบ ตั้งแต่การนำเข้าข้อมูลผู้ตรวจแปลง ข้อมูลกลุ่มเกษตรกร ข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลแปลงเกษตรกร ข้อมูลผลการตรวจแปลงซึ่งจัดทำเกณฑ์ 22 ข้อของ SDGsPGS ในระบบ พัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของการประชุมกลั่นกรอง และการประชุมรับรองแปลง มีการออกแบบให้ระบบสามารถออกรายงานข้อมูลกลั่นกรอง และออกหนังสือรับรองได้ทันทีหลังจากการประชุมรับรอง โดยออกแบบใบเซอร์ที่สวยงาม มีรายละเอียดครบถ้วนของเกษตรกร แปลงเกษตรกร การตรวจแปลง การกลั่นกรอง การรับรอง ผลการรับรอง และลงลายชื่อผู้รับผิดชอบออกหนังสือรับรอง ตลอดจนสัญลักษณ์ที่สามารถนำไปใช้ติดกับผลิตภัณฑ์และ QR Code สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้อีก 6 จังหวัดภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนโดยกรมการค้าภายในได้ประโยชน์จากใช้ระบบ OAN อย่างเต็มที่และเป็นรูปธรรม

ระบบ OAN ได้กลายเป็น "Heart beat" จังหวะเต้นของหัวใจของเครือข่าย SDGsPGS อย่างเต็มภาคภูมิ และเป็นจุดแข็งที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในระบบการรับรองของ SDGsPGS ไปทั่วประเทศ จาก 8 จังหวัด ไปสู่ 40 จังหวัดในปี 2562 และกำลังนำไปสู่ 60 จังหวัด ภายในสิ้นปี 2564 ปัจจุบัน มีแปลงเกษตรอินทรีย์ในระบบ OAN มากกว่า 10,000 แปลง มีแปลงที่ผ่านการรับรองทั้งที่เป็นแปลงอินทรีย์และระยะปรับเปลี่ยนไปแล้วมากกว่า 6,000 แปลงทั่วประเทศ และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจำนวนแปลง จำนวนไร่ จำนวนเกษตรกร กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะแต่ละจังหวัดสามารถขับเคลื่อนกระบวนการ SDGsPGS ได้เองแบบอัตโนมัติ (autonomous) พร้อมๆกันทั่วประเทศ

ผอ.เอก ไม่เคยหยุดพัฒนาระบบ OAN นอกจากทำการสนับสนุนการใช้งานให้กับพี่น้อง SDGsPGS ทั่วประเทศ อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังพัฒนาการหน้าจอการใช้งานใหม่ๆเพิ่มออกมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะการให้เกษตรกรเจ้าของข้อมูลสามารถอัพเดทข้อมูลกิจกรรมฟาร์ม ต้นทุนฟาร์ม และข้อมูลการจัดการผลผลิตแบบออนไลน์ ซึ่งจะเชื่อมโยงอย่างมีนัยยะสำคัญไปสู่การจัดการผลผลิตโดย "วิสาหกิจเพื่อสังคม" หรือ SE ที่มีหน้าที่จัดการผลผลิตจากแปลงเกษตรกรออกสู่ตลาดของแต่ละจังหวัดอย่างเป็นระบบ ซึ่ง ผอ.เอก ได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำไปสู่การส่งเสริมให้มีการใช้งานอย่างเต็มที่

การอบรมการใช้งานระบบ OAN จากตอนแรกใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง ต้องเพิ่มเวลาเป็น 1 วันเต็ม และต่อมา 2 วันเต็ม และ 4 วันเต็มหากรวมการอบรมเพื่อการใช้งานในส่วนของ OFM (Organic Future Market) ด้วย

ระบบ OAN ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ SDGsPGS ขายสินค้าได้มูลค่าปีละหลายล้านบาท และถ้าประเมินมูลค่าของระบบ และข้อมูลในระบบ OAN และ OFM ปัจจุบันน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท และมูลค่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

โมเดลการขับเคลื่อน SDGsPGS ให้ความสำคัญกับเครื่องมือ 4 ตัว ได้แก่ 1) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS 2) ข้อมูล เพื่อการบริหารและการตัดสินใจ 3) กลไกเจ้าภาพในการขับเคลื่อนสัมมาชีพเต็มพื้นที่โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ได้แก่สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดและกลไกธุรกิจในรูปวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) และ 4)การบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายเดียวกัน (Core Team) เครื่องมือทั้ง 4 ตัวนี้กำลังทำงานตามโมเดลอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละจังหวัดและระดับชาติ รวมถึงความสำคัญของระบบ OAN และ OFM ด้วย

จึงสมควรเขียนบันทึกประวัติศาสตร์นี้เพื่อเชิดชูเกียรติ ผอ.เอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้พัฒนาระบบ OAN และ OFM เพื่อพี่น้องเกษตรกรและพวกเราชาว SDGsPGS สิ่งที่พวกเราสามารถตอบแทนท่านได้ไม่ใช่เงิน แต่เป็นมิตรภาพ การเข้ามาใช้งานในระบบให้สมกับกำลังกาย กำลังใจความทุ่มเท และกำลังทรัพย์ที่ท่านได้ลงทุนเพื่อพวกเรา และผลผลิตแม้เพียงเล็กน้อย ส่งไปสมนาคุณ ขอบคุณท่านที่ได้ช่วยเหลือพวกเรา เพื่อเป็นแรงใจให้ท่านได้มีกำลังใจในการร่วมปฏิรูปและพัฒนาประเทศให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ต่อไป

#SDGsPGS_นวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปเกษตรกรรมยั่งยืนไทย
#SDGsPGS_ถูกต้อง_เป็นธรรม_สัมมาชีพ
#ประเทศไทยหัวใจอินทรีย์_SDGsPGS
#SDGsPGS_toward_Thailand_Kingdom_of_Organic

//เขียนโดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เจ้าชายเกษตรอินทรีย์ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย (TSATA - ทีซาต้า)
วันที่ 14 กันยายน 2564 


เขียนโดย : นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ekapong@mhesi.go.th