อว. กับ Soft Power (ภาค 1)  1028

คำสำคัญ : SoftPower  5F  

สังคมบนโลกในยุคปัจจุบันเป็นแบบหมู่บ้านโลก (global village) เป็นโลกไร้พรมแดน ประเทศระดับผู้นำโลกหันมาขยายอิทธิพลของตนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยอาศัย “อำนาจละมุน” หรือ “อำนาจแบบอ่อน” (soft power) มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การชักจูงหรือการโน้มน้าวประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามความประสงค์ โดยการสร้างเสน่ห์ ภาพลักษณ์ ความชื่นชม และความสมัครใจพร้อมที่จะร่วมมือ อำนาจในลักษณะนี้เป็นที่ยอมรับมากกว่าการใช้อำนาจแบบแข็งหรืออำนาจในเชิงบังคับ (hard power) เช่น มิติอำนาจทางการทหาร ซึ่งประเทศไทยมี soft power ที่โดดเด่นและเป็นที่ยกย่องยอมรับในระดับโลกหลายด้าน เช่น วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และอาหาร หากมีการเสริมสร้างบูรณาการเชิงวิชาการผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา จะทำให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและการพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างมีส่วนร่วมในทุกมิติได้

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาอาหารไทยได้สร้างชื่อเสียงบนเวทีโลกจนกลายเป็นจุดขายของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการผลักดันของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2545 ที่สร้างแคมเปญ “Global Thai” เพื่อผลักดันอาหารไทยสู่สายตาชาวโลก จำนวนนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ขาดสายและมีอัตราตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในเหตุผลหลักที่นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางมายังประเทศไทยคือ ต้องการมาลองลิ้มชิมรสอาหารไทยด้วยตัวเอง

รัฐบาลไทยได้ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ประกอบด้วย อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และการอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) ซึ่งเชื่อว่ายังจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมส่งออกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19 ที่สำคัญของไทยด้วย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญกับ ‘มรดกวัฒนธรรม’ และ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ซึ่งเป็นพลังสำคัญของการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมสมอง ศึกษาวิจัย ทำงาน สร้างสรรค์อย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมา อว.ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอันสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้แนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้วิสัยทัศน์ “เปลี่ยนข้อได้เปรียบ (Comparative Advantage) ที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลกเกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย อว. ได้นำเสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ต่อคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ในการร่วมขับเคลื่อนวาระแห่งชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับ soft power ไม่มากนัก ไม่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ชาติโดยตรงที่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ขณะที่ภาควิชาการเองยังศึกษาวิจัยในบริบทของมรดกทางวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทว่ายังมีประเด็นอื่น ๆ อีกมากที่จะสามารถสร้าง “พลังอำนาจ” ให้กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบทบาทด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แนวคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เริ่มมีนโยบายปรากฏ แม้ไม่ได้ถูกกำหนดอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 แต่ก็นำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นองค์กรเฉพาะด้านเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ และเริ่มเด่นชัดขึ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งเน้นการนำความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ฉบับแรก พ.ศ. 2563-2565 และฉบับที่สอง พ.ศ. 2566-2570 ได้บรรจุเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติด้วยเช่นกัน

ดังนั้น โจทย์ท้าทายสำคัญของ อว. คือ ประเทศไทยมีของดีประจำถิ่นอยู่มากมาย มี soft power หลากหลายในชุมชนต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศที่ได้รับการยกย่องเชิดชู แต่จะทำอย่างไรให้ภูมิปัญญามรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้ กลับมาเป็นสินทรัพย์ที่สร้างรายได้และการทำมาหาเลี้ยงชีพให้คนรุ่นหลังในท้องถิ่น แปลง‘วัฒนธรรมลำ้ค่า’ เป็น ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้อาหารไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย การแพทย์แผนไทย การนวดไทย และแหล่งท่องเที่ยวของไทย ให้แบรนด์ประเทศไทยปรากฏแก่สายตาชาวโลกผ่านการท่องเที่ยวและสื่อต่าง ๆ ให้คนทั่วโลกเข้ามาสัมผัส เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสัมผัสเสน่ห์แบบไทย ตลอดจนมีกระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผ่านการคิดสร้างสรรค์และออกแบบให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยผสานกับวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เช่นเดียวกับเกาหลีใต้และมหาอำนาจอื่น ๆ ขณะเดียวกันยังสามารถรับมือและตอบสนองต่อนโยบายการเพิ่ม soft power ของประเทศต่าง ๆ อย่างเหมาะสมท่ามกลางการไหลบ่าของวัฒนธรรมสมัยนิยมรูปแบบต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ รวมถึงการยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก

 

ที่มา : ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ววน. ขับเคลื่อน Soft Power สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (สกสว.)


เขียนโดย : ดร.เอกชัย   เขื่อนมณี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : aekachai@mhesi.go.th

ก้าวต่อไปของ อว. ในเรื่องของ Soft Power จะเป็นอย่างไรต่อไป ในภาค 2

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี

ติดตามอ่านตอน 2 ครับ

เขียนโดย นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ

ขอบคุณค่ะ พี่เอกกี้ ทำให้หนูเข้าใจเรื่องนี้ มากยิ่งขึ้น และเห็นภาพของคำว่า Soft power มากขึ้น และจะได้นำไปปรับให้เข้ากับงานอีเว้นท์ ของทางภาคเหนือ ที่จะจัดในช่วง 24-25 กพ. นี้ จะได้นำผลิตภัณฑ์ที่สื่อความเป็นไทย ของเราที่ผ่านการพัฒนาและเพิ่มมูลค่า จากทั้ง 3 ภูมิภาค ทั้งสิ่งทอ และอาหาร สมุนไพรต่างๆ ไปนำเสนอผ่านงานอีเว้นนี้ ให้สอดคล้องกับนโยบาย ไปด้วยค่ะ.....รอติดตามเรื่องราวดีๆ จากพี่เอกกี้ ต่อนะคะ

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล

ขอบใจจ้าน้องฮ๊อป ที่พี่ทำเรื่องนี้ได้เพราะน้องฮ๊อปและทีม ปค. ที่น่ารักๆ ทั้งหลายคนคอย support ข้อมูล ร่วมมือร่วมใจ และให้กำลังใจเป็นอย่างดีเสมอมาจ้า ขอให้งานวันที่ 24-25 ก.พ. นี้ราบรื่นนะจ๊ะ แล้วมาอัพเดตเขียนบล็อกในนี้ด้วยนะ รออ่านอยู่ <3 <3 <3

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี

ยินดีที่สุดเลยค่ะ ขอบพระคุณมากๆ เลยค่ะพี่เอกกี้ อิอิ

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล

ขอบคุณสำหรับความรู้นะคะพี่เอกกี้ รอติดตามภาคสองอยู่ค่ะ 

เขียนโดย นางคัทลียา  สุเมฆะกุล

นอกจากนี้ทางโครงการ UBI เองก็สามารถสร้างการบ่มเพาะเพื่อสนับสนุน Soft Power เฉพาะทางได้อีกนะคะ เช่น การบ่มเพาะธุรกิจด้านการออกแบบและแฟชั่น ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง 

และอยากเสนอการทำ Soft Power ที่เราควรทำ BenceMark Soft Power -ของต่างชาติเทียบเคียง เพื่อให้ Soft Power ไทยมีกลยุทธในการแข่งขันที่ชัดเจน  ดังตัวอย่าง

 

 

อีกทั้งเนื่องจากประเทศไทย มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน ซึ่งสมารถทำ Soft Power ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะลงไป เช่นตัวอย่างของ Soft Power อีสานสไตล์ เป็นต้น ค่ะ

 

เขียนโดย นางสาวชลิศา  ทรัพย์พร

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก ดร.ฟ้า ด้วยครับ ข้อมูลแน่นจริงๆ

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี

Soft Power ภาค 2 ในส่วนของตัวเองยังไม่สามรถไปต่อได้ รอนโยบายอยู่ครับ เป็นหัวข้อสุดฮิตที่มีคนเล่นเยอะ

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี