การประชุมคณะรัฐมนตรีคืออะไร และประชาชนได้อะไรจากการประชุมคณะรัฐมนตรี  34

คำสำคัญ : คณะรัฐมนตรี  รัฐบาล  วุฒิสภา  

การประชุมคณะรัฐมนตรีคืออะไร และประชาชนได้อะไรจากการประชุมคณะรัฐมนตรี

 

คณะรัฐมนตรี เป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งโดยทั่วไป คณะรัฐมนตรีจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เพื่อกําหนดเป็นนโยบาย และพิจารณาเรื่องที่ส่วนราชการเสนอเข้าสู่การพิจารณา รวมถึงเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีด้วย โดยผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเรื่องต่าง ๆ จะปรากฏ ออกมาเป็น “มติคณะรัฐมนตรี” ที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ต้องถือปฏิบัติ หรือดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรีจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนทั้งในด้านปากท้องและคุณภาพชีวิต การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ

 

คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจัดการประชุม ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ทําเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีทุกสมัยจะกําหนดประชุมวันอังคาร โดยถือตามความสะดวกที่ว่าวันพุธและวันพฤหัสบดีมักเป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันศุกร์เป็นวันประชุมวุฒิสภา ส่วนวันจันทร์เป็นวันแรกที่รัฐมนตรีกลับจากการเยี่ยมเยียนราษฎรหรือปฏิบัติราชการในต่างจังหวัด จึงอาจยังไม่ทันเตรียมการเกี่ยวกับการประชุมคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกทำเนียบรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงปัญหาของประชาชนด้วย

 

การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เสนอได้เฉพาะเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) เรื่องที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี หรือให้ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี

(๒) ร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกําหนด

(๓) เรื่องที่ต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภาอนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบ

(๔) ร่างพระราชกฤษฎีกา

(๕) ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับนโยบายสําคัญที่คณะรัฐมนตรีกําหนด

(๖) ร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับ หรือร่างประกาศที่มีผลบังคับแก่ส่วนราชการโดยทั่วไป

(๗) เรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มี ผลผูกพันรัฐบาลไทย

(๘) การริเริ่มโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีวงเงิน ตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด เว้นแต่โครงการลงทุนที่กําหนดในแผนงานที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือเห็นชอบกับแผนงานนั้นแล้ว

(๙) เรื่องที่ขอทบทวน หรือยกเว้นการปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรี ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ

(๑๐) ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีลักษณะเป็น ระเบียบปฏิบัติราชการทั่วไปหรือจะมีผลเป็นแนวบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการ

(๑๑) เรื่องที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินนอกเหนือจากที่ได้รับ อนุมัติไว้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจําปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

(๑๒) เรื่องที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล นําเสนอหรือมีคําสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรี

(๑๓) เรื่องที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี

 

การประชุมคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งจะมีผลการประชุมคือมติคณะรัฐมนตรีในเชิงนโยบายหลายเรื่อง ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเชิงนโยบายดังกล่าว นําไปสู่การแก้ปัญหาแก้ประชาชนทั้งในด้านปากท้องและคุณภาพชีวิต การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ เช่น มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย นโยบายเกี่ยวกับการจ่ายงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง นโยบายเกี่ยวกับด้านการศึกษา ฯลฯ

 

ที่มา :สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี


เขียนโดย : นางสาวทิพวัลย์  เวชชการัณย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : tipawan@mhesi.go.th