การติดตามและประเมินผลการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค  79

คำสำคัญ : สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ  

มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 กำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ซึ่งได้กำหนดให้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ปัจจุบัน คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเป็นประจำทุกปี ซึ่ง สป.อว. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเป็นประจำทุกปีได้ร่วมกับ สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยระดับศูนย์ภูมิภาค 5 แห่ง มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชุมชนทั่วประเทศ ได้จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะ “พระบิดาแห่ง วิทยาศาสตร์ไทย” และเพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนักการเรียนรู้ การสร้างจินตนาการการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

 

กปว. ได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายโครงการสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนั้น จึงได้กำหนดแผนการลงพื้นที่เพื่อติดตามและประเมินผล การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติฯ ตั้งแต่วันที่ 13 - 21 สิงหาคม 2567  

ลำดับ

วันที่

พื้นที่จังหวัด

1

13 - 14 สิงหาคม 2567

เชียงราย

2

14 - 16 สิงหาคม 2567

ชลบุรี จันทบุรี สระแก้ว

3

15 - 16 สิงหาคม 2567

ยโสธร อุบลราชธานี

4

16 สิงหาคม 2567

สตูล

5

16 - 19 สิงหาคม 2567

ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู เลย

6

17 - 20 สิงหาคม 2567

พิษณุโลก เพชรบูรณ์

7

18 - 19 สิงหาคม 2567

พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์

8

18 - 20 สิงหาคม 2567

แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่

9

18 - 21 สิงหาคม 2567

สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช

10

19 สิงหาคม 2567

พัทลุง

 

 

 

ข้อคิดเห็นเสนอแนะ

- มหาวิทยาลัยแกนนำและมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาคมากกว่าวิทยาลัยชุมชนและสถาบันการศึกษาขนาดเล็กมากกว่า 5 เท่า แต่มีการกำหนดให้จัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างน้อย 5 กิจกรรมเหมือนกัน ดังนั้น ควรมีการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนให้กับวิทยาลัยชุมชนและสถาบันการศึกษาขนาดเล็กให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถาการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งวิทยาลัยชุมชนและสถาบันการศึกษาขนาดเล็กเหล่านี้ มีศักยภาพในการดึงนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เข้ามาร่วมกิจกรรม แต่งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก สป.อว. ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่

- บางมหาวิทยาลัย/สถานศึกษา เลื่อนกำหนดการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาคให้คร่อมวันที่ 18 สิงหาคม จากกำหนดการเดิม ดังนั้น จึงควรชี้แจงและทำความเข้าใจว่ามหาวิทยาลัย/สถานศึกษา สามารถจัดกิจกรรมล่วงหน้า โดยไม่ต้องคร่อมวันที่ 18 สิงหาคมได้ เพียงแต่ในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี ที่กำหนดเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ต้องมีการจัดพิธีวางพานพุ่มพร้อมกันทั่วประเทศเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาประเทศ

- แบบสำรวจความพึงพอใจในการการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาคของ สป.อว. ใช้เกณฑ์การประเมินเป็นแบบช่วง (เช่น ช่วงคะแนน 8 – 10 คือ ดีมาก) ในขณะที่มหาวิทยาลัย/สถานศึกษาส่วนใหญ่ใช้เกณฑ์ Hedonic Scale(เช่น คะแนน 5 คือ ดีมาก) ดังนั้น การสำรวจความพึงพอใจดังกล่าว ควรใช้เกณฑ์เดียวกัน เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานและดำเนินการในทิศทางเดียวกัน


เขียนโดย : ดร.เอกชัย   เขื่อนมณี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : aekachai@mhesi.go.th

ในปีนี้ผมเองก็ได้มีโอกาสติดตามการจัดงานของวิทยาลัยชุมชนเหมือนกันครับ ซึ่งผมได้ให้เสนอเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1.เรื่องงบประมาณผมเองก็ได้แนะนำให้เขาขอเพิ่มเติมจากหน่วงานอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อลดความเสี่ยงหากไม่ได้รับงบจาก สป.อว. หรือเพื่อจัดงานให้สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคณะครูและนักเรียนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น
2.การประสานเชิญกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรม  บางแห่งเชิญแค่ 8 โรงเรียนในพื้นที่ใกล้ที่ตั้งของวิทยาลัย ซึ่งถือว่าน้อยมาก ความจริงวิทยาลัยชุมชนเองก็มีโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายครูพี่เลี้ยงกระจายอยู่ทุกอำเภอ ซึ่งอาจจะใช้จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการประสานเชิญกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมได้ครับ

เขียนโดย นายชุมพล  เยาวภา

ขอบคุณชุมพลมาก ๆ ครับ ที่ให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนางานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค รวมทั้งให้การสนับสนุนในการลงพื้นที่ติดตามประเมินผลด้วย

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี

ขอมาแลกเปลี่ยนความประทับใจที่ไปมา 3 แห่งน่ะค่ะพี่เอกกี้ 

1. ม.นเรศวร จัดกิจกรรมได้ยิ่งใหญ่และเด็กๆ มาร่วมเยอะมาก พิธีเปิดและพิธีวางพานพุ่มจัดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมได้ ทำให้รู้สึกว่าจัดได้ดีมาก มีการฉายเรื่องราวที่มา ของวันวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างน่าสนใจ หน่วยงานร่วมจัดก็หลากหลาย ทั้ง ปตท. และท้องถิ่น รวมทั้งกิจกรรมที่นำมาร่วมจากคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย สร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ ให้เด็ก ๆ ได้ดีมากๆ เลยค่ะ

2. มรภ.พิบูลสงคราม แม้ว่า จะจัดรวมอยู่ในสถานที่หอประชุมแห่งเดียวไปเลย แต่เห็นข้อดีมากๆ คือปลอดภัยสำหรับเด็กๆ เด็กเล็ก ที่คุณครู พามาแล้วจะดูแลความปลอดภัยได้ง่าย และรวมกิจกรรมไว้ในหอประชุมให้เห็นได้อย่างชัดเจน ว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรม ที่ศูนย์พิพิธภัณฑ์ ที่วังจันทร์ ใกล้ๆ ตัวมหาวิทยาลัยฯ และเดินทางไปร่วมได้ไม่ยาก มีการถ่ายทอดวิถีชีวิตต่างๆ ของกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ

3. มรภ.เพชรบูรณ์ ที่จัดกิจกรรมในหอประชุม ที่หาได้ง่ายและมีป้ายบอกทางและป้ายบอกการจัดงานได้อย่างชัดเจน และโชคดี่ที่ไปทันเจอเด็กๆ กำลังเดินเข้างานกันเป็นขบวน น่ารักมากๆ ค่ะ กิจกรรม ก็มีความหลากหลายสนุกสนาน ทั้งการประกวด เดินแบบ แฟชั่นโชว์ เรื่องการนำวัสดุ เหลือใช้มาประยุกต์ทำเป็นเสื้อผ้าของตกแต่ง แล้วนำมาเดินแบบแข่งกัน ร่วมกันหลายๆ หน่วยงาน ทั้งวิทยาลัยต่างๆ ก็มารวมประกวด ได้ยินเสียงเด็ก ๆ กรี้ดกร๊าด สนุกมากค่ะในงาน ถือว่าเป็นกิจกรรมไฮไลท์ เลยก็ว่าได้ แต่เสียดายที่จรวดขวดน้ำ ที่สนามกีฬา เจอฝนตกเลยสงสารผู้เข้าร่วมแข่งขันมากค่ะ แต่ดีที่น้องๆ ก็ยังดูสนุกสนานกันมากค่ะ

ทั้งนี้ขอบคุณมาก ๆ ที่ ผยส. ได้ให้โอกาสได้ไปร่วมติดตามสังเกตการณ์ ค่ะ สนุกและประทับใจมาก ๆ ค่ะพี่เอกกี้ 

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล

ขอบคุณน้องฮ๊อปมาก ๆ ที่ให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนางานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติส่วนภูมิภาค รวมทั้งให้การสนับสนุนในการลงพื้นที่ติดตามประเมินผลด้วย

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี