ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR)  67

คำสำคัญ : ระบบติดตามประเมินผล  eMENSCR  

พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560กำหนดให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ตามระยะเวลาและรายการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด

ระเบียบว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้การรายงานดังกล่าวจัดทำผ่านระบบสารสนเทศเป็นหลัก สำนักงานฯ จึงได้จัดทำระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานของรัฐใช้รายงานผลการดาเนินการตามแผนระดับต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่ง “หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย” (หน่วยงานที่เป็นของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือในรูปแบบอื่นใด และไม่ว่าจะเป็นองค์กรในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ) มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานฯ ดังนั้นการใช้งานระบบ eMENSCR ในการรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำโครงการต่าง ๆ ในการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม สาธารณะ และประเทศชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการนำเครื่องมือที่เรียกว่า “eMENSCR” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระบบสารสนเทศที่สามารถติดตามการทำงาน ประเมินผล และสามารถนำมาช่วยในการวิเคราะห์โครงการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่จุดหมายและบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมถึงการลดอุปสรรค ข้อจำกัด และกับดักเดิม ๆ ของภาครัฐที่ต่างคนต่างทำงาน

“eMENSCR”หรือ Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform เป็นระบบสารสนเทศที่ใช้ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานผ่านแผนงาน โครงการหรือการดำเนินการต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยเป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากส่วนราชการต่าง ๆ ได้อย่างบูรณาการ

นอกจากนี้ eMENSCR ยังเป็นระบบ Paperless system เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเผยแพร่รายงานสรุปผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบ ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามประเมินผล และเป็นระบบฐานข้อมูลกลางที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างบูรณาการ ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน รวมทั้งช่วยลดภาระการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการชี้แจงต่าง ๆ ของหน่วยงานอีกด้วย

จุดเริ่มต้นของ eMENSCR เกิดขึ้นจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมหารือกันในการนำระบบที่ตอบโจทย์เรื่องนโยบายทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการการจัดทำโครงการ ขั้นตอนการติดตามผล สู่ผลลัพธ์ระยะยาว โดยสามารถสร้างให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันได้ ทุกภาคส่วนสามารถเห็นข้อมูลร่วมกัน เห็นความซ้ำซ้อนของโครงการเพื่อจัดสรรงบประมาณการดำเนินงานที่เหมาะสม หรือสร้างโครงการใหม่ที่ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น

โดย eMENSCR จะเป็นระบบ Open data มีเนื้อหาและเครื่องมือใน 7 หัวข้อหลัก ที่ประกอบด้วย ส่วนรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนระดับที่ 1 และ 2 แสดงข้อมูลของแผนแม่บทระดับชาติ ส่วนรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมทั้งแสดงโครงการที่มีความสอดคล้องกับแต่ละเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ส่วนสรุปจำนวนโครงการตามยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศส่วนรายงานจำนวนโครงการที่สอดคล้องกับแผนแต่ละระดับ ส่วนแสดงจำนวนโครงการจำแนกตามสถานะการอนุมัติโครงการ ส่วนแสดงโครงการทั้งหมด และส่วนแสดงข้อมูลสถานการณ์รายงานความก้าวหน้าของโครงการ

 

eMENSCR สามารถตรวจสอบโครงการที่รองรับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

เมื่อระบบสารสนเทศติดตามประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) สามารถติดตามและประเมินผลของโครงการภาครัฐต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สามารถเป็นกลไกหลักในการติดตามประเมินผลการทำงานของส่วนราชการได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติอย่างแท้จริงต่อไป

ข้อคิดเห็นเสนอแนะ

เนื่องจาก ยส. เป็นผู้กรอกข้อมูลในระบบ eMENSCR ให้กับทุกโครงการ/กิจกรรมของ กปว. ดังนั้น บุคลากรโดยส่วนใหญ่ของ กปว. จะไม่รู้จักและคุ้นเคยกับระบบนี้ ดังนั้น ในการประชุมกองประจำเดือน (กปว. Talk) อาจมีการทำ Knowledge Sharing เรื่อง ระบบ eMENSCR เพื่อสื่อสารและชี้แจ้งให้บุคลากร กปว. มีความรู้และความเข้าใจในระบบฯ ต่อไป


เขียนโดย : ดร.เอกชัย   เขื่อนมณี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : aekachai@mhesi.go.th