บทบาทใหม่อันไฉไล ในการประกวด MHESI MUSIC VARIETY AWARD 2024  63

คำสำคัญ : MHESIMusicVarietyAward  อว.แฟร์  ประกวดวงดนตรี  

ผ่านพ้นไปแล้วอย่างสวยงามกับการจัดกิจกรรมการประกวดวงดนตรีผสมผสานประกอบการแสดงวัฒนธรรมพื้นถิ่นไทย ระดับอุดมศึกษา (MHESI MUSIC VARIETY AWARD 2024)ชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 640,000 บาท ภายใต้งานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ หรืองาน อว.แฟร์ : Sci Power For Future Thailandของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านศิลปะการดนตรีของนิสิตและนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีด้านศิลปวิทยา อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ด้านดนตรี ตามนโยบายของรัฐบาลผ่านกิจกรรมที่มีความสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้แถลงข่าวการจัดประกวดวงดนตรีผสมผสานประกอบการแสดงวัฒนธรรมพื้นถิ่นไทย ระดับอุดมศึกษา (MHESI MUSICVARIETY AWARD 2024) ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยกิจกรรมการประกวดแบ่งออกเป็น 2 รอบ คือ การประกวดในระดับภูมิภาค ในทุกวันพฤหัสบดีถึงวันเสาร์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน จนถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม 2567 ในพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จำนวน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันเสาร์ที่ 22 มิ.ย. 2567 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ภาคเหนือ ในวันเสาร์ที่ 29 มิ.ย. 2567 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ ในวันเสาร์ที่ 6 ก.ค. 2567 ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคกลาง - ตะวันออก ในวันเสาร์ที่ 13 ก.ค. 2567 ที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี และการประกวดชิงชนะเลิศระดับประเทศ ในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 ในงาน อว.แฟร์ : Sci Power For Future Thailand ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

ซึ่งที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอันดี โดยได้รับการชักชวนจากทีม ปค. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดงาน MHESI MUSICVARIETY AWARD 2024ในระดับภูมิภาค ให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการคัดเลือกในระดับภาคใต้ ในวันเสาร์ที่ 6 ก.ค. 2567 ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ 2 ทีมจากภาคใต้ ได้แก่ ทีมดอกปาริฉัตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและทีม WU Band มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมการประกวดชิงชนะเลิศระดับประเทศ ในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567

 

ซึ่งผลการประกวดรอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ ในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 ภายในงาน อว.แฟร์ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่า วงศิษย์ลูกแม่ไท้ (มรภ.รำไพพรรณี) คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมประกาศนียบัตรและเงินรางวัล 100,000 บาท สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ดอกปาริฉัตร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้รับถ้วยรางวัลจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พร้อมประกาศนียบัตรและเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ Labha Land Symphonic Band (ลพแลนด์ ซิมโฟนิค แบนด์) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้รับถ้วยรางวัลจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. พร้อมประกาศนียบัตรและเงินรางวัล 30,000 บาท

สำหรับรางวัล POPULAR VOTE ได้แก่ ศิษย์ลูกแม่ไท้ (รำไพพรรณี) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้รับประกาศนียบัตรและเงินรางวัล 20,000 บาท โดยรางวัลนี้ได้จากยอดการกด Like กด Share คลิปการประกวดฯในระดับภูมิภาค ผ่านทาง Facebook และ TikTok ที่มากที่สุด โดยได้คะแนนรวม 79,781 คะแนน

 

ข้อคิดเห็นเสนอแนะ

จากการที่ได้เป็นกรรมการการประกวด MHESI MUSICVARIETY AWARD 2024ที่ภาคใต้ และได้เดินทางไปเยี่ยมชมการประกวดในระดับภูมิภาค รวมถึงการเข้าชมการประกวดในรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ในงาน อว.แฟร์ : Sci Power For Future Thailand ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร มีข้อสังเกตและข้อคิดเห็นเสนอแนะ ดังนี้

- การประกาศรับสมัครในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน เป็นช่วงที่น้อง ๆ นิสิตนักศึกษา ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างปิดภาคเรียน ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอในการรวมทีมและฝึกซ้อม ดังนั้น ในการจัดงานครั้งต่อไป ควรประกาศรับสมัครแต่เนิ่น ๆ ก่อนช่วงปิดเทอม รวมทั้งควรเพิ่มระยะเวลาในการรับสมัครให้มากขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

- การจัดงานในพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นเสมือนการจัดงานในพื้นที่ปิด เนื่องจากสถานที่ตั้งไม่ได้อยู่ในแหล่งชุมชน ทำให้นิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะจากต่างสถาบัน รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป ไม่สามารถเข้าถึงงานประกวด MHESI MUSICVARIETY AWARD ได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้นในครั้งต่อไป ควรมีการจัดงานในแหล่งชุมชนที่สามารถสร้าง engagement ได้สูง

- การจัดงาน MHESI MUSICVARIETY AWARDในระดับภูมิภาค มีการประชาสัมพันธ์น้อยมาก เมื่อเทียบกับการประชาสัมพันธ์การประกวดในรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ดังนั้น จึงควรเพิ่มงบประมาณและช่องทางในการประชาสัมพันธ์ในการจัดงานครั้งต่อไป

- เวทีในการประกวด MHESI MUSICVARIETY AWARDซึ่งเป็นหอประชุมของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ มีขนาดจำกัด เป็นอุปสรรคต่อการแสดง และการจัดวางเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ประกอบฉาก ดังนั้น ในครั้งต่อไป ควรจัดที่หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย หรืออาคารที่มีเวทีขนาดใหญ่ กว้างขวาง

- อว. ควรสนับสนุนงบประมาณให้กับทุกทีมที่เข้าร่วมการประกวด เนื่องจากน้อง ๆ นิสิตนักศึกษา อาจารย์ และทีมงาน มีค่าใช้จ่ายสูงในการส่งทีมเข้าประกวด


เขียนโดย : ดร.เอกชัย   เขื่อนมณี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : aekachai@mhesi.go.th

ไฉไลมากค่ะ ทั้งเนื้อหาทั้งข้อเสนอแนะ......และความงามค่ะ

เขียนโดย น.ส.วิลาวรรณ  งอยผาลา

ขอบคุณมากจ้าน้องมันนี่ ปีหน้าหวังว่าเราคงได้ร่วมงานกันอีกนะ

เขียนโดย ดร.เอกชัย  เขื่อนมณี