ข้อเสนอแนะแนวทางการติดตามผลการดำเนินงานของแผนงาน/โครงการภายใต้กองทุนส่งเสริม ววน.  65

คำสำคัญ : กองทุนส่งเสริม_ววน.  

การดำเนินการติดตามผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดของโครงการ/กิจกรรม และผลการใช้จ่ายงบประมาณของโครงการที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Information System : NRIIS) ที่ผ่านมา พบปัญหาและอุปสรรคบางประการ ซึ่งมีข้อคิดเห็นเสนอแนะแนวทางพัฒนา/ปรับปรุงแก้ไข ดังนี้

  1. ปัญหา/อุปสรรค:การจัดทำคำของบประมาณและข้อเสนอโครงการวิจัยใช้เวลาปรับแก้ข้อมูลการแตกรายละเอียดงบประมาณ (แตกตัวคูณ) ค่อนข้างนาน และการแบ่งสัดส่วนงบประมาณในแต่ละหมวดงบประมาณอาจไม่สอดคล้องกับการใช้จ่ายจริง
    ข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนา/ปรับปรุงแก้ไข: ควรมีการศึกษารายละเอียดงบประมาณในหมวดต่าง ๆ ของงบประมาณแต่ละประเภท ก่อนการเปิดรับคำของบประมาณในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม ของทุกปี เพื่อให้การวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณแต่ละหมวดสอดคล้องกับรายละเอียดในคำของบประมาณ โดยเฉพาะหมวดครุภัณฑ์รวมถึงเตรียมความพร้อมในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนของปีงบประมาณตามกรอบระยะเวลา
     
  2. ปัญหา/อุปสรรค:การใช้จ่ายบางรายการไม่มีรายละเอียดเกณฑ์อัตราค่าใช้จ่ายกำหนดไว้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายกับกลุ่มคลังได้หากไม่มีหลักฐานการพิจารณาให้ความเห็นชอบการใช้อัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากหน่วยให้ทุน
    ข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนา/ปรับปรุงแก้ไข: รายละเอียดค่าใช้จ่ายบางรายการที่หมวดงบประมาณของกองทุน ววน. ไม่ได้ระบุไว้ และไม่มีข้อมูลอ้างอิงจากกรมบัญชีกลาง ควรหารือกับ กยผ. กรมบัญชีกลาง และ สกสว. ซึ่งเป็นหน่วยให้ทุน เพื่อให้มีการกำหนดเกณฑ์อัตราค่าใช้จ่ายด้าน ววน. และแนวปฏิบัติในการบริหารงบประมาณที่ตรงกันในหน่วยงาน
     
  3. ปัญหา/อุปสรรค: ข้อมูลที่ผู้รับผิดชอบแผนงาน/โครงการกรอกในระบบ NRIIS ก่อนปิดโครงการในระบบไม่ตรงกับข้อมูลในรายงานผลสัมฤทธิ์ ทำให้ต้องกลับมาแก้ไขข้อมูลให้ตรงกันจึงจะสามารถดำเนินการปิดโครงการได้
    ข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนา/ปรับปรุงแก้ไข: การจัดทำรายงานผลสัมฤทธิ์หลังโครงการวิจัยได้ดำเนินการเสร็จสิ้น ควรตรวจสอบผลการใช้จ่ายงบประมาณและผลการดำเนินงานแผนงาน/โครงการในระบบข้อมูลสารสนเทศการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) ให้ตรงกับข้อมูลในเล่มรายงานก่อนปิดโครงการ รวมถึงควรมีการระบุรายละเอียดผลผลิตของแต่ละตัวชี้วัดและหลักฐานเชิงประจักษ์ให้ครบถ้วน ชัดเจน
     
  4. ปัญหา/อุปสรรค: ขั้นตอนการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของแต่ละแผนงาน/โครงการค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลานานในการเก็บข้อมูล จึงอาจดำเนินการประเมินและส่งรายงานไม่ทันกำหนดของหน่วยให้ทุน
    ข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนา/ปรับปรุงแก้ไข: การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของแต่ละแผนงาน/โครงการในแต่ละปีงบประมาณ ควรมีการวางแผนเตรียมข้อมูลในการติดตามผลการดำเนินงานล่วงหน้า และศึกษาวิธีการจัดทำรายงานขั้นต้น (Preliminary Report) เพื่อให้สามารถจัดส่งรายงานได้ตามกำหนดเวลาและทำให้การติดตามผลค่าเป้าหมายและการประเมินตามตัวชี้วัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจเก็บข้อมูลเบื้องต้นของกลุ่มโครงการที่อยู่ในกำหนดระยะเวลาที่ต้องรายงานผลการประเมินด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล แบ่งตามประเภทของการติดตามผล ได้แก่
  • ผลผลิต (Output) เมื่อสิ้นสุดโครงการ
  • การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (5 ปี ย้อนหลัง) และผลลัพธ์ (Outcome)
  • การประเมินผลกระทบ(Impact)
  • การติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนตามเครื่องมือตั้งเป้าหมายรายไตรมาส (Objectives and KeyResults: OKRs)ในระดับต่าง ๆ

เขียนโดย : นางสาวประภาวีร์  วรกรรณ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : phapawee.w@gmail.com