สรุปเกร็ดความรู้ “กฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  71

คำสำคัญ : การจัดซื้อจัดจ้าง  พัสดุ  

สรุปเกร็ดความรู้ที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเติมความรู้และเพิ่มศักยภาพ การปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน ววน. ระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “กฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ณ ห้องอบรม 320  ชั้น 3 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ

หลักกฎหมายมหาชน Vs หลักกฎหมายเอกชน แตกต่างกันอย่างไร?

หลักการของกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน จะมีความแตกต่างกัน

-->หลักการกฎหมายมหาชน จะใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย ซึ่งจะกระทำการสิ่งใดได้ ต้องมีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ของทางราชการกำหนดให้อำนาจไว้เท่านั้น (กฎหมายจำกัดสิทธิ์)

-->หลักการกฎหมายเอกชน จะใช้กับประชาชนทั่วไป โดยสามารถกระทำการสิ่งใดๆ ได้ทุกอย่าง ถ้าไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ของทางราชการห้ามไว้

"3 ทางเลือก รับมือผู้บังคับบัญชาสั่งให้จัดอบรมทิพย์"

การอบรมทิพย์ --> การอบรมที่มีการขอเบิกค่าจัดอบรมต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเบี้ยเลี้ยง ฯลฯ ซึ่งมิได้มีการดำเนินการตามกำหนดการที่ได้ขออนุมัติจัดอบรมไว้ โดยการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบฯ และมีความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนหรือตรวจสอบดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับคำสั่ง
จากผู้บังคับบัญชาให้กระทำการดังกล่าว ควรปฏิบัติดังนี้

1. แจ้งต่อผู้บังคับบัญชาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและผิดระเบียบ!!ต้องดำเนินการปรับแก้ไขให้ถูกต้อง

2. จัดทำบันทึกโต้แย้งถึงผู้บังคับบัญชาเป็นลายลักษณ์อักษร (ใช้ในกรณีแจ้งผู้บังคับบัญชาแล้วแต่ไม่เป็นผล)

3. จัดทำบันทึกรายงานข้อเท็จจริงถึง ป.ป.ช. โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงถึงการกระทำโดยมิเต็มใจ (ใช้ในกรณีไม่กล้าจัดทำบันทึกถึงผู้บังบัญชาโดยตรง)

ทั้งนี้ การจัดทำบันทึกรายงานข้อเท็จจริงถึง ป.ป.ช. ถือเป็นกระบวนการป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น ไม่อาจเป็นเหตุให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบได้
เว้นแต่เกิดปัญหาข้อร้องเรียนขึ้นในอนาคต บันทึกรายงานข้อเท็จจริงฯ ดังกล่าว จึงจะถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาความผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐคืออะไร ทำยังไงให้ถูกระเบียบ?

การจัดซื้อจัดจ้าง  หมายถึง การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ ได้แก่ การซื้อ การจ้าง การเช่า และการแลกเปลี่ยน
โดยมีคำนิยามของพัสดุ 5 ประเภท ดังนี้

--> สินค้า ประกอบด้วย วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง โดยข้อแตกต่างระหว่างวัสดุกับครุภัณฑ์ คือ วัสดุจะมีลักษณะไม่คงทนถาวร มีอายุการใช้งานไม่นาน
มีความสิ้นเปลือง ใช้แล้วหมดไป และเปลี่ยนสภาพในระยะเวลาอันสั้น เช่น กระดาษ กรรไกร ดินสอ หลอดไฟ ไม้กวาด กระเบื้อง ยางรถยนต์ ฟิล์มกรองแสง แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่าน วัสดุคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ส่วนครุภัณฑ์ จะมีลักษณะคงทนถาวร มีอายุการใช้งานยาวนาน ไม่สิ้นเปลือง ไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนสภาพ
ในระยะเวลาอันสั้น

--> งานบริการประกอบด้วย งานจ้างบริการ งานจ้างเหมาบริการ ได้แก่ แม่บ้านทำความสะอาดรักษาความปลอดภัย งานจ้างทำของ และการรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

--> งานก่อสร้างประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคาร (เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สนามกีฬา) งานก่อสร้างสาธารณูปโภค (เช่น ประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม การระบายน้ำ การขนส่ง) และการปรับปรุงซ่อมแซม

--> งานจ้างออกแบบและควบคุมงาน

--> งานจ้างที่ปรึกษา

โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องยึดหลักการ “คุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล” อาทิ มีการกำหนดราคากลาง เพื่อเป็นฐานในการเปรียบเทียบราคาของผู้ยื่นข้อเสนอ มีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ซึ่งต้องไม่กำหนดให้ลักษณะของพัสดุมีลักษณะใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่ง ยกเว้นพัสดุนั้นมีอยู่ยี่ห้อเดียว หรือต้องใช้อะไหล่ของยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ห้ามเปิดเผยข้อมูลการยื่นเสนอราคาของเจ้าหนึ่งให้อีกเจ้าหนึ่งรู้ และบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอราคา หรือคู่สัญญานั้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันของผู้เสนอราคาอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังมีระเบียบอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีกมากมาย เช่น การจ้างที่ปรึกษาเพื่อปฏิบัติงานใดๆ หากต้องการระบุผู้รับจ้างเป็นการเฉพาะเจาะจง จะสามารถทำได้ในกรณีงานนั้นๆ มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีความเฉพาะเจาะจงเท่านั้น สำหรับการพิจารณาข้อเสนอราคาจะใช้เกณฑ์ราคาประกอบกับการพิจารณาต้นทุนตลอดการใช้งาน มาตรฐานของสินค้า/บริการ การบริการหลังการขายผลการประเมินผู้ประกอบการ การเป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริม/สนับสนุน และข้อเสนอด้านเทคนิคอื่น ๆ

สำหรับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ อาทิ คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จะต้องศึกษาหน้าที่และสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้ชัดเจนและถูกต้อง เนื่องจากหากเกิดข้อผิดพลาดในกระบวนการ คณะกรรมการฯ จะเป็นผู้มีความผิด ทั้งนี้ จะมีหลักการในการตรวจสอบการทุจริต คือ
การตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการทุจริต หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบจากกรณีนั้นๆ

ใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ให้ถูกประเภท?

การจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้งบประมาณให้ถูกประเภท โดยสามารถใช้หลักการพิจารณา ดังนี้

--> งบดำเนินงาน ให้ใช้จ่ายเพื่อการบริหารงานประจำ ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายในลักษณะ ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ และค่าสาธารณูปโภค รวมถึงรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายจากงบรายจ่ายอื่นใดในลักษณะรายจ่ายดังกล่าว

- ค่าตอบแทน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าตอบแทนกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงาน เงินสมนาคุณกรรมการสอบสวนทางวินัยข้าราชการ เงินค่าตอบแทนเหมาจ่าย
แทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง เป็นต้น

- ค่าใช้สอย เช่น ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าซ่อมแซมบำรุง เป็นต้น

- ค่าวัสดุ รายละเอียดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

- ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการไปรษณีย์

--> งบลงทุน ให้ใช้จ่ายเพื่อลงทุน ได้แก่

- ค่าครุภัณฑ์ รายจ่ายเพื่อประกอบ ดัดแปลง ต่อเติม หรือปรับปรุงครุภัณฑ์ รายจ่ายเพื่อจัดหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีราคาต่อหน่วย หรือต่อชุดเกินกว่า 20,000 บาท รายจ่ายเพื่อซ่อมแซมบำรุงรักษาโครงสร้างของครุภัณฑ์ขนาดใหญ่

- ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้าง รายจ่ายเพื่อปรับปรุงที่ดิน รวมถึงรายจ่ายเพื่อดัดแปลง ต่อเติมหรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างซึ่งทำให้ที่ดิน สิ่งก่อสร้างมีมูลค่าเพิ่มขึ้น รายจ่ายเพื่อจ้างออกแบบ
จ้างควบคุมงาน รายจ่ายเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าหรือระบบประปา รวมถึงอุปกรณ์ ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการติดตั้งครั้งแรกในอาคาร

“การพิจารณาใช้งบประมาณเพื่อซ่อมแซม Vs ปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง”

- การซ่อมแซมคือ การดำเนินการ/การเปลี่ยนแปลง ส่วนประกอบอันเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง
หรือสิ่งก่อสร้างทั้งหมดให้คงสภาพและหรือใช้งานได้ตามปกติดังเดิม -->ให้ใช้งบดำเนินงาน

- การปรับปรุงคือ การแก้ไข การกระทำ หรือการดำเนินการอื่นใด เพื่อให้สิ่งก่อสร้างซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้ว
คงสภาพเดิม หรือให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้น มีอายุการใช้งานเพิ่ม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น -->ให้ใช้งบลงทุน

เจตนาแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ข้ออ้าง ยังไงก็ผิด!!

การแบ่งซื้อแบ่งจ้าง  --> การลดวงเงินที่จะซื้อ หรือจ้างในครั้งเดียวกัน ออกเป็นหลายครั้ง ซึ่งไม่มีเหตุผล
ความจำเป็น และมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง โดยสามารถพิจารณาจากเจตนาที่เข้าข่ายการแบ่งซื้อแบ่งจ้างได้ 2 กรณี ดังนี้
(1) แบ่งวงเงิน ให้ลดลงเพื่อเปลี่ยนวิธีจัดหาพัสดุ และ (2) ทำให้ผู้มีอำนาจสั่งซื้อ/สั่งจ้างเปลี่ยนไป

 

 

หมายเหตุ : สรุปเกร็ดความรู้นี้ อาจมีเนื้อหาผิดพลาดหรือตกหล่น เนื่องจากเป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้เขียน ขอบคุณค่ะ


เขียนโดย : จตุรพร  วิศนุนาถนคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : jaturaporn.wis@gmail.com