เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
ดักแด้ เป็นช่วงชีวิตการเจริญเติบโตช่วงหนึ่งของแมลงหลายชนิด ดักแด้ไหมเป็นชื่อสามัญ และชื่อวิทยาศาสตร์ : Bombyzx mori Linnaeus ดักแด้ไหม เป็นระยะดักแด้ของผีเสื้อไหม ไหมเป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งมีขนาดกางปีกประมาณ 2 นิ้ว ตัวสีครีม ลำตัวอ้วนบินไม่ได้ ระยะที่เป็นผีเสื้อจะไม่กินอาหาร มีอายุสั้นประมาณ 2-3 วัน หลังจากการวางไข่ประมาณ 300-500 ฟองก็ตาย หนอนไหมลำตัวเรียบไม่มีขน กินใบหม่อน (Morus alba และ M. niga) เป็นอาหาร พัฒนามาจากหนอนที่เติบโตเต็มที่จะสร้างเส้นใยขึ้นเพื่อห่อหุ้มตนเอง แล้วอยู่นิ่งในถุงเส้นใยเพื่อพัฒนาร่างกายระยะหนึ่ง หลังจากที่ดักแด้พัฒนาแล้วก็จะออกจากถุงกลายเป็นตัวเต็มวัย ส่วนมากถุงดักแด้จะมีสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีดำ ส่วนดักแด้ไหมได้กลายเป็นอาหารสุขภาพยุคใหม่ที่อุดมด้วยโปรตีนป้องกันโรคสมองเสื่อมลดความบกพร่องทางสมอง (กรมหม่อนไหม, 2562) มีกรดอะมิโนสำคัญจำนวนมาก และพบว่าในดักแด้ไหมมีปริมาณโปรตีนสูง เช่น ในหนอนไหมพันธุ์สีขาว มีโปรตีนร้อยละ 71.92 และหนอนไหมพันธุ์สีทอง (golden silk) มีโปรตีนร้อยละ 69.39 พันธุ์ pscpistachio silk ( PS ) ร้อยละ 73.13 พันธุ์สีแดง (red silk) ร้อยละ70.89 มีกรดอะมิโนจำนวนมาก สำหรับหนอนสีขาวมี กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ได้แก่กรดลิโนเลอิกร้อยละ 8.16 กรดไขมันลิโนเลนิกร้อยละ 35.55 มีกลุ่มวิตามินบีคอมเพล็กซ์ค่อนข้างสูง นอกจากนั้นยังมีปริมาณสารฟีนอลลิก 773.47 มิลลิกรัม/100 กรัม สารฟวาโวนอยด์ 452.60 มิลลิกรัม/100 กรัม สารแกมม่าอะมิโนบิวทิริก GABA 2.28 มิลลิกรัม/100 กรัม ไฟเบอร์ 10.71 มิลลิกรัม/100 กรัม สำหรับหนอนไหมพันธุ์สีเหลือง มีวิตามินบีคอมเพล็กซ์สูง วิตามินซี 11.63 มิลลิกรัม/100 กรัม เบต้าแคโรทีน 4.03 มิลลิกรัม/100 กรัม สารฟวาโวนอยด์ 423.59 มิลลิกรัม/100 กรัม สารฟีนอลิก 744.45 มิลลิกรัม/100 กรัม สาร GABA 1.96 มิลลิกรัม/100 กรัม ไฟเบอร์ 11.21 มิลลิกรัม/100 กรัม
