Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
นิ้วล็อก หนึ่งในโรคยอดฮิตของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ 57
ณ ปัจจุบัน โลกของเรามีเทคโนโลยีที่ก้าวไกล และเอื้ออำนวยให้แก่เราในหลาย ๆ ด้าน เช่น ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งานแทนการจดบันทึก หรือสามารถเข้าถึงข่าวสารได้เพียงแค่อยู่หน้าจอโทรศัพท์ แต่ความสะดวกสบายที่ได้รับ อาจนำพามาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยที่ไม่ทันตั้งตัว หนึ่งในโรคที่มีสาเหตุมาจากการเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ คือ โรคนิ้วล็อก
โรคนิ้วล็อก คือ ????
โรคนิ้วล็อก หรือ Trigger Finger เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมือ ทำให้มีการหนาขึ้น ส่งผลให้ไม่สามารถยืดหรือหดนิ้วได้ตามปกติ โดยนิ้วที่พบว่ามักเกิดอาการดังกล่าว คือ นิ้วโป้ง, นิ้วกลาง, นิ้วนาง หรือเกิดขึ้นได้กับทุกนิ้ว และอาจเกิดได้ทั้งกับนิ้วมือทั้งสองข้างอีกด้วย
อาการของโรคนิ้วล็อก
ความรุนแรงของโรคแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ
ระยะที่ 1 : ปวดบริเวณโคนนิ้วมือ หากกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า จะมีอาการปวดแต่ยังไม่มีการสะดุด
ระยะที่ 2 : สะดุดเวลาขยับ, งอ และเหยียดนิ้ว
ระยะที่ 3 : เมื่องอนิ้วจะเกิดการติดล็อก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องใช้มืออีกข้างมาแกะออก
ระยะที่ 4 : เกิดการอักเสบและบวม ไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงเหมือนเดิมได้ หากแกะนิ้วที่ล็อกออก จะมีอาการปวดมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนิ้วล็อก
- ผู้ที่ต้องพิมพ์งานซึ่งต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือผู้ที่เล่นสมาร์ตโฟนเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน
- ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องใช้งานแรงมือ เช่น แม่บ้าน, ช่างไฟฟ้า, ช่างไม้, พนักงานออฟฟิศ เป็นต้น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับข้อ เช่น โรครูมาตอยด์ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
- ผู้ที่ต้องทำงานยกของหนักเป็นประจำ
นอกจากนี้ผู้หญิงตั้งครรภ์ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ้วล็อกได้เช่นกัน เนื่องจากระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป
การรักษานิ้วล็อก
- แช่น้ำอุ่นประมาณ 15นาที เพื่อให้อาการให้ทุเลาลง วิธีนี้มักจะนิยมทำในช่วงเช้า หรือหลังตื่นนอน
- ฉีดสารสเตียรอยด์ เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการอักเสบของเส้นเอ็น แต่การรักษาด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยง เพราะหากรักษาไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เส้นเอ็นเสียหายมากกว่าเดิมได้
- ดามนิ้ว เป็นการรักษาโดยการใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว เพื่อทำให้นิ้วตรง, ไม่เกร็ง หรืองอเกินไปขณะนอนหลับ
- การผ่าตัด หากวิธีการรักษาในข้อที่กล่าวไปไม่ได้ผล แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนิ้วล็อก ให้สามารถเคลื่อนไหวนิ้วได้ง่ายขึ้น และยังสามารถลดอาการปวดได้อีกด้วย
การป้องกันนิ้วล็อก
- หากจำเป็นต้องทำงานเป็นระยะเวลานาน ควรพักการใช้งานมือเป็นระยะ
- ไม่หัก, ดีดนิ้ว เพราะอาจทำให้เส้นเอ็นอักเสบเพิ่มมากยิ่งขึ้น
- ไม่ควรยกของหนักเกิน
- หลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ
- หากตอนเช้ามีอาการข้อฝืด หรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือเบา ๆ ในน้ำ
ท่าบริหารนิ้วมือป้องกันนิ้วล็อก
ท่าที่ 1 : แบหรือเหยียดมือให้เต็มที่ ค้างไว้เป็นเวลา 3วินาที
ท่าที่ 2 : แตะปลายนิ้วหัวแม่มือร่วมกับนิ้วอื่นทีละนิ้ว และต้องให้นิ้วอื่นเหยียดตรง
ท่าที่ 3 : ให้ทำท่าจีบมือ ควรให้ปลายของทุกนิ้วแตะรวมกัน และพยายามให้นิ้วเหยียดตรง ข้อมือกระดกเล็กน้อย จากนั้นให้กางนิ้วแยกออกจากกันให้มากที่สุด
ท่าที่ 4 : งอนิ้วทั้ง 4นิ้วเข้าสู่โคนนิ้วโป้ง และกำให้แน่น จากนั้นให้กางออกให้เต็มที่
ท่าที่ 5 : ให้ยกแขนขึ้นมาระดับไหล่ จากนั้นใช้มืออีกข้างดันให้ข้อมือกระดกขึ้น-ลง ปลายนิ้วเหยียดตรง ค้างไว้เป็นระยะเวลา 10วินาที
ท่าที่ 6 : ใช้ยางยืดช่วย แล้วให้นิ้วมือเหยียดอ้าออก ค้างไว้ 10วินาที แล้วปล่อย
นิ้วล็อก ถือว่าเป็นโรคยอดฮิตที่อยู่คู่กับผู้ที่จำเป็นต้องทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้มือเป็นระยะเวลานานติดต่อกันโดยไม่มีการพัก ทุกท่านควรพักมือเป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นการป้องกัน หากท่านใดมีอาการนิ้วล็อก ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการว่าอยู่ในขั้นใด หากรุนแรงจะได้เข้ารับการรักษาในทันที
ระวังกันให้ดีนะคะ คลิกงานกันเยอะ ๆ อย่าลืมดูแลนิ้วของตัวเองด้วยนะคะ
ขอขอบคุณ แหล่งที่มาของเรื่องราว ดี ๆ https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/trigger-finger