Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 535
กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ
กฎหมายที่เกี่ยวกับการพัสดุในปัจจุบัน คือ
1. พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
2. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
การจัดซื้อจัดจ้าง คือ “การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ” กระทำโดย การซื้อ การจ้าง การเช่า และการแลกเปลี่ยน
1. พัสดุประกอบด้วย 5 ประเภท ดังนี้
1.1 สินค้า ได้แก่ วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
วัสดุ คือรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของดังนี้ ไม่คงทนถาวร มีอายุการใช้งานไม่ยืนนาน สิ้นเปลือง หมดไป เปลี่ยนสภาพในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงรายจ่ายดังต่อไปนี้
1) การจัดหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีราคาต่อหน่วย/ชุดไม่เกิน 20,000 บาท หากเกินจะจัดเป็นครุภัณฑ์ซึ่งต้องจัดทำหนังสือเพื่อทำการจัดซื้อ
2) รายจ่ายที่ต้องชำระพร้อมกับค่าวัสดุ เช่น ค่าภาษี ค่าประกันภัย ค่าขนส่ง ค่าติดตั้ง
3) รายจ่ายเพื่อประกอบ ดัดแปลง ต่อเติม หรือปรังปรุงวัสดุ
ตัวอย่างสิ่งของที่เป็นวัสดุโดยสภาพ เช่น
- วัสดุสำนักงาน: หนังสือ กรรไกร กุญแจ กระดาษ หมึก ดินสอ ฯลฯ
- วัสดุไฟฟ้าและวิทยุ: ไมโครโพน โทรโข่ง หลอดไฟ สายไฟ ฯลฯ
- วัสดุงานบ้านงานครัว: หม้อ กระทะ มีด เตารีด ถังแก๊ส ผงซักฟอก สบู่ ไม้กวาดฯลฯ
- วัสดุก่อสร้าง: ไม้ คอน จอบ เลื่อย ทราย กระเบื้อง ฯลฯ
- วัสดุยาพาหนะและขนส่ง:ไขควง ประแจ ล็อคเกอร์ ยางรถยนต์ น้ำกลั่น ฟิล์มกรองแสง ฯลฯ
- วัสดุเชื้อเพลิงและหล่อลื่น: แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่าน น้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ
- วัสดุโฆษณาและเผยแพร่ เช่น ขาตั้งกล่อง เลนส์ซูม กระเป๋าใส่กล้อง วัสดุคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
ครุภัณฑ์คือรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของดังนี้ คงทนถาวร มีอายุการใช้งานยาวนาน ไม่สิ้นเปลือง เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนสภาพในระยะเวลาอันสั้น
1) รายจ่ายเพื่อประกอบ ดัดแปลง ต่อเติมหรือปรับปรุงครุภัณฑ์
2) การจัดหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีราคาต่อหน่วย/ชุดเกินกว่า 20,000 บาท
3) รายจ่ายเพื่อซ่อมแซมบำรุงรักษาโครงสร้างของครุภัณฑ์ขนาดใหญ่ เช่น เครื่องบิน เครื่องจักรกล ยานพาหนะ เป็นต้น ซึ่งมีรวมถึงค่าซ่อมบำรุงปกติหรือค่าซ่อมกลาง
4) ค่าจ้างที่ปรึกษาในการจัดหาหรือปรับปรุงครุภัณฑ์
5) รายจ่ายที่ต้องชำระพร้อมกับค่าครุภัณฑ์ เช่น ค่าขนส่ง ค่าภาษี ค่าประกันภัย ค่าติดตั้ง
ตัวอย่างรายการครุภัณฑ์ ได้แก่ ครุภัณฑ์สำนักงาน โต๊ะทำงาน เก้าอี้ ตู้เก็บของ เครื่องถ่ายเอกสาร พัดลม เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง ครุภัณฑ์โฆษณาและเผยแพร่ เช่น กล้องถ่ายรูป โทรทัศน์ ฯลฯ
1.2 งานก่อสร้างประกอบด้วย
- งานก่อสร้างอาคารอาคารที่ทำการโรงพยาบาล โรงเรียน สนามกีฬา เสาธง รั้ว
- สาธารณูปโภคประปา ไฟฟ้า สื่อสาร โทรคมนาคม การระบายน้ำ การขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางเรือ ทางอากาศ
- การปรับปรุงซ่อมแซม
1.3 งานจ้างออกแบบและควบคุมงาน
1.4 งานจ้างที่ปรึกษา
1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป: เชิญชวนให้ที่ปรึกษาทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ
2) วิธีคัดเลือก: เชิญชวนเฉพาะที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดต้องไม่น้อยกว่า 3ราย เว้นแต่ผู้ประกอบการมีคุณสมบัติตรงน้อยกว่า 3ราย
3) วิธีเฉพาะเจาะจง: เชิญชวนเฉพาะที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ามายื่นข้อเสนอ
หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ
1) งานที่ไม่มีความซับซ้อน พิจารณาข้อเสนอจากราคาต่ำสุด
2) งานที่ซับซ้อน ต้องเอาเกณฑ์ทั้งด้านคุณภาพและราคามาพิจารณาร่วมกัน
3) งานที่ซับซ้อนมากที่สุด พิจารณาจากคะแนนคุณภาพ
1.5 งานบริการงานจ้างบริการ งานจ้างเหมาบริการ ได้แก่ แม่บ้านทำความสะอาด รักษาความปลอดภัย งานจ้างทำของ และการรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2. ราคากลางหมายถึง ราคาเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับเปรียบเทียบราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้ยื่นเสนอไว้ สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ตามลำดับ
1 ราคาที่ได้จากการคำนวณตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการราคากลางกำหนด
2 ราคาที่ได้มาจากฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของพัสดุที่กรมบัญชีกลาง จัดทำ
3 ราคามาตรฐานที่สำนักงบประมาณหรือหน่วยงานกลางอื่นกำหนด
4 ราคาที่ได้มาจากการสืบราคาจากท้องตลาด
5 ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ
6 วิธีอื่นใดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ
โดยเปรียบเทียบราคาจากข้อ 1 ก่อน หากไม่มีให้ยึดราคาตามข้อ 2 หรือ 3 หากไม่มีทั้ง 1 2 และ 3 ให้ยึดราคาตามข้อ 4 5 และ 6
3. การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้าง
ห้ามกำหนดคุณลักษณะของพัสดุใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการเสนอราคา โดยการกำหนดเงื่อนไขดูว่าเป็นการกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่นหรือไม่
ตัวอย่าง การจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ โดยระบุว่าต้องมีศูนย์บริการทุกจังหวัด ทั่วประเทศ อาจเป็นการกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่นได้ เนื่องจากศูนย์บริการรถยนต์ที่มีทั่วประเทศในปัจจุบันมีรายเดียว ซึ่งจะเป็นการระบุที่เฉพาะเจาะจงได้
4. การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ 3 วิธี
4.1 วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป: เชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั่วไป ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดยื่นเข้ามา การจัดซื้อจัดจ้างเกิน 5 แสนบาท สามารถดำเนินการได้ 3 วิธี
1) วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market: e-market): การจัดหาพัสดุที่มีคุณลักษณะไม่ซับซ้อน เป็นสินค้าทั่วไป โดยให้ผู้ขาย/ผู้รับจ้าง/ผู้ให้บริการ ให้เสนอราคาผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย Electronic Government Procurement: e-GP ของกรมบัญชีกลาง เช่นวัสดุสำนักงาน ได้แก่ กระดาษถ่ายเอกสาร ผงหมึก/ตลับหมึก แฟ้มเอกสาร เทปปิดสำหรับการเข้าเล่ม ซองเอกสาร โต๊ะสำนักงาน เก้าอี้สำนักงาน
2) วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding: e-bidding): การจัดหาพัสดุทีมีรายละเอียดคุณลักษณะที่มีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ หรือเป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในระบบ e-market
4.2 วิธีคัดเลือก: เชิญชวนเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดต้องไม่น้อยกว่า 3 ราย เว้นแต่ผู้ประกอบการมีคุณสมบัติตรงน้อยกว่า 3 ราย การจัดซื้อจัดจ้างเกิน 5 แสนบาท
4.3 วิธีเฉพาะเจาะจง: หน่วยงานภาครัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ การจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 5 แสนบาท
5. งบประมาณกับการจัดซื้อจัดจ้าง หลักการจำแนกประเภทรายจ่าย ตามงบประมาณ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) รายจ่ายของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ 2) รายจ่ายงบกลาง
5.1 รายจ่ายของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้ 1) งบบุคลากร 2) งบดำเนินงาน 3) งบลงทุน 4) งบเงินอุดหนุน 5) งบรายจ่ายอื่น โดยจะลงรายละเอียดในงบดำเนินการ และงบลงทุน
1) งบดำเนินงานหมายถึง ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ และค่าสาธารณูปโภค รวมถึง
1.1) ค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในทางราชการตามที่กระทรวงการคลังกำหนด เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าตอบแทนกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงาน เงินสมนาคุณกรรมการสอบสวนทางวินัยข้าราชการ เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง เป็นต้น
1.2) ค่าใช้สอย รายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ (ยกเว้นบริการสาธารณูปโภค) รายจ่ายที่เกี่ยวกับการรับรองและ พิธีการและรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการ ที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าจ้างเหมาบริการค่าเบี้ยประกันภัย ค่าซ่อมแซมบำรุง เป็นต้น
1.3) ค่าวัสดุ รายละเอียดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
1.4) ค่าสาธารณูปโภครายจ่ายค่าบริการสาธารณูปโภค สื่อสารและโทรคมนาคม รวมถึง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการไปรษณีย์
1.5) รายจ่ายงบอื่น เช่น เงินราชการลับ เงินค่าปรับที่จ่ายคืนให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อการศึกษา วิจัย ประเมินผล ที่ไม่ใช่การจัดหาหรือปรับปรุงครุภัณฑ์ ที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น
2) งบลงทุนหมายถึง รายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อลงทุน ได้แก่
2.1) ค่าครุภัณฑ์ รายละเอียดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
2.2) ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง: รายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้าง รายจ่ายเพื่อปรับปรุงที่ดิน รวมถึงรายจ่ายเพื่อดัดแปลง ต่อเติมหรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างซึ่งทำให้ที่ดิน สิ่งก่อสร้างมีมูลค่าเพิ่มขึ้น รายจ่ายเพื่อจ้างออกแบบ จ้างควบคุมงาน รายจ่ายเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าหรือระบบประปา รวมถึงอุปกรณ์ ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการติดตั้งครั้งแรกในอาคาร
ตัวอย่างการกั้นห้องประชุมจากเดิมสามารถใช้ได้ 1 ห้องแต่เมื่อกั้นสามารถใช้ห้องประชุมพร้อมกันได้ 2 ห้อง ถือเป็นงบลงทุน เนื่องจากเป็น รายจ่ายเพื่อดัดแปลง ต่อเติมหรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างซึ่งทำให้ที่ดิน สิ่งก่อสร้างมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงพื้นห้องให้มีความคงทนมากขึ้น ถือเป็นงบลงทุน เนื่องจากเป็น รายจ่ายเพื่อดัดแปลง ต่อเติมหรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างซึ่งทำให้ที่ดิน สิ่งก่อสร้างมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
5.2 รายจ่ายงบกลาง
คือรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปใช้จ่าย เช่น เงินช่วยเหลือข้าราชการลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เป็นต้น
ข้อมูลความรู้จาก การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเติมความรู้และเพิ่มศักยภาพ การปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน ววน. ระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1 โดย นายมงคล วุฒินิมิต ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช. และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา จันทร์คง อาจารย์ประจำหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 8.30 - 16.00 น. ณ ห้องอบรม 320 ชั้น 3 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ
ทั้งนี้ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
- ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ทั้งนี้ข้อมูลอาจมีความผิดพลาดได้เนื่องจากเป็นการสรุปความเข้าใจของผู้เข้าร่วมประชุม ขอบคุณค่ะ