ผัก 12 ชนิด ที่กินดิบไม่ได้ อันตรายต่อร่างกาย  44

คำสำคัญ : ผัก  ดิบ  อันตราย  

ผัก 12 ชนิด ที่กินดิบไม่ได้ อันตรายต่อร่างกาย
1. มันฝรั่ง

มันฝรั่ง เป็นพืชที่ต้องนำมาผ่านความร้อน และปรุงสุกก่อนรับประทานเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการต้ม ผัด อบ หรือทอด ไม่ควรนำมากินแบบดิบเด็ดขาด เพราะในหัวมันฝรั่งดิบจะมีสารโซลานีน (Solanine) มีอยู่มากในส่วนหน่อที่งอกออกมากจากหัว และสารพิษไกลโคแอลคาลอยด์ (Glycoalkaloids) ซึ่งเป็นสารที่พืชสร้างมาเพื่อปกป้องตัวเองจากแมลงศัตรูพืช อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น ใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว และสุดท้ายอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยการนำมันฝรั่งไปทำให้สุกด้วยความร้อนจัด 170 องศาเซลเซียส จะช่วยลดปริมาณสารพิษเหล่านั้นลงได้

2. มันสำปะหลัง

มันสำปะหลัง ควรนำมาทำให้สุกก่อนเสมอไม่ว่าจะด้วยวิธีปิ้ง อบ หรือเชื่อม เมื่อปรุงสุกแล้วจะมีรสหวาน สาเหตุที่มันสำปะหลังดิบกินไม่ได้ก็เพราะในมันสำปะหลัง มีสารไซยาไนด์ (Cyanide) ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษต่อร่างกายอยู่ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นอันตรายมากถ้าเอามันสำปะหลังมากินตอนดิบ จะทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก น้ำลายฟูมปาก ชัก และอาจถึงเสียชีวิตได้ วิธีการลดพิษมันสำปะหลังก็คือ ควรปอกเปลือก และปรุงให้สุกด้วยความร้อนก่อนทุกครั้ง

3. มันเทศ

มันเทศ หรือมันหวานสีต่างๆ อีกหนึ่งพืชที่ต้องนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน เพราะมีปริมาณสารไซยาไนด์ (Cyanide) อยู่ ถึงแม่ปริมาณจะไม่มากเท่ามันสำปะหลัง และในหัวมันเทศยังมีสารออกซาเลต (Oxalates) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียม และแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด และอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดนิ่วในไตได้ ก่อนนำมันเทศมาปรุงอาหาร ควรล้างทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารพิษหรือสิ่งตกค้างก่อนนำไปปรุงอาหาร

4. หน่อไม้

 ใน หน่อไม้ดิบ มีสารไซยาไนด์ (Cyanide) อยู่ในปริมาณที่มาก เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย ถ้าได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ ก่อนนำหน่อไม้มารับประทาน ควรนำไปต้มในน้ำเดือด โดยใช้เวลานานเกิน 10 นาทีก่อน จึงจะปลอดภัยต่อร่างกายมากที่สุดค่ะ เพราะความร้อนจะช่วยสลายสารพิษลงได้

5. แครอท

  ถึงแม้ใน แครอท จะมีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ที่ช่วยในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ยับยั้งและต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี แต่การกินแครอทดิบจะทำให้การดูดซึมสารเบต้าแคโรทีน ที่เป็นตัวช่วยต้านอนุมูลอิสระได้น้อยลง จึงควรนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน จะได้ประโยชน์มากกว่า และแครอทเป็นพืชที่มีประโยชน์สูงแต่หากเรากินในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ผิวมีสีเหลืองขึ้น ฟันเสื่อม หรือฟันผุ

6. ผักโขม

ผักโขม เป็นผักอีกหนึ่งชนิดที่ไม่ควรกินดิบ เพราะกรดในผักโขมจะขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม และธาตุเหล็ก ทำให้ร่างกายเราไม่สามารถดูดซับแคลเซียมและธาตุเหล็กได้ เนื่องจากในผักโขมมีกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) ที่สามารถไปยับยั้งหรือขัดขวางการนำแคลเซียมและธาตุเหล็กไปใช้ในร่างกาย ทางที่ดีกินผักโขมสุกจะดีกว่า เพราะผักโขมสุกจะช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระได้ด้วย

7. กะหล่ำปลี

กะหล่ำปลีดิบ มีสารพิษที่เรียกว่า กอยโตรเจน (Goitrogen) เป็นสารที่จะไปขัดขวางไม่ให้ต่อมไทรอยด์จับไอโอดีน ถ้ากินกะหล่ำปลีดิบในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดโรคคอหอยพอก อีกทั้งยังทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นไทรอยด์ไม่ควรกินกะหล่ำปลีดิบอย่างเด็ดขาด แต่ทว่าสารพิษเหล่านี้จะถูกทำลายได้ด้วยความร้อนจากการต้ม ดังนั้น กินกะหล่ำปลีสุกจึงน่าจะดีกว่า 

8. บล็อคโคลี่

บล็อคโคลี่ เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับกะหล่ำปลี มีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งสามารถยับยั้งไม่ให้ร่างกายใช้ไอโอดีนได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งในบล็อคโคลี่ ยังมีฮอร์โมนบางชนิด ที่กระตุ้นทำให้เกิดโรคไทรอยด์ได้อีกเช่นเดียวกัน การทานบล็อคโคลี่ดิบจะทำให้ท้องอืด เพราะฉะนั้น ผักอย่างบล็อคโคลี่ จึงเป็นผักอีกหนึ่งชนิด ที่เราไม่ควรนำมารับประทานแบบดิบๆ

9. ดอกกะหล่ำ หรือ กะหล่ำดอก

 ดอกกะหล่ำ หรือ กะหล่ำดอก เป็นพืชชนิดหัวอีกหนึ่งชนิดเช่นเดียวกับบล็อคโคลี่ ควรนำมาปรุงสุกก่อนรับประทาน เพราะดอกกะหล่ำยังคงมีน้ำตาลเดียวกับกะหล่ำปลี และบล็อคโคลี่ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ส่งผลทำให้เกิดอาการท้องอืด และรู้สึกแน่นท้อง ดั้งนั้นกินดอกกะหล่ำที่ปรงสุกไว้ก่อน จะปลอดภัย และอร่อยกว่า

10. ถั่วฝักยาว

 ใน ถั่วฝักยาวดิบ จะมียาสะสมอยู่ในปริมาณที่สูง ก่อนนำมากินจึงควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย และมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างสูง ทำให้ท้องอืด ไม่เหมาะกับคนที่มีปัญหาการย่อย และผู้สูงอายุ และนำไปทำให้สุกจะปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่า

11. ถั่วงอก

ถั่วงอกดิบ มีแบคทีเรียอันตรายหลายชนิด อีกทั้งในถั่วงอกดิบยังมีไฟเตทสูง โดยไฟเตทจะเข้าไปจับแร่ธาตุบางชนิดที่อยู่ในอาหาร ทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุได้ ดังนั้น ควรทำให้สุกก่อนกินเพื่อป้องกันและทำลายแบคทีเรีย และสารไฟเตท

12. เห็ด ชนิดต่างๆ

เห็ดทุกชนิด ควรจะนำมาลวก ต้ม หรือทำให้สุกก่อนทาน เพราะในเห็ดจะมีผนังเซลล์ที่ย่อยยากอยู่ ซึ่งการนำมาปรุงให้สุกจะช่วยไปทำลายผนังเซลล์ที่ย่อยยากนั้นได้ บางคนทานเห็ดดิบแล้วอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด และในเห็ดอาจมีสารพิษปนเปื้อนอยู่มาก จึงคารนำมาล้างให้สะอาด และปรุงสุกก่อนทานจะดีที่สุด

หากเป็นผักที่ทุกท่านชื่นชอบที่จะทานดิบ ก็สามารถทานได้แต่ควรทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากและบ่อยจนเกินไป


เขียนโดย : น.ส.พรทิพย์  เพิ่มวรัญญู สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : pronthip.p@mhesi.go.th