Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
อัพเดตสถานการณ์คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในปี 2567 ยิ่งน่าสนใจ น่าลงทุน? มากขึ้น 153
อัพเดตสถานการณ์คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในปี 2567 ยิ่งน่าสนใจ น่าลงทุน? มากขึ้น
=============================
ก่อนอื่นสำหรับผู้เริ่มทำความรู้จักกับ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” จึงขอทบทวนความหมายกันอีกสักครั้ง และจะกล่าวถึงความน่าสนใจของบริบทประเทศไทยภายหลังจากนี้ ที่ “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” จะเป็นเรื่องจริงจังกันมากขึ้น
“คาร์บอนเครดิต” หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ CO2ออกสู่สิ่งแวดล้อม (ปกติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จะเทียบกับสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์) รวมถึง การเก็บกัก หรือ “การดูดกลับจากกิจกรรมหรือโครงการ” ด้วย ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะต้องมีการรับรองโดยหน่วยรับรอง ตามระเบียบหรือวิธีการของทางราชการที่เป็นที่ยอมรับหรือเทียบได้กับระดับสากล โดยประเทศไทยก็มีหน่วยงานชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นองค์การมหาชน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยวิเคราะห์ กลั่นกรอง และรับรองโครงการ
ประเทศต่างๆ ได้ตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) .ในปีต่าง ๆ จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP26 ณ ประเทศสกอตแลนด์ โดยประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ปี ค.ศ. 2050 และประเทศไทยกำหนดเป้าหมายไว้เป็นสองระยะ คือ ระยะยาว ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้กำหนดเป้าหมายระยะกลาง ในความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) โดยคิดเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)
“คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” “จะขายได้ที่ไหน?” หรือ “ราคาเป็นอย่างไร ตลาดคาร์บอนอยู่ที่ไหนกัน” และแนวโน้มโอกาสภายหลังปี 2567 เป็นยังไง”
ก็ขอเล่าสรุปเป็นเรื่อง ๆ ดังต่อไปนี้
“ตลาดคาร์บอน (Carbon Market)” จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อทำการซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ในการบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่กำหนดไว้ หรือเพื่อชดเชย (Offset) การปล่อยเมื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชุมแบบความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Meeting) โดย “ตลาดคาร์บอน” มีอยู่ 2 ประเภท คือ ภาคบังคับ ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และภาคสมัครใจ เป็นการดำเนินการองค์กรที่มีเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น กรณีของประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำเสนอร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (GHG inventory) ภาคบังคับ เป็นส่วนหนึ่งใน พ.ร.บ.)
โดยการรับรองโครงการด้านการลด/การดูดกลับ หรือเก็บกักก๊าซเรือนกระจก ณ ขณะนี้จะดำเนินการโดยมีผู้ประเมินจากภายนอก และ อบก. มีการรับรองโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) โดยมีโครงการประเภทพลังงานทดแทน การจัดการของเสีย การปลูกป่า เป็นต้น การดำเนินการ ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก. จำนวน 345 โครงการ สามารถรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า (tCO2eq)
โครงการหรือกิจกรรมในการขอการรับรองคาร์บอนเครดิต มี 2 ลักษณะ ได้แก่
- โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับนโยบายหรือระดับโครงการ โดยเป็นการลดจากกิจกรรมการผลิต การใช้พลังงาน การขนส่ง กิจกรรมการเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการจัดการของเสีย
- โครงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การดูดกลับลงในชั้นใต้ดิน การปลูกต้นไม้เพื่อดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
เนื่องจากการรับรองคาร์บอนเครดิต จะต้องผ่านการตรวจสอบทางวิชาการ ผู้ตรวจสอบต้องผ่านการอบรมและมีความรู้ความสามารถ และยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นจริง จึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมิน ดังนั้น กิจกรรม/โครงการ จะต้องมีขนาดโครงการที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่าย จึงจะคุ้มทุน เช่น ปลูกต้นไม้ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ เป็นต้น หรือ ถ้าเป็นรายเล็ก ๆ ก็เชื่อมโยงกันหลายโครงการหรือกิจกรรมได้
ขณะนี้ ประเทศไทยได้มีแพลตฟอร์มในการซื้อขายคาร์บอน ที่ผ่านการรับรองจาก อบก. ชื่อว่า “FTIX” หรือสามารถเปิดบัญชีกับ Platform Trading Carbon Credit ของต่างประเทศ เช่น CBL Xpansiv, Air Carbon Exchange, Carbon Trade Exchange เป็นต้น เพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตในมาตรฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ ซึ่งประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ณ เม.ย. 2567 มีจำนวน 3,258,033 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท คิดเป็นราคาเฉลี่ยตันละ 89.6 บาทการดำเนินการดังกล่าวยังคงเป็นแบบสมัครใจ แต่หาก ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบังคับใช้ในอนาคต ก็จะเป็นมาตรการบังคับที่องค์กร หรือเอกชนจะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรหรือประเทศต่อไป
==
ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มโอกาสการลงทุน “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” ได้ยังไง??
ประเทศไทยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และมีร่างพระราชบัญญัติทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ได้แก่
- 1. ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ....
- 2. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต พ.ศ. .... ซึ่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น
โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- 1. การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
- 2. การจัดตั้งกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้การสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทุกอุตสาหกรรมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น การตรวจวัดและรับรองปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ หรือที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ การสนับสนุนการลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นต้น
- 3. การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (GHG inventory) ภาคบังคับ กำหนดให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจขอข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ประกอบการพลังงานและผู้ประกอบกิจการโรงงานใน 15 อุตสาหกรรม ได้แก่ “การผลิตไฟฟ้า การก่อสร้าง การขนส่ง เหมืองถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อโลหะ เคมี โลหะ ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง อิเล็กทรอนิกส์ การใช้สารทดแทนสารทำลายชั้นโอโซน การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า กระดาษและเยื่อกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรและปศุสัตว์”
- 4. การลดก๊าซเรือนกระจก กำหนดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดทำฐานข้อมูลในภาพรวมของประเทศ
- 5. การกำหนดระบบภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต กำหนดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายสิทธิดังกล่าว เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม ผ่านกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่มีความยืดหยุ่นสูง รวมทั้งพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแบบอัตราก้าวหน้าในสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกับระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS)
- 6. การดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านภูมิอากาศ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับคาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ อีกทั้งมีการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้ง 6 สาขา ได้แก่ น้ำ เกษตร ท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากร และตั้งถิ่นฐาน
- 7. บทกำหนดโทษ กำหนดให้มีการนำค่าปรับที่ได้จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถจัดทำรายงานคาร์บอนและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แม้ร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง 3 ฉบับ จะอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็น แต่ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมของสถานประกอบการและโรงงานได้โดยการตรวจวัดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในองค์กรและในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
เมื่อวิเคราะห์ถึงเนื้อหาของ “ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ก็พบว่า การกำหนดทิศทางมาตรการด้านกฎหมายลดการปลดล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเอกชน จะถูกบังคับให้ต้อง “ทำ” ตามกฎหมายที่บังคับมาจาก ร่าง พ.ร.บ. นี้ ซึ่งน่าสนใจมาก ว่า “ตลาดคาร์บอน (Carbon Market)” ในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับมาตรการทางกฎหมายจากภาครัฐนี้ ซึ่ง ณ ขณะนี้ หน่วยงานภาคเอกชนบางส่วนหันมาเปิดตัวเป็นผู้รับตรวจประเมิน และบางส่วนหันมาลงทุนดำเนินกิจกรรม/โครงการที่สามารถนำไปคิดคำนวณเป็น “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” เสนอขายให้กับภาคการผลิตที่มี Demand ในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ธุรกิจตนเองถูกบังคับตามกฎหมายนั่นเอง
==
References :
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย : https://www.tei.or.th/th/article_detail.php?bid=129
ThaiPBS : https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-37
มติชนออนไลน์ : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000001943
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Carboncredit-info82-18-06-2024.aspx
หอสมุดรัฐสภา : https://library.parliament.go.th/th/radioscript/rr2567-jun8