โครงการการบูรณาการงานวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัย เพื่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ : สถานภาพของงาน ววน. และโจทย์วิจัยในอนาคต  60

คำสำคัญ : แผนววน.  จังหวัดชายแดนใต้  อว.ส่วนหน้า  สกสว.  

โครงการการบูรณาการงานวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัย เพื่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ : สถานภาพของงาน ววน. และโจทย์วิจัยในอนาคต

 

          ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใตัปรากฏขึ้นนับตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา นับเป็นเวลา 20 ปี มาแล้ว แม้ว่าสถิติความรุนแรงทางกายภาพ-ทางการทหารจะลดลง แต่ความขัดแย้งดูจะยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลาย อีกทั้งยังแสดงให้เห็นผลกระทบเชิงลึกที่เกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวเนื่องจากปัญหาความขัดแย้ง ดังเช่น ปัญหาความ ยากจน ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น

รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง โดยสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการ สร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอเรื่องนี้ เป็นการเฉพาะ โดย คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญหน่วยงานในกระทรวง อว. ได้แก่ สกสว. วช. บพท. ไปให้ข้อมูลงานวิจัยและแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ลดความรุนแรง และสร้างสันติภาพ

สำหรับหน่วยงานส่วนงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโดยตรงคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และได้ขอรับการการสนับสนุนด้านการวิจัย จาก สกสว. เพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ศอ.บต. จะเป็นหน่วยงานที่นำงานวิจัยจากระบบ ววน. ไปขยายผลและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจงานวิจัยในระบบ ววน. พบว่า งานวิจัยในประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกือบทั้งหมดมีทิศทางที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นเป็นหลัก (well-being) ทั้งงานวิจัย Fundamental Fund (FF) และ Strategic Fund (SF) ทั้งในด้านการแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การยกระดับผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาการท่องเที่ยวบนฐานอัตลักษณ์ เป็นต้น ขณะที่ในด้านการการแก้ไขปัญหาด้านความขัดแย้ง ความรุนแรง และการสร้างสันติภาพ พบว่า มีงานวิจัยน้อยมาก แม้ว่าแผนด้าน ววน. ปี 2566 – 2570 จะมีแผนงาน P14 (S2) พัฒนานโยบายและต้นแบบ เพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงฯ แต่ก็ยังพบว่า ยังไม่มีงานวิจัยที่เจาะประเด็นความรุนแรงและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงมากนัก ภายใต้แผนงานนี้ ทำให้งานวิจัยไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาอย่างเข้าใจพลวัตความขัดแย้งและความรุนแรงได้อย่างลึกซึ้ง และทันต่อสถานการณ์

จึงนับว่าเป็น Gap สำคัญที่กระทรวง อว. (โดยเฉพาะ สกสว. และหน่วยบริหารจัดการทุน รวมถึง สป.อว. ซึ่งเป็นหน่วยกำหนดนโยบาย) ต้องพิจารณาหาแนวทางในการสนับสนุนงานวิจัยในด้านนี้ให้มากขึ้น

โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

- เพื่อวิเคราะห์สถานะของผลการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

- เพื่อรับฟังความต้องการและโจทย์วิจัยจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งมิติด้าน Well-being และมิติด้านความขัดแย้ง ความรุนแรง และสันติภาพ ทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม

- เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการสนับสนุนงานวิจัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในด้าน well-being และด้านการจัดการความขัดแย้ง การลดความรุนแรง และการสร้างสันติภาพ

- เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบระบบและกลไกการบูรณาการงานวิจัยทั้งภายในระบบ ววน. และระหว่างระบบ ววน. กับหน่วยงานที่ภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้องค์ความรู้จากการวิจัยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่ยืดยื้อเรื้อรังมาอย่างยาวนานได้มากที่สุด

 

Timeline การดำเนินโครงการ

 

แผนการดำเนินงานมีดังนี้

1) ลงพื้นที่เพื่อระดมความเห็นต่อโจทย์วิจัย

2) สำรวจความเห็นโจทย์วิจัย (แบบสำรวจความเห็น) 

              3) ประมวลโจทย์หารือร่วมกับกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร PMUs และผู้กำหนดนโยบาย (เช่น สป.อว. ศอ.บต. สมช.) 

4) สนับสนุนข้อมูล กมธ.การสันติภาพฯ จังหวัดชายแดนภาคใต้

5) จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ อววน. จชต.

6) จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานงานวิจัย จชต.

7) จัดทำแผนงานวิจัย จชต.

 

การลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานและรับฟังความคิดเห็น-โจทย์วิจัย

 

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)


เขียนโดย : มัชฌิมา  นันทรัตน์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : -