Knowledge Sharing ชุมชนแห่งการเรียนรู้...
อว. ขับเคลื่อนงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) สู่การพัฒนาจังหวัดสงขลา-ปัตตานี-ยะลา 115
เมื่อวันที่ 23มิถุนายน 2567ซึ่งเป็นวันแรกของการลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อน งานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) สู่การพัฒนาจังหวัดสงขลา ปัตตานี และยะลา โดยแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำทีมบุคลากร อว. เข้าเยี่ยมชมหอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7รอบ พระชนมพรรษา จ.สงขลา และรับฟัง การดำเนินงานของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีนายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้จัดการหอดูดาวภูมิภาคอาวุโส และนายรอยาลี มามะ เจ้าหน้าที่หอดูดาวฯ กล่าวรายงาน ผลการดำเนินงานใน 14จังหวัดภาคใต้ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้องค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ในการพัฒนา คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ อาทิ กิจกรรมพาดาวมาหาน้อง ท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ การพัฒนาพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ การทำแขนเทียมให้ผู้พิการ การจัดทำค่ายดาราศาสตร์ และโครงการทุนเยาวชนคนดี รวมทั้งการเผยแพร่และสนับสนุนองค์ความรู้ เกี่ยวกับดาราศาสตร์อิสลามที่มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านดาราศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและหลักปฏิบัติของชาวมุสลิม
ทั้งนี้ ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิมเชื่อมโยงดาราศาสตร์มุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวดังกล่าว ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งมีจุดเน้นในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาร้านอาหารให้ได้รับมาตรฐานฮาลาล การพัฒนาโรงแรมที่พักให้มีมาตรฐาน และมีความเป็นส่วนตัวมิดชิด ศูนย์การค้า การคมนาคมขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมและเส้นทาง การท่องเที่ยว รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ ตามหลักศาสนาอิสลาม
ในการนี้ แพทย์หญิงเพชรดาวฯ ได้ชื่นชมการดำเนินงานของ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ได้มีการประสานและหาเครือข่ายความร่วมมือเพื่อดำเนินงานขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ด้านดาราศาสตร์ไปสู่การพัฒนาพื้นที่และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนา แผนการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิมเชื่อมโยงดาราศาสตร์มุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ ดังนี้
1. ควรมีการสำรวจความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์หาจุดเน้นในการพัฒนาให้ตรงกับ ความต้องการของนักท่องเที่ยว
2. ควรมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำงานร่วมกับ บพข. ในการพัฒนาคุณภาพของโรงแรมที่พัก ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
3. ควรเน้นการพัฒนาบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์มุสลิม เพื่อให้เกิดการสร้างความรู้เข้าใจในเรื่องดังกล่าว และขยายการรับรู้ ในวงกว้างต่อไป