วิสัยทัศน์ พันธกิจและกลยุทธการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จำกัด  25

คำสำคัญ : วิสัยทัศน์สอ.วว.  กลยุทธการลงทุนของสอ.วว.  

วิสัยทัศน์ พันธกิจและกลยุทธ์การลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จำกัด

                      โดย ดร.สรรณพ นาควานิช กรรมการ สอ.วว. ชุดที่ ๒๔ (ประธานอนุกรรมการการลงทุน)

         

สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จำกัด เรียกย่อว่า สอ.วว. ถือกำเนิดตามกฏหมาย พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ อันเป็นเดือนเดียวกับเดือนเกิดของเลขานุการคณะก่อตั้งในปีนั้น เรารวมตัวกันราว ๑๓๒ คน มีทุนเรือนหุ้นประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันสหกรณ์มีอายุ ๒๔ ปี มีจำนวนสมาชิก ๓,๒๘๙ คน ที่ทำงานอยู่หลายสังกัด เช่น สังกัดกระทรวง อว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมณ กระทรวงมหาดไทย (อจน.)  มีทั้งประเภทข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และสถาบันการศึกษา เช่น สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ณ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๗  สอ.วว. มีสินทรัพย์ จำนวน ๑,๗๗๓.๙๔ ล้านบาท

การให้บริการของ สอ.วว. หลัก ๆ มี ๓ อย่าง คือ (๑) การให้เงินกู้แก่สมาชิก จำนวน ๑,๐๙๖.๗ ล้านบาท (๖๒%ของสินทรัพย์) ตามโครงสร้างมาตรฐานการบริหารงานสหกรณ์ สามารถเพิ่มการให้เงินกู้ได้อีก ๘-๑๘%   (๒) การรับเงินฝากที่ไม่ต้องเสียภาษี จำนวน ๖๖๗.๓ ล้านบาท (๓๘%) ยังเพิ่มรับปริมาณเงินฝากได้อีก ๒๒-๓๒% (๓) เงินออมในรูปแบบทุนเรือนหุ้นและทุนสำรอง จำนวน ๑,๐๕๐.๖ ล้านบาท (๕๖%) ซึ่งเกินมาตรฐานไปราว ๒๕%ส่วนนี้จำเป็นต้องจำกัดและให้สมาชิกเปลี่ยนไปใช้บริการเงินฝากแทน เนื่องจากมีต้นทุนสูง (๕.๕๙%)

วิสัยทัศน์ของ สอ.วว. ชุดที่ ๒๔ ปี ๒๕๖๗ “เป็นองค์กรสวัสดิการด้านเงินออมและเงินกู้ที่บริการดี          มีมาตรฐาน มีสวัสดิการทั่วถึง” มีพันธกิจ ๕ ข้อ ได้แก่ (๑) ให้บริการทางการเงินที่สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ตรวจสอบได้ (๒) ให้สวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกผ่านกองทุนสวัสดิการสมาชิก/ครอบครัว กองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน กองทุนเพื่อการศึกษา (๓) พัฒนาระบบบริหารจัดการสหกรณ์ที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูง (๔) พัฒนาระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิก (๕) สร้างความสัมพันธ์ ความผูกพันทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการลงทุน ชุดที่ ๒๔ ได้กำหนดกลยุทธ์การลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลกำไร ควบคุมความเสี่ยงให้ต่ำ ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และบริหารรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๒ / ประกาศ คพช. พ.ศ. ๒๕๖๓ และกฏกระทรวง มาตรา ๘๙/๒ โดยเลือกลงทุนในตราสารหนี้ ที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ (๑) ฝากเงินในชุมนุมสหกรร์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์กรุงเทพ (ชสกท.) และสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นๆ รวม ๑๔ แห่ง จำนวน ๕๕๕ ล้านบาท ได้ดอกเบี้ยตั้งแต่ ๓-๓.๖๕%ทั้งประเภทออมทรัพย์และฝากประจำ (๒) ซื้อหุ้นกู้เอกชนไม่เกิน ๙๕ ล้านบาท ที่ได้ดอกเบี้ยส่วนต่างมากกว่า ๑%และลงทุนในตราสารทุน ที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง มีผลตอบแทนสูงขึ้น โดยไปลงทุนกับ ชสอ. และ ชสกท. จำนวน ๙๑ ล้านบาท ได้เงินปันผล ๕-๗.๗๕% ส่วนนี้ควรเพิ่มเงินลงทุน

สอ.วว. เป็นสหกรณ์ขนาดเล็กที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาท ดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานของ ชสอ. ระดับดีมาก (B+) มีจุดแข็งคือบริหารงานด้วยแหล่งเงินรับฝากภายในและมีสภาพคล่องมากกว่า ๑๙% (เกณฑ์มาตรฐาน ๓%)

คณะอนุกรรมการการลงทุนจึงขอเสนอให้คณะกรรมการดำเนินการเห็นชอบ (๑) ให้บริการเงินกู้พิเศษ ประเภท บ้านและที่ดิน /ยานยนต์ /พัฒนาอาชีพฯ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของสมาชิกในรูปแบบเงินกู้ ที่ให้ดอกเบี้ยจูงใจ (๒) รับเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษ ๑๒ เดือน ๒๔ เดือน ๓๖ เดือน ที่ให้ผลตอบแทนที่มีดอกเบี้ย ๒.๘/ ๓.๑/ ๓.๓ โดยไม่จำกัดจำนวนเงินฝากและการถอน (๓) จัดตั้งดำเนินงานและปรับปรุงระเบียบกองทุนสวัสดิการสมาชิก/ครอบครัว กองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน กองทุนเพื่อการศึกษา ให้เหมาะสม (๔) ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน จำนวนแห่งละไม่เกิน ๒๐ ล้านบาท ที่มีผลตอบแทนส่วนต่างมากกว่า ๑%วงเงินรวม ๙๕ ล้านบาท

 

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/743/files/Vision2024_MOSTE_COOP.pdf

http://www.clinictech.ops.go.th/online/cmo/filemanager/743/files/Strategy2024.pdf


เขียนโดย : ดร. สรรณพ  นาควานิช สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : sannop@mhesi.go.th