ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.  30

คำสำคัญ : ผู้พันวิทย์  
ศูนย์ปฏิบัติราชการร่วมกระทรวง อว. ในนาม “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์” โดยความร่วมมือ 13 หน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ที่สอดคล้องกับการดำเนินภารกิจการช่วยเหลือและสนับสนุนคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน มีพันธกิจในการเฝ้าระวัง เตือนภัย ให้ความรู้ และป้องกันแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เตือนภัยด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ความรู้ แจ้งเตือนสถานการณ์ พร้อมทั้งให้องค์ความรู้ หลักการ เหตุผล ข้อแนะนำแก่ประชาชน และร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานราชการ ในพื้นที่บูรณาการกับท้องถิ่นและภาคประชาสังคม นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงพื้นที่เพื่อการพิสูจน์ตรวจสอบ ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งถือเป็นการทำงานให้เกิดพลังร่วมสู่การดูแลประชาชน โดยองค์ความรู้ จากกระทรวง อว.ในหลากหลายด้าน อาทิ
 
1.การสนับสนุนการวิจัยพัฒนา บริการทดสอบ การรับรองระบบคุณภาพ ที่สอดคล้องกับการดำเนินภารกิจช่วยเหลือและสนับสนุนคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน การสนับสนุนด้านการรับรองระบบคุณภาพ    ด้านการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ด้วยการรับรองมาตรฐานสากล จากผู้ผลิตที่ผ่านการตรวจรับรองและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
 
2.การทดสอบและมาตรวิทยา  ด้านการเลือก การทดสอบ ตรวจสอบอาหารและผลิตภัณฑ์ ตามเกณฑ์มาตรฐาน อย. และ มอก.
 
3.การส่งเสริมจากการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อความปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืนของท้องถิ่น โดยเฉพาะนวัตกรรมภูมิสารสนเทศในรูปแบบแอพพลิเคชั่นในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่สนใจ ติดตาม และเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการทำการเกษตร รวมทั้งนำระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกร  และชุมชน มาสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ให้เพิ่มขึ้น
 
4.ธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) ต้นแบบการส่งต่ออาหารส่วนเกินสู่กลุ่มเปราะบาง ที่มุ่งลดขยะอาหาร ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และสร้างการเข้าถึงอาหารได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กับประชากรกลุ่มเปราะบางอันจะช่วยส่งเสริมให้ลดการเกิดขยะอาหาร ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ และแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน  ส่งเสริมเป้าหมายด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ลดการสูญเสียอาหาร และลดการเกิดขยะอาหาร
 
5.การตรวจโบราณวัตถุ ด้วยเครื่องมือ วิเคราะห์ด้วยเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับแสงซินโครตรอน ได้แก่ เทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ (XRD) เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (XRF) และเทคนิคการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด (IR) รับตรวจตัวอย่างและลงพื้นที่สำรวจแหล่งชุมชนโบราณ
 
6.การตรวจวัดและพัฒนาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อชุมชน การตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  นวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคที่มีการปนเปื้อนฟลูออไรด์ โลหะหนัก และสารเคมีตกค้างด้วยนาโนเทคโนโลยี                 
 
7.ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และปรับปรุงคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคที่มีการปนเปื้อนมลสาร เพื่อป้องกันและชะลอการเกิดโรคไตเรื้อรังและโรคที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในชุมชนรอบเขื่อน และองค์ความรู้สู่ชุมชน:นวัตกรรมกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน เป็นต้น พร้อมอีกหลากหลายการดำเนินงานในอนาคต
 
“ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.” เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมของหน่วยงานในสังกัด อว. ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความปลอดภัย และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พี่น้องประชาชน โดยศูนย์ปฏิบัติการฯ ดังกล่าวจะดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายหน่วยงานของกระทรวง อว.    ดังนั้น ประชาชนหรือหน่วยงานสามารถแจ้งปัญหาผ่านสายด่วน 1313 Facebook ผู้พันวิทย์ อว. และ Line OA ผู้พันวิทย์ อว. 


เขียนโดย : นายทินกร  รสรื่น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : tinnakorn.r@mhesi.go.th