สรุปความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมสนทนาประสา วศ. ในหัวข้อ “รอบรู้ บรรจุภัณฑ์ เพื่อการคุ้มครองและแข่งขัน”  40

คำสำคัญ : บรรจุภัณฑ์  วศ.  

ในปัจจุบัน หากมีการถามถึงเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ตัดสินใจซื้อสินค้าท้องถิ่น โดยทั่วไปผู้คนจะนึกถึงเหตุผลเหล่านี้

                             “การสื่อสารข้อมูลสินค้าไม่เพียงพอ และไม่เข้าถึงผู้บริโภค” 
                                   “ประสิทธิภาพของสินค้าไม่ตรงตามความคาดหวัง” 
                                               “ช่องทางจำหน่ายไม่ทั่วถึง”
                                        “รูปแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ดึงดูดความสนใจ”

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคส่วนใหญ่มักมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญ ได้แก่ ความปลอดภัย อายุการเก็บอาหารสั้นเกินไป สินค้าแตกเสียหาย และใช้งานไม่สะดวก” (คำกล่าวจากวิทยากรผู้บรรยาย : อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก)

เมื่อวันพุธที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้จัดกิจกรรมสนทนาประสา วศ. ในหัวข้อ “รอบรู้ บรรจุภัณฑ์ เพื่อการคุ้มครองและแข่งขัน” โดยมีอาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก ที่ปรึกษาสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย เป็นวิทยากรผู้บรรยาย ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ เกี่ยวกับแนวทางการออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย
เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้

๑. การบรรจุภัณฑ์ (Packaging) คือ วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ ของระบบในการจัดเตรียมสินค้าจากแหล่งผลิต เพื่อการลำเลียง ขนส่ง เก็บรักษา และจัดจำหน่าย จนถึงมือผู้บริโภค โดยเสียค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

๒. การออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อคุ้มครองและแข่งขัน จะให้ความสำคัญกับ ๒ ปัจจัย ได้แก่

    ---> Structural designคือ ขนาด รูปแบบ รูปทรง ความแข็งแรง วัสดุที่ใช้ ความคุ้มครอง วิธีการขึ้นรูป รายละเอียดการปิดและเปิด โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อความปลอดภัย การรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์/สินค้า ความสะดวกในการใช้งาน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    ---> Graphic Designคือ สีสันลวดลาย ข้อความ รูปภาพ คุณภาพการพิมพ์ โดยปัจจัยเหล่านี้จะสามารถให้ข้อมูลรายละเอียดสินค้าตามกฎระเบียบด้านฉลาก เน้นการสื่อสารกับผู้บริโภคให้เกิดความสนใจและตัดสินใจซื้อ ส่งเสริมการขาย สร้างความจดจำและเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์สินค้า

๓. การแบ่งประเภทบรรจุภัณฑ์ สามารถแบ่งได้หลายประเภท เช่น แบ่งตามลักษณะการใช้งาน แบ่งตามประเภทวัสดุของบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

     ---> แบ่งตามลักษณะการใช้งานได้แก่

- บรรจุภัณฑ์เพื่อการขายปลีก (Consumer Packaging)ประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์ปฐมภูมิ (Primary Packaging) คือ บรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารอยู่ชั้นใน เน้นความปลอดภัยในการสัมผัสอาหาร และคุ้มครองให้มีอายุการเก็บยาวนาน และบรรจุภัณฑ์ทุติยภูมิ คือ บรรจุภัณฑ์ชั้นนอก ที่เน้นป้องกันความเสียหายและสื่อสารข้อมูลผลิตภัณฑ์

- บรรจุภัณฑ์ขนส่ง (Logistics Packaging)คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีเพื่อป้องกันความเสียหายของบรรจุภัณฑ์ขายปลีกและสินค้า เพิ่มประสิทธิของโลจิสติกส์ และให้ข้อมูลปลายทาง

---> แบ่งตามประเภทวัสดุของบรรจุภัณฑ์ได้แก่

- บรรจุภัณฑ์แก้วมีจุดเด่นในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้า มีความปลอดภัยในการสมผัสกับอาหาร สามารถป้องกันไอน้ำและก๊าซได้ดี ทําให้้เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้้นาน และสามารถรีไซเคิลได้ แต่มีจุดด้อย คือ แตกง่าย ไม่ทนต่อแรงกระแทก ใช้พลังงานในการผลิตสูง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และมีราคาแพงเนื่องจากรูปทรงเฉพาะ ต้องเสียค่าแม่แบบสูงมาก

อย่างไรก็ตาม การใช้บรรจุภัณฑ์แก้วที่มีลักษณะเป็นขวดสี อาทิ สีชา สีเขียว จะส่งผลให้กระบวนการรีไซเคิลทำได้ยากยิ่งขึ้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการหลีกเลียงแสงซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ขวดสีชา เป็นต้น

- บรรจุภัณฑ์โลหะ มีจุดเด่นคือ มีความแข็งแรง รับแรงกดทับในการเรียงซ้อนได้ดี ป้องกันไอนํ้าและก๊าซได้ดีมาก ทึบแสง และทนอุณหภูมิในการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงได้ แต่มีจุดด้อยคือ นํ้าหนักมาก ใช้พลังงานในการผลิตสูง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อาจทําปฏิกิริยากับอาหารที่บรรจุ และอาจเกิดการกัดกร่อนถ้าสภาวะ
การเก็บไม่เหมาะสม

- บรรจุภัณฑ์พลาสติก มีจุดเด่นคือ น้ำหนักเบา ไม่แตก ใช้พลังงานในการผลิตต่ำ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่า มีหลายชนิดและหลายรูปแบบให้เลือกใช้ สามารถใช้หลายชนิดร่วมกันได้ ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์เปียกชื้นและของเหลวได้ ป้องกันไอนํ้า ก๊าซ และไขมันได้ ปิดผนึกด้วยความร้อนได้ ราคาตํ่ากว่าบรรจุภัณฑ์แก้วและโลหะ แต่มีจุดด้อยคือ พลาสติกบางชนิดทําปฏิกิริยากับอาหารที่บรรจุ ทําให้ไม่ปลอดภัย และพลาสติกหลายชั้นส่วนใหญ่ยังไม่สามารถรีไซเคิลได้

ในปัจจุบัน มีทางเลือกในการใช้บรรจุภัณฑ์ประเภท Bioplastics หรือ Biodegradable plastics ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยและน้ำตาลที่มีมูลค่าต่ำ ให้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง
และสามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)ได้อย่างดียิ่ง

- บรรจุภัณฑ์กระดาษ มีจุดเด่นคือคงรูป ขึ้นรูปแล้ววางบนชั้นวางขายได้ดี มีหลากหลายรูปแบบ พิมพ์ได้สวยงาม ตกแต่งผิวให้เงาวาวได้ และไม่ก่อปัญหามลภาวะ สามารถรีไซเคิลได้ 100 %
แต่มีจุดด้อยคือ ดูดความชื้นได้ง่าย ทําให้สูญเสียความแข็งแรง และไม่สามารถป้องกันไอนํ้าและก๊าซได้

ทั้งนี้ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ควรพิจารณาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารให้เหมาะสมคุณลักษณะของสินค้า/ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท โดยอาจใช้แบบผสมผสานกันได้ เพื่อให้เกิดการทำหน้าที่
ในการป้องกันความปลอดภัย เพิ่มอายุการเก็บรักษา ทนต่อสภาวะฆ่าเชื้อ สามารถใช้งานได้สะดวก มีราคาที่เหมาะสม และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

๔. การทำความรู้จักกับสาร PFAS (Perfluoro- and Polyfluorinated Alkyl Substances) คือ กลุ่มสารเคมีที่ประกอบด้วยคาร์บอนและฟลูออรีน ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่มีคุณสมบัติทนความร้อน ป้องกันความชื้นและไขมันได้ดี จึงมีการนำสารกลุ่ม PFAS มาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งของต่างๆ เช่น พรม เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอาหาร และเครื่องครัวเคลือบกันเปื้อน(Non-Stick) เป็นต้น แต่สารกลุ่ม PFAS เป็นสารเคมีที่มีความเสถียรสูงและสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน ทำให้สารกลุ่ม PFAS เกิดการแพร่กระจายและสะสมในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตและเป็นอัตรายต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์อีกด้วย ทั้งนี้ สาร PFASยังพบได้มากในผลิตภัณฑ์หลอดกระดาษ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมของร้านเครื่องดื่มต่าง ๆ อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้บริโภคควรให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าวด้วย

๕. ปัจจัยที่มีผลต่ออายุการเก็บของผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ (๑) สมบัติของอาหารและกระบวนการแปรรูป (๒) เทคโนโลยีการบรรจุและบรรจุภัณฑ์ และ (๓) สภาวะการเก็บรักษา ดังนั้น จึงควรเลือกใช้เทคโนโลยีการบรรจุและบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ และลดปัญหาเศษอาหารเหลือทิ้งที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ การระบุอายุการเก็บรักษาที่บรรจุภัณฑ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น

    ---> การระบุวันหมดอายุ (Expiration date) : ควรระบุเนื่องจากมีผลต่อความปลอดภัยของผู้ซื้อสินค้า

    ---> การระบุวันก่อนวันสุดท้ายที่คุณภาพอาหารอยู่ในเกณฑ์ดีมาก (Best before) : ไม่ควรระบุ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และเพิ่มปริมาณเศษอาหารเหลือทิ้งโดยไม่มีเหตุสมควร

นอกจากนี้ อาหารแช่แข็ง/แช่เย็น ต้องระบุอุณหภูมิในการเก็บรักษา และอาจใส่สารดูดความชื้นในผลิตภัณฑ์ที่ต้องรักษาสภาพแห้งได้

สำหรับผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ที่ต้องการปรึกษาหรือสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ท่านวิทยากรได้แนะนำผู้ผลิตและจำหน่ายไว้ดังนี้

บริษัทไทยนําโพลีแพค จํากัด โทร 091 716 7788 (ถุงพิมพ์ดิจิทัล)

บริษัท Thai Offset จำกัด โทร 02 213 2351-61 (ถุงลามิเนต)

บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด โทร 02 265-8400 (พลาสติกรีไซเคิล/โรงงานผลิดเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่เดียวในประเทศไทย)

ข้อมูลจากการเข้าร่วมกิจกรรมสนทนาประสา วศ. ในหัวข้อ “รอบรู้ บรรจุภัณฑ์ เพื่อการคุ้มครองและแข่งขัน” เมื่อวันพุธที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๗ ผ่านระบบ zoom conference


เขียนโดย : จตุรพร  วิศนุนาถนคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : jaturaporn.wis@gmail.com

ดีมากครับ ลองหาโครงการที่จะทำร่วมกันระหว่าง วศ. กับ กปว. เช่น การจัดตั้งศูนย์ให้บริการ วศ. ในพื้นที่ของ scipark

เขียนโดย นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ