เรื่องราวมหากาพย์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุง สู่ยาจากพืช  136

คำสำคัญ : 

ยุงและยาจากพืช

มีบทความหนึ่งในนิตยสารสาระวิทย์ของ สวทช. ที่ติดตามอ่านต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมหากาพย์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุง เล่าโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ แห่งภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ดำเนินเรื่องมาถึงภาค 10 สามารถตามไปอ่านทั้ง 10 ตอนย้อนหลังได้ตามลิ้งนี้

https://www.nstda.or.th/sci2pub/?s=%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%86%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%87

ตอนที่ 6 บรรยายถึงของชีวิตประจำวันของยุงสาวน้อยตัวหนึ่ง บรรยากาศเปิดมาเหมือนจะอิโรติก! แต่หักมุมจบด้วยโศกนาฏกรรมเลือดสาดกระจายซะงั้น

“เธอคือสาวน้อยปีกใส ร่างเล็กจิ๋ว

เธอชอบอยู่ใกล้ ๆ กับคน คอยบินวนเวียนไปมา ฮัมเพลงวี้วี้

คาร์บอนไดออกไซด์และไออุ่นทำให้เธอคลั่ง

มันคือปาร์ตี้อาหารบุฟเฟต์รสโอชา

เธอแอบดอมดมข้างกายเขา

สัมผัสถึงคาร์บอนไดออกไซด์และไออุ่น

กลิ่นกายของเขาซับซ้อนแต่ดึงดูดใจ

เธอรู้สึกได้ถึงสายโลหิตที่ไหลเวียนอยู่ใต้ผิวอันเนียนนุ่มที่ตรงหน้า

สัญชาตญาณแวมไพร์กระหายเลือดเริ่มครอบงำ

เธอตัดสินใจแอบบินเข้าไปเกาะกายเขาอย่างแผ่วเบา

เบาเสียจนแม้แต่ตัวเขาเองยังไม่รู้สึก

เธอขดซองเขี้ยวขึ้นมา

ก่อนที่จะใช้เขี้ยวทั้งหกที่ยาวและคมราวกับเข็ม

บรรจงเจาะผ่านผิวของเหยื่อเข้าไป

ควานหาเส้นเลือดภายใน

แล้วสูบกินจนอิ่มหนำ อวบอ้วน ท้องเป็นสีแดงฉาน

 

และแล้วทันใด ก็มีเสียงผัวะ ดังสนั่น

ร่างอวบอ้วนของเธอพลันแตกสลาย

ทิ้งไว้แค่คราบเลือดที่สาดกระจาย

เป็นฉากสุดท้ายฆาตกรรมไม่อำพราง”

บนโลกนี้มียุงอยู่ประมาณ 3,500 ชนิด และที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มีประมาณ 100 ชนิดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุงทั้งหมด บทความตอนนี้ เล่าถึงชีวิตประจำวันของยุงตัวเมีย ที่ถูกปลุกให้ตื่นด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจ ดึงดูดให้ยิ่งคลั่งกระหายเลือดด้วยความร้อนที่แผ่ออกมาจากผิวหนัง และกลิ่นอันเย้ายวนใจจากร่างกายมนุษย์ ในขณะที่ยุงตัวผู้ แทบจะถือศีลกินเจ ไม่สนใจเลือด แต่เสพน้ำหวานจากต้นไม้และดอกไม้แทน ถ้าพูดถึงรสนิยมทางเพศ ยีน fruitless ในแมลง ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกของโปรตีนในสมองที่ส่งผลถึงพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีและจับคู่ เมื่อทำการ knock out หรือนำยีน fruitless ออกไป ยุงตัวผู้จะเกิดการกลายพันธุ์ ไม่สนใจที่จะจับคู่กับตัวเมียอีก แต่เมื่อทดสอบว่ายุงชายไม่จริงหญิงไม่แท้นี้มีพฤติกรรมการกระหายเลือดเหมือนในตัวเมียไหม ปรากฏว่าถ้าล่อด้วยเลือดอุ่นๆสดๆ กลับไม่สนใจ แต่จะกระตุ้นความสนใจได้ ถ้ายื่นไปทั้งแขนที่มีทั้งกลิ่นและอุณหภูมิจากร่างกายมนุษย์ร่วมด้วย แผนต่อไปในการหาวิธีอยู่ด้วยกันแบบสันติของนักวิจัยและยุง คือจะลองเปลี่ยนรสนิยมทางเพศของยุงตัวเมีย ที่อาจส่งผลถึงรสนิยมการกินดูว่าจะได้ผลในการลดอัตราการติดเชื้อที่เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดไหม

สำหรับโรคเขตร้อนที่มียุงเป็นพาหะ เช่น มาลาเรีย ไข้เด็งกี หรือไข้เลือดออก ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ บางเชื้อยังไม่มียาต้านไวรัสจำเพาะ ถ้ามียาต้านเชื้อก็ราคาแพงมาก ซึ่ง Artemisinin เป็นยาตัวหนึ่งที่ให้ผลดีในการต้านเชื้อมาลาเรียที่เกิดจากเชื้อดื้อยา Plasmodium falciparum สามารถลดอาการติดเชื้อในเลือดได้ภายใน 48 ชม. แต่ปัญหาคือชิงเฮ่า (Artemisia annua L.) ที่เป็นพืชผลิตสาร Artemisinin จะสร้างสารสำคัญสูงสุดในระยะออกดอก ในตำรับยาแผนโบราณไทยจึงใช้เฉพาะส่วนเหนือดินที่เก็บในระยะออกดอกมาทำเครื่องยาแห้งเท่านั้น เรียกว่า โกฐจุฬาลัมพา ซึ่งต้องใช้เวลาปลูกนาน 12-18 เดือน และสารที่สกัดได้ หลังจากทำให้เป็นสารบริสุทธิ์แล้วก็มีปริมาณน้อย ยาจึงมีราคาแพงมาก ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองเพื่อเพิ่มปริมาณสารนี้โดยใช้หลายวิธี เช่น เปลี่ยนโรงงานผลิต ในเมื่อพืชผลิตได้น้อย ก็ไปใช้ระบบของยีสต์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม นำยีนเดี่ยวที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ Artemisinin จากพืชชิงเฮ่ามาใส่ให้ยีสต์สร้างสารได้ แต่กระบวนการสร้างสารสำคัญในพืชมีความซับซ้อน สารสำคัญตัวหนึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ในหลายกระบวนการร่วมกัน อยากจะเลียนแบบระบบก็เลียนได้ไม่เหมือนเต็มที่ ยกตัวอย่างการแพทย์แผนโบราณของไทย มักจะไม่ใช้สมุนไพรเดี่ยวในการรักษา แต่ใช้สมุนไพรหลายชนิดมาปรุงร่วมกันเป็นตำรับยา เพื่อให้มีการผสมผสานของสารสำคัญในพืชหลายๆชนิด เกิดการออกฤทธิ์ร่วมกันแบบองค์รวม เหมือนเครื่องดื่ม cocktail ที่มีส่วนผสมหลากหลาย ปัจจุบันการรักษามาตรฐานสำหรับโรคมาลาเรียจึงใช้ยากลุ่มนี้เป็นสารออกฤทธิ์หลักร่วมกับยากลุ่มอื่นๆ เรียกว่า การรักษาแบบผสมผสานด้วยอาร์ทีมิซินิน (artemisinin-combination therapy) และหาวิธีผลิตสารโดยผ่านระบบของพืชด้วยกัน เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีโครงสร้างและการออกฤทธิ์ที่ใกล้เคียงกับสารที่ผลิตในชิงเฮ่า และหาวิธีผลิตสารสำคัญให้มีปริมาณสูงขึ้น หรือร่นระยะเวลาการปลูกได้เร็วขึ้นแทน เช่น ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อผลิตสารในยาสูบที่ใบใหญ่และโตเร็ว หรือผลิตสารในพืชอาหารที่มีโปรตีนสูงและระบบการสร้างสารสำคัญใกล้เคียงกัน เช่น ผักกาดหอมและผักโขม จะได้เข้าเทรนด์ "Future Food" นวัตกรรมอาหารยุคใหม่ กินอาหารเป็นยา ให้คุณสมบัติด้านฟังก์ชันเป็นกลไกต่อต้านโรค หรือถ้าอยากจะเลี่ยงการตัดต่อพันธุกรรม และการปนเปื้อนของพืช GMO ก็อาจใช้วิธีปลูกเลี้ยงในระบบ Plant factory ภายใต้แสง LED แทน ซึ่งนอกจากกระตุ้นการสร้างสารสำคัญได้แล้ว ยังสามารถเร่งระยะออกดอกและการเจริญเติบโตได้อีกด้วย ทางเลือกนี้เป็นการยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรแม่นยำในอนาคต ซึ่งสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประชาชนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต


เขียนโดย : นางสาวประภาวีร์  วรกรรณ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : phapawee.w@gmail.com