บทบาทสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย   38

คำสำคัญ : 

การเสวนา เรื่อง บทบาทสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย โดย คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การผลิตและพัฒนากําลังคนให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากสถานการณ์โลกมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การจัดการสถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแรงงาน การสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ การวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการผลิตและพัฒนากําลังคนเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้

๑) การพัฒนาฝีมือแรงงาน (Upskill /Reskill /New Skill) ผู้ให้บริการ (Service Provider) และสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ ตามความต้องการของกิจการ ศักยภาพ และบทบาทที่สอดคล้องกับจุดเด่น/โอกาสของพื้นที่ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจ

๒) การยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคการผลิตบริการ สนับสนุนการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อกําหนดนโยบายการพัฒนาของภาครัฐ ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจโดยสนับสนุนเครือข่ายและความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ สถาบันการศึกษา ชุมชน และภาคเอกชนในพื้นที่ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล/องค์ความรู้ระหว่างกัน และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้วิสาหกิจชุมชน ศูนย์บ่มเพาะ และสตาร์ทอัพ เพื่อช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงสนับสนุนการต่อยอดงานวิจัยในภาควิชาการ ให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และกลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

๓) เนื่องจากการปรับปรุงหลักสูตรของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอาชีพในภาคอุตสาหกรรม และการขาดแคลนกําลังคนในบางสาขาวิชาที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทาง กระทรวง อว.ได้มีโครงการเพื่อผลักดันการพัฒนากําลังคนมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การกำหนดหลักสูตรระดับปริญญาตรี โท เอก ในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โครงการสหกิจศึกษาและการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทํางาน (Cooperative and Work Integrated Education (CWIE)) และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ (Thailand Massive Open Online Courses (Thai MOOC)) และการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามจุดเน้น/แนวทางการพัฒนาและการลงทุน ใน ๖ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายของระเบียงเศรษฐกิจ และ ๑๓ กลุ่มกิจการเป้าหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เช่น หลักสูตรการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน และต้องมีการสํารวจความต้องการของพื้นที่และประเมินผลติดตามการดําเนินงานว่าสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายมากน้อยเพียงใด เพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์ของกําลังคน และภาคเอกชน หรือสถานประกอบการ

๔) การพัฒนาการศึกษาทุกระดับให้สอดรับต่อเนื่องกันตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงมหาวิทยาลัย และเชื่อมโยงการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้มีเส้นทางต่อเนื่องไปสู่ระดับอุดมศึกษา ช่วยตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และตอบสนองความต้องการของตลาด ปัจจุบันได้มีการรับรองหลักสูตรระดับอาชีวศึกษาประมาณ ๔๒ หลักสูตร แต่ในระดับอุดมศึกษายังไม่มีการรับรองหลักสูตรที่กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จึงควรเร่งผลักดันการสร้างระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้หรือธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) ขึ้นมารองรับและเชื่อมโยงการศึกษาในทุกระบบ รวมถึงภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์แก่สถานประกอบการที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงาน และพิจารณาปรับหลักสูตรให้ให้สถานประกอบการมีความเชื่อมโยงกับสถานศึกษามากขึ้น โดยพิจารณาปรับโครงสร้างของกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยให้มี ผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนผู้แทนของภาคอุตสาหกรรมหรือผู้แทนนักธุรกิจ เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรได้สอดคล้องกับความต้องการ และสามารถช่วยผลักดันให้มีการนําผลงาน วิชาการหรืองานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง 

๕) การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือในการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และการจัดการและควบคุมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการการใช้เทคโนโลยีหรือทรัพยากรต่าง ๆ และสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular - Green Economy Model: BCG) 


เขียนโดย : นางสาวประภาวีร์  วรกรรณ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : phapawee.w@gmail.com