IGNITE THAILAND การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน  31

คำสำคัญ : 

IGNITE THAILAND ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” IGNITE คือ การจุดประกาย ให้เกิดไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง กำหนดทิศทางเพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืนพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองอุตสาหกรรมระดับโลก ด้วย 8 วิสัยทัศน์


1. ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการเดินทางในภูมิภาค และกลุ่มประเทศ CLMV(Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam)(Tourism Hub) รายได้หลักของประเทศไทยมาจากการท่องเที่ยว ใช้อำนาจเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ แสดงอัตลักษณ์ของประเทศทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม งานเทศกาล คอนเสิร์ต งานภาพยนตร์ งานศิลปะ อาหาร วัฒนธรรม กีฬา และศิลปะป้องกันตัว

  • ผลักดันจังหวัดที่มีความพร้อมทั้งด้านวัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งวัฒนธรรมที่ได้รับการประเมินให้เป็นมรดกโลก เช่น จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวล้านนาตะวันออก เป็นเมืองมรดกโลกด่านเศรษฐกิจชายแดน มีสนามบินนานาชาติและรถไฟรางคู่ล้านนาตะวันออกเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัด
  • อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวด้วยฟรีวีซ่า เช่น จีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน รวมถึงปรับแก้กฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว เช่น เวลาเปิดปิดของสถานบริการ  การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอัตราภาษีสำหรับการจัดงานหรือการแข่งขันต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้ผู้จัดงานคอนเสิร์ต ภาพยนตร์ และงานศิลปะระดับโลก สามารถเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย
  • พัฒนาทั้งเมืองหลัก และเมืองรองในทุกภูมิภาคให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว
  • ทุกพื้นที่จะต้องนำธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต สินค้าพื้นบ้าน อาหาร/ของฝากขึ้นชื่อ มาสร้างเป็นจุดขายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

 2. ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) ผลักดันอุตสาหกรรมสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรระดับโลก โดยมีจุดขาย คือ การบริการทางการแพทย์ที่ดี ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผล บุคลากรทางการแพทย์มีความเชี่ยวชาญ มีคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาพยาบาลสูง

  • พัฒนาระบบประกันสุขภาพจาก 30 บาทรักษาทุกโรค ยกระดับไปเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ คือเข้าถึงสวัสดิการทั้งการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชน ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ไม่ต้องรอคิว เนื่องจากมีฐานข้อมูลสุขภาพ ลดภาระบุคลากรไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน แผนมี 4 ระยะ

- ระยะที่ 1 นำร่อง 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส

-ระยะที่ 2 นำร่อง 8 จังหวัด เริ่มเดือนมีนาคม 2567 ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา

- ระยะที่ 3 เริ่มเดือนเมษายน 2567

- ระยะที่ 4 ดำเนินการครอบคลุมทุกจังหวัดภายในสิ้นปี 2567

  • ยกระดับบุคลากรทางการแพทย์แผนไทย การใช้สมุนไพรไทยเพื่อการแพทย์ และผู้ประกอบการไทย ให้มีประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน เพื่อผลักดันให้สามารถเปิดศูนย์ Wellness Center ได้ในต่างประเทศ

3. ศูนย์กลางอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร (Agriculture & Food Hub) ยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร สู่ความมั่นคงทางอาหารและการเป็นครัวโลก โดยใช้จุดแข็งทางด้านภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ และทรัพยากรของประเทศไทยที่มีความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงขั้นตอนการส่งออก แต่ต้องมีการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรตามแนวทางเกษตรอัจฉริยะ (Precision Agriculture) การยกระดับนวัตกรรมอาหาร ได้แก่ อาหารสังเคราะห์จากพืชหรือราเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ อาหารที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการจำเพาะบุคคล เช่น อาหารฮาลาล อาหารสำหรับผู้ป่วย และอาหารอวกาศ

4. ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก มีจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ที่มีระยะทางไปยังศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทั่วโลกใกล้กว่าประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง

  • ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว เช่น ราคาเที่ยวบิน เส้นทางและตารางบิน รูปแบบสนามบินที่รองรับการ Transit ของสายการบิน เพื่อเพิ่ม Transit Capacity ให้สูงขึ้น 
  • มีสนามบินทั้งในเมืองหลัก และเมืองรอง ที่เอื้อต่อการขยายตัวของเมือง และการเติบโตของภาคบริการ ภาคการขนส่ง การท่องเที่ยว อาหาร สินค้าเกษตร ไปยังตลาดโลก พร้อมเป็น Homeland ของสายการบินทั้งไทยและสายการบินนานาชาติ คือมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ จุดจอด จุดซ่อมบำรุง การขนส่งสินค้า ทรัพยากรบุคคล การรักษาความปลอดภัย และคุณภาพการบริการ 

5. ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็กด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อประโยชน์ในการส่งออก และขนส่งสินค้า เป็นศูนย์กลางขนส่งผ่าน Land Bridge เชื่อมมหาสมุทรอันดามัน และอ่าวไทย

6. ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) ขยายการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์จากญี่ปุ่น และรถยนต์ EVในประเทศไทย สร้างระบบนิเวศการผลิตครบวงจร เนื่องจากมีความพร้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของกระบวนการผลิต มีโรงงานผลิตอะไหล่ ศูนย์ซ่อมบำรุง และบุคลากรที่มีศักยภาพ รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น เครื่องยนต์ Hydrogen

7. ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy Hub) ขยายงานวิจัยและธุรกิจนวัตกรรม AI  ในประเทศไทย โดยใช้จุดแข็งทางด้านการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เริ่มจากการเตรียมจัดตั้งโรงงานผลิต Semiconductorและศูนย์โครงข่ายข้อมูลเพื่อรองรับระบบ Cloud Computingรวมถึงดึงบริษัท Deep Tech จากต่างประเทศในมาลงทุนในประเทศไทยผ่านกองทุนที่รัฐบาลสนับสนุนในโมเดล Sandbox และจะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเพื่อหาเงินทุนเพิ่มเติมให้บริษัทที่มีศักยภาพ และปรับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการตั้งบริษัท การถือครองทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อดึงบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาลงทุนระยะยาวในประเทศไทย และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการจัดตั้งธุรกิจ Startup 

8. ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) เปลี่ยนให้ไทยเป็นตลาดเงินที่สำคัญของอาเซียน Financial Center of Southeast Asia ขับเคลื่อนโดยการพัฒนาระบบการเงิน และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับระบบการเงินแห่งอนาคตด้วย Blockchain ที่ไร้ตัวกลาง Digital Asset ต่าง ๆ ที่สามารถแปลงเป็นผลผลิตได้ และระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน (Carbon Credit Trading)

 
ซึ่งพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายเหล่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคน และการพัฒนาทางสังคมผ่านการพัฒนากระบวนการทำงานต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยรัฐบาลจะเน้นความสำคัญใน 4ประเด็น คือ

  • ความเท่าเทียมทั้งเพศสภาพ การประกอบอาชีพ การรักษาพยาบาล รองรับทั้งผู้สูงวัย ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก  โอกาสทางการศึกษา
  • วัฒนธรรมที่เปิดกว้าง (Soft Power) พร้อมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และนำฐานวัฒนธรรมไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้โดยไม่ละเลยอัตลักษณ์และละทิ้งตัวตน
  • ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปราศจากอาชญากรรมและยาเสพติดในสังคม
  • พลังงานสะอาด ประชาชนและภาคธุรกิจต้องเข้าถึงพลังงานสะอาดและราคาถูก

เขียนโดย : นางสาวประภาวีร์  วรกรรณ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : phapawee.w@gmail.com