เศรษฐศาสตร์ราและราก สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  39

คำสำคัญ : 

ต้นไม้เคลื่อนที่ไม่ได้ บางทีอยากจะเรียกสิงสาราสัตว์เข้าไปใกล้ๆ ไล่ให้ให้ไปไกลๆ หรืออยากไล่ต้นหญ้าข้างๆ ที่แย่งน้ำแย่งอาหารให้ไปตายซะ อยากตะโกนบอกเพื่อนข้างๆว่าแถวนี้มีอันตราย ก็ต้องสื่อสารกันผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งสื่อสารกับพืชด้วยกันเอง สื่อสารกับบรรดาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ รอบข้าง โดยผ่านฮอร์โมนพืช หรือสารเคมีที่เรียกว่า อัลลีโลพาธี ที่ปลดปล่อยออกมาหลายรูปแบบ ได้แก่ พืชปล่อยสารเองทางราก สารระเหยทางใบ สารจากการชะล้างส่วนต่างๆของพืช และสารจากการย่อยสลายซากพืชในดินผ่านจุลินทรีย์ ไวรัส และเชื้อรา สารที่ปล่อยออกมานี้มีฤทธิ์แตกต่างกันขึ้นอยู่กับเป้าหมาย เช่นสารจากรากต้นClover(Trifolium subterraneum) ถึงขั้นปล่อยสารที่ทำให้แกะเปลี่ยนเพศได้

ในภาพยนตร์ Avatar สิ่งมีชีวิตที่โดดเด่นและเป็นที่จดจำที่สุด น่าจะเป็นรุกขชาติแห่งวิญญาณ (Tree of Soul) ต้นไม้เรืองแสง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวนาวี ที่เชื่อมโยงทุกจิตวิญญาณในดาวแพนดอร่าไว้ด้วยกัน โครงข่ายการสื่อสารของต้นไม้นี้เชื่อมต่อต้นไม้แต่ละต้นเข้าด้วยกันด้วยเส้นใยถักทอบริเวณราก ซึ่งในโลกความเป็นจริงน่าจะเป็นโครงข่ายที่เรียกว่าไมเคอร์ไรซา (mycorrhizal) เกิดจากเซลล์เห็ดราหลายเซลล์เรียงต่อกันเป็นเส้นใยไฮฟา (hypha) รวมกันเป็นกลุ่มเส้นใย เรียกว่า ไมซีเลียม (Myceliumซึ่งเคลือบรากต้นไม้จนถึงระดับเซลล์รากฝอย เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปันเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยพืชแบ่งปันกลูโคสที่ได้จากการสังเคราะห์แสงให้กับเชื้อรา ส่วนเชื้อราก็จะดูดซึมสารอาหารในดินให้กับต้นไม้ เช่น ฟอสเฟตและไนเตรต ซึ่งเว็บไซต์ Scientific American หัวข้อ The Fungi Economy เล่าถึงความสัมพันธ์ของรากับรากพืชในเชิงเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า เศรษฐกิจใต้ดินเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างรากพืชกับเชื้อราในสังคมที่เรียกว่า wood wide webโดยพืชจะใช้เงิน หรือคาร์บอนในรูปของน้ำตาลที่พืชสร้างขึ้นจากการสังเคราะห์ด้วยแสง ไปซื้อสารอาหารจากเชื้อราที่เป็นพันธมิตรกับพืชชนิดจำเพาะ แต่ระบบเศรษฐกิจนี้กำลังอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พืชจึงต้องใช้คาร์บอนมากขึ้นเพื่อแลกซื้อสารอาหารจากเชื้อรา ซึ่งเชื้อราในโลกนี้มีเยอะมาก ผลิตสารได้หลากหลายชนิด และจำเพาะต่อพืช สารเคมีจำเพาะที่เชื้อราแต่ละชนิดปล่อยออกมา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลคาร์บอนในระบบ ที่เมื่อมีคาร์บอนในระบบมากเกินไป จะกลายเป็นคาร์บอนเฟ้อ และเกิดหายนะของสภาพแวดล้อมโลก แต่พืชก็มีทางออกโดยการแบ่งปันเคลื่อนย้ายถ่ายเทคาร์บอนที่เก็บไว้ในเนื้อเยื่อแก่กัน คาร์บอนส่วนหนึ่งจะถูกส่งผ่านเครือข่ายใต้ดินระหว่างต้นไม้ด้วยกัน ส่วนคาร์บอนที่เหลือจะกระจายผ่านกระบวนการย่อยสลายทางธรรมชาติ และบางส่วนจะส่งต่อให้กล้าไม้ใกล้เคียง จากการสร้างสายใยสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างบรรดาต้นไม้และเชื้อรานี้ เมื่อมีการตัดไม้ทำลายป่า เผาป่าทำไร่เลื่อนลอยในพื้นที่หนึ่ง จะเป็นการตัดวงจรกระบวนการสื่อสารส่งข่าวระหว่างกัน เป็นการลดโอกาสของการส่งต่อคาร์บอน และถ่ายเทพลังงานไปสู่กล้าไม้รอบข้างที่จะเจริญเติบโตต่อไป ต้นไม้ใหญ่จึงเปรียบเสมือนต้นแม่ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมสายใยเครือข่ายของสรรพชีวิตในระบบนิเวศนั้น ผ่านการแลกเปลี่ยนสื่อสารพูดคุยในโลกเศรษฐกิจใต้ดิน

สำหรับมนุษย์ ถึงจะไม่ต้องสื่อสารผ่านกลุ่มเส้นใยไมซีเลียมของเห็ดราเหมือนพืช แต่สิ่งนี้กำลังพัฒนาสู่ Ultimate green material for future วัสดุแห่งอนาคตสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากมีคุณสมบัติที่น่าสนใจหลายประการต่างจากวัสดุสังเคราะห์แบบดั้งเดิม ได้แก่ การย่อยสลายเอง เป็นมิตรต่อต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีของเสียในระบบ (zero waste) ดูดซับคาร์บอนได้ ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ น้ำหนักเบา สามารถขยายตัวเป็นรูปทรงต่างๆได้ มีความยืดหยุ่นและทนทานสูง ซ่อมแซมตัวเองได้ เป็นฉนวนที่กันความร้อนและทนไฟ เลี้ยงง่าย โตง่าย ใช้พื้นที่น้อยทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ปัจจุบันได้มีการใช้ไมซีเลียมในอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงาม และบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายเองได้ ส่วนแผนในอนาคตคือ ใช้ทำอวัยวะเทียมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทำเนื้อเทียมทดแทนเนื้อสัตว์ (Fungi-Based Meat)และไกลไปถึงการจะสร้างอาณานิคมต่างดาวโดยใช้กลุ่มเส้นใยเหล่านี้มาทำเป็นวัสดุก่อสร้างฐานที่มั่นบนดาวเคราะห์ดวงอื่น


เขียนโดย : นางสาวประภาวีร์  วรกรรณ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : phapawee.w@gmail.com

รา ร่า รา ร่า รา ร่า รา 

เขียนโดย นายธิปไตย  สีลาดเลา

เห็นด้วยอย่างยิ่งนะคะ จริงๆ แล้วธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่เราเคยมีแต่ครั้นโบราณกาล ถือว่าสมบูรณ์แบบมากๆ  ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น แต่ในปัจจุบันมนุษย์เรามีความคิด ความใฝ่ฝัน จินตนาการเลิศล้ำ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นความฉลาดของมนุษย์เรา แต่สิ่งที่อาจจะพลาดไปก็คือ เราทำลายธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบนั้น เพื่อที่จะให้ตัวเองได้แก้ปัญหาที่มนุษย์เราสร้างเอาไว้ ด้วยวิธีการต่างๆ นานา ซึ่งบางวิธีก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุไปหรือเปล่า แก้ไปก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขได้เลย แต่กลับเป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาแทนเป็นปมไปเรื่อยๆ ดังนั้นน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาแก้ไขที่ต้นเหตุกันแบบจริงจัง 

เขียนโดย น.ส.สิรีกานต์  เกษี