หาดใหญ่โมเดล  29

คำสำคัญ : 

ตัวอย่างเรื่องราวการพัฒนาเชิงพื้นที่ และความสำคัญของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการการสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อรับใช้สังคม เริ่มต้นจากการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติในสถานการณ์จริง (Participatory Interactive Learning through Action: PILA) ที่มีการบูรณาการ และปฏิบัติการร่วมกันของหลากหลายสาขาวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและสถานการณ์เร่งด่วนในพื้นที่

4 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เวทีเสวนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง..สู้ภัยน้ำท่วม”ในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤตน้ำ ร่วมใจแก้ปัญหา พัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 14 นับตั้งแต่ปี 2554โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ เทศบาลนครหาดใหญ่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้แทนชุมชนต่างๆ ในเมืองหาดใหญ่ จัดขึ้นเพื่อติดตามการทำงานแบบมีส่วนร่วม ต่อยอดการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ แก้ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด หาดใหญ่โมเดล

หาดใหญ่เป็นพื้นที่ปลายน้ำของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา มีสภาพเป็นแอ่งกระทะรองรับน้ำ ทำให้ปกติเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ย้อนกลับไปเดือนพฤศจิกายนปี 2553 ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ระบายน้ำไม่ทัน เกิดอุทกภัยฉับพลันในพื้นที่สงขลา-หาดใหญ่ ระดับน้ำขึ้นสูงถึง 3เมตร ยาวนานติดต่อกันเกิน 1อาทิตย์ สถานการณ์รุนแรงเป็น 2 เท่าของน้ำท่วมใหญ่ปี 2531 และยังประสบปัญหาการเตือนภัยที่ล่าช้า รวมถึงไม่เคยมีเจ้าภาพในการจัดการภัยพิบัติน้ำมาก่อน จึงไม่มีแผนรับมือน้ำท่วมฉับพลัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินเทือกเขาคอหงส์ เป็นพื้นที่ส่วนน้อยในหาดใหญ่ที่น้ำยังไม่ท่วมถึง จึงสั่งหยุดการเรียนการสอนเพื่อเปิดมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์อพยพ จัดตั้ง War Room เฝ้าระวังสถานการณ์เร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง และประกาศให้นักศึกษาและบุคลากรทุกคนปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัครเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั้งในและพื้นที่รอบนอกมหาวิทยาลัย ขณะนั้น นักศึกษาและบุคลากรทุกคณะ ทุกภาควิชาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเต็มที่ตามความถนัด นักศึกษาแพทย์พยาบาลตั้งศูนย์แพทย์อาสา คนทำอาหารได้ก็ไปตั้งครัวที่ตึกกิจการนักศึกษา ทำอาหารแจกประชาชน ต่อมาพัฒนาเป็นโครงการการผลิตชุดอาหารยังชีพสำหรับผู้ประสบภัย เป็นข้าวผัดสุญญากาศพร้อมทานเก็บได้นาน 2 เดือน และไม่ต้องผ่านการอุ่นร้อนก่อนการบริโภค น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ สะดวกแก่หน่วยงานให้การช่วยเหลือทั้งทางบก น้ำ และอากาศ และผู้ประสบภัยในการเก็บรักษา แจกจ่าย และพกพาเมื่อเกิดภัยพิบัติ

คนถนัดภาษาก็เป็นทีมประชาสัมพันธ์ การล่าม และการจัดการข่าวลือที่สร้างความตระหนกให้ประชาชน ส่วนทีมคณะวิทยาศาสตร์ของพวกเราก็ออกไปกับรถบรรทุกหกล้อวันละหลายเที่ยวเพื่ออพยพประชาชนเข้ามาพักชั่วคราวในพื้นที่มหาวิทยาลัย มีบางคนไม่อยากทิ้งบ้านแม้ว่าน้ำท่วมถึงหลังคา ขาดแคลนทั้งน้ำและอาหาร อาหารและน้ำดื่มบรรจุขวดที่มหาวิทยาลัยจัดหาและได้รับบริจาคมาจากหน่วยงานต่างๆ ก็แจกไปจนหมด หาซื้อมาแจกใหม่ก็ยากเนื่องจากโรงงานผลิตถูกน้ำท่วม น้ำประปาก็เริ่มมีสีและกลิ่น ทำให้ผู้ประสบภัยไม่กล้าอุปโภคบริโภค ตอนกำลังคิดแก้ปัญหากัน งานวิจัยก็เป็นพระเอกขึ้นมา ความประทับใจคือ ใครทำวิจัยอะไรอยู่ขณะนั้น ถึงแม้ยังไม่ได้ใช้จริง ยังเป็นโมเดลใดๆ ก็ขนมาช่วยกันก่อน คิดวิจัยสดๆ แก้ปัญหาเดี๋ยวนั้นหน้างานก็มี ที่จำได้แม่นคือ เมื่อหารือกันแล้วว่าน้ำดื่มมีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด เราจึงตัดสินใจว่าต้องตั้งโรงงานผลิตน้ำบรรจุขวดเฉพาะกิจกันที่คณะให้สำเร็จ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุก็กลับไปขนท่อพีวีซีมาลองประกอบเป็นเครื่องกรองน้ำที่ยังวิจัยไม่แล้วเสร็จ รอบแรกกรองไม่สำเร็จ ชาวคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เลยช่วยกันคำนวณการไหล และปรับแก้โมเดล ทีมเคมีดูเตาเผาเซรามิกที่ใช้ทำไส้กรอง ฝั่งชีววิทยาและจุลชีววิทยาก็ทดสอบเชื้อ สี กลิ่นและความปลอดภัยกันก่อนบรรจุขวด สุดท้าย คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ก็สามารถผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดด้วยเทคโนโลยีเซรามิกเมมเบรน เกิน 1 แสนขวด เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตเมืองหาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เพียงพอตลอด 7 วันที่น้ำขึ้นสูง ต่อมาพัฒนาเป็นเครื่องกรองน้ำดื่มชนิด 3 ท่อ ไส้กรองเซรามิคเมมเบรน ความละเอียด 0.3 ไมครอน สามารถกรองกลิ่น สี คลอรีน และสารอินทรีย์ หินปูน ดูดซับสี ลดความกระด้างในน้ำ และกรองสารคลอลอยด์ จุลินทรีย์ และแบคทีเรียบางชนิด พกพาและติดตั้งง่าย และสามารถใช้กรองน้ำดื่มได้ทั้งในยามเกิดอุทกภัยและยามปกติ ในราคา 2 พันบาท

จากเหตุการณ์การจัดการภัยพิบัติน้ำปี 2553 เป็นที่มาของแผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำอู่ตะเภา “หาดใหญ่โมเดล”มีองค์ประกอบ 2 ส่วนหลัก คือ ระบบการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม และระบบการแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อการสร้างความตระหนักตามแนวทาง learning city เช่น โครงการเมืองแห่งเอเชียชุมชนตัวอย่าง และหลักสูตรท้องถิ่นศึกษา ทำให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และเครือข่ายประชาชนต่างๆ ในการขับเคลื่อนการจัดการน้ำอย่างมีระบบมากขึ้น สามารถประกาศเตือนภัยให้ประชาชนอพยพและขนย้ายทรัพย์สินไปไว้ที่ปลอดภัยได้ก่อนน้ำท่วมจริงประมาณ 9 ชั่วโมง แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดย ม.อ.หาดใหญ่ เป็นตัวกลางในการประสานงานหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านศูนย์จำลองปริมาณน้ำท่าและศูนย์วิจัยภัยพิบัติ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำในการเตือนภัย และถอดบทเรียนพื้นที่น้ำท่วมในแต่ละปี ในการประชุมแต่ละครั้ง ทุกภาคส่วนจะนำเสนอความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อม นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่พัฒนาขึ้นเพื่อจัดการน้ำท่วม ซึ่งภาคประชาคมสามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายชุมชนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ในการจัดตั้งบ้านพี่เลี้ยงซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยกรณีเกิดเหตุอุทกภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือบ้านใกล้เคียงในชุมชน โดยบ้านพี่เลี้ยงแต่ละหลังจะมีเครื่องอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์เตรียมพร้อมสำหรับบ้านใกล้เคียง

นอกจากการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเตรียมการรับมือน้ำท่วมตามแนวทางหาดใหญ่โมเดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังมีการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับพันธกิจการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ที่มุ่งเน้นให้นักวิจัยเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ การต่อยอดโครงการ “ม.อ. เพื่อชุมชนเข้มแข็ง” ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และการมอบรางวัล “Research & Innovation Award for Mankind 2024” ที่ส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในสังคม หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกําหนดโจทย์ เพื่อนําไปสู่การแก้ปัญหาชุมชนอย่างแท้จริง ตลอดจนให้ความสําคัญกับการสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ โดยระบุพื้นที่ดําเนินงานให้เห็นภาพการจัดการเชิงพื้นที่ที่ชัดเจนในนามของวิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตหาดใหญ่ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี วิทยาเขตภูเก็ต และวิทยาเขตตรัง โดยสิ่งสำคัญของการพัฒนาชุมชน คือ ให้ชุมชนท้องถิ่นและการร่วมพัฒนาเป็นพระเอก โดยผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ ได้แก่ องค์กรชุมชน องค์กรท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ จะเป็นทั้งผู้พัฒนาและผู้ร่วมวิจัย ดำเนินการวิจัยปัญหาร่วมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนแบบบูรณาการและพัฒนาพื้นที่ตามสถานการณ์ความเป็นจริง ร่วมกับผู้สนับสนุน ได้แก่ องค์กรรัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรทางวิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม องค์ประกอบของการพัฒนาชุมชน

  • ผู้นำชุมชนตามธรรมชาติ ที่เป็นผู้นำการพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วยผู้นำกลุ่มอาชีพต่าง ๆ กลุ่มการเงิน กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน ครู พระ ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้าน
  • การสำรวจข้อมูลชุมชน ทำให้รู้ประเด็นเร่งด่วนตามสภาพความเป็นจริง
  • การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม โดยใช้เครื่องมือการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติในสถานการณ์จริง (Participatory Interactive Learning through Action: PILA)ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกัน 3 ส่วน คือ

- ร่วมคิด กำหนดอนาคตและเป้าหมายการพัฒนาจากปัญหาของฐานชุมชนตัวเอง

- ร่วมทำ พัฒนาระบบกลุ่ม โดยมีผู้นำและทีมงาน มีการวิจัยเชิงพื้นที่ ทำซ้ำ และขยายผล โดยมีสถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐเป็นพี่เลี้ยง

- ร่วมเรียนรู้ ติดตามผลและถอดบทเรียนเพื่อวางแผนกลยุทธ์ แผนการดำเนินการจึงต้องเป็นแบบยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ทำแบบมี roadmap ตายตัว

  • การติดตามการปฏิบัติ เพื่อให้การจัดการชุมชนบรรลุวัตถุประสงค์

เขียนโดย : นางสาวประภาวีร์  วรกรรณ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : phapawee.w@gmail.com

หาดใหญ่ หรือบางคนมักสับสัน แล้วเรียกกันว่าเป็นจังหวัดหาดใหญ่ มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก อยากให้หาดใหญ่ได้ถอดแบบเพื่อนำไปช่วยพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

เขียนโดย นายเมธี  ลิมนิยกุล