เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
การปลูกข้าวในระบบประณีต (System of Rice Intensification; SRI) คือ การจัดการพืช การจัดการดิน และการจัดการน้ำร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งการผลิตข้าวในระบบของ มทส. เป็นการประยุกต์และปรับปรุงมาจากวิธีการผลิตข้าวในระบบ SRI ของ Dr.Norman Uphoff และคณะ จึงเน้นเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปัจจัยหลัก ซึ่งได้แก่ แหนแดง ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โดยให้พื้นที่ปลูกข้าวมีน้ำขัง ประมาณ 2-5 ซ.ม. เพื่อให้สามารถเลี้ยงแหนแดงได้
แหนแดง (Azolla) เป็นพืชน้ำเล็ก ๆ พวกเฟิร์นพบเจริญเติบโตอยู่บนผิวน้ำในที่มีน้ำขังในเขตร้อนและอบอุ่น มีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยชีวภาพ
ความเหมาะสมของแหนแดงในการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว
- แหนแดงสามารถเจริญเติบโตและขยายปริมาณได้รวดเร็ว
- สามารถเลี้ยงแหนแดงได้ให้เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีไนโตรเจนต่ำ
- แหนแดงมีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบอยู่สูง (3-5%)
- แหนแดงสลายตัวได้รวดเร็ว ใช้ระยะเวลาสั้นในการผลิตปุ๋ยให้กับข้าว
ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (Bioorganic Fertilizer) หมายถึง ปุ๋ยที่เกิดจากกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพพร้อมๆกัน และนำมาผสมกันในขั้นตอนสุดท้าย กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในระบบนี้จะต่างจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทั่วๆไป เนื่องจากการผลิตปุ๋ยในระบบนี้จะใช้อุณหภูมิในระหว่างกระบวนการหมักสูงมาก จนสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อก่อโรคทั้งในคน สัตว์ และพืช ตลอดจนเมล็ดวัชพืชที่ติดมากับมูลสัตว์
ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพนั้น ได้ทำการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพ ซึ่งได้แก่ Plant Growth Promoting Rhizobacteria (PGPR) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนและผลิตออกซินได้ นอกจากปุ๋ยชีวภาพในกลุ่ม PGPR แล้วยังได้นำเชื้อราปฏิปักษ์ ไตรโคเคอร์มา (Trichoderma harzianum) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ และยับยั้งการทำลายเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าในพืชใส่ลงไปในปุ๋ยดังกล่าวด้วย
ขั้นตอนการผลิตข้าวโดยการใช้แหนแดง และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ในระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต
1. การเพาะกล้าสำหรับการผลิตข้าวในระบบ SRI
จากผลการทดลองในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีขั้นตอนและวิธีการในการเพาะกล้าดังต่อไปนี้
1. ใช้กระบะพลาสติกที่มีรูขนาดเล็กบรรจุด้วยขี้เถ้าแกลบที่เปียกชื้นจากการรดน้ำให้อยู่ตัว จากนั้นทำการเกลี่ยหน้าให้เรียบ (สามารถเพาะในแปลงขนาดเล็กได้)
2.โรยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่น้ำ 12 ช.ม. และห่อผ้า 1-2 คืน จนเมล็ดเริ่มมีรากงอก (เช่นเดียวกับการแช่เมล็ดสำหรับตกกล้า) โดยทำการโรยเมล็ดข้าวให้สม่ำเสมอ
3. โรยขี้เถ้าแกลบกลบบางๆ หนาประมาณ 1 ซม. ทำการรดน้ำให้ชุ่ม
4. วางกระบะกล้าไว้ในที่ร่ม เช่นในโรงเรือนเพาะชำ ใต้หลังคา หรือที่มีลมพัดผ่านได้ เมื่ออายุต้นกล้าได้ 5 วัน ให้นำออกตากแดดและเมื่ออายุได้ 8 วัน สามารถนำไปปลูก ในแปลงปลูกได้ ไม่ควรให้อายุกล้าเกิน 15 วัน เพราะรากกล้าจะยาวมากเกินไป การเพาะกล้าโดยวิธีนี้จะทำให้สามารถถอนกล้าไปปลูกได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก สามารถยำไปได้ทั้งกระบะและวางไว้ใกล้ๆ กลับแปลงปลูก ทำให้ไม่เสียเวลาในการถอน และเคลื่อนย้าย แต่ถ้าเพาะในแปลงเพาะกล้าให้หว่านเมล็ดบางๆ
5. พื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 1 กก.
2. การถอนกล้า และการขนย้ายต้นกล้า
- ควรทำการย้ายปลูกกล้าที่อายุประมาณ 8-15 วัน และยังคงให้เมล็ดข้าวติดอยู่
- ในกรณีเพาะในถาดสามารถยกถาดไปยังแปลงปลูกได้เลย
- กรณีเพาะกล้าในแปลงควรทำการถอนทีละน้อยย้ายปลูกทันที
- ควรทำการปักดำกล้าที่ถอนให้แล้วเสร็จภายในเวลาครึ่งชั่วโมง
- ไม่ควรล้างรากหรือให้รากกล้าแห้งก่อนทำการปักดำ
3. การเตรียมแปลงปลูก และการปลูกข้าวต้นเดี่ยว
1. ปล่อยน้ำเข้าแปลงทิ้งไว้ 1 คืน ทำการหว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตามปริมาณที่ต้องการ
2. ใช้รถไถเดินตามตีดินให้เป็นโคลน โดยให้ระดับน้ำลึก 3-5 ซ.ม.
3. ทำการหว่านแหนแดง ประมาณ 1 กก./พื้นที่ 10 ตร.ม. ทิ้งไว้ 7-10 วัน
4. หลังจาก 7-10 วัน ให้ไถกลบแหนแดงลงแปลงปลูกและทำให้ดินมีลักษณะเป็นโคลน
5.นำเครื่องมือ ซึ่งทำจากท่อ PVC ลากขนานไปกับคันนาให้เป็นส้นตรงในแนวเดียวกันให้เต็มพื้นที่แปลงปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
6. นำข้างที่เพาะไว้ในกระบะเพาะ มาปลูกตรงรอยตัดของสี่เหลี่ยม โดยใช้นิ้วกรีดดินในแนวราบลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร
ต้นข้าวจะต้องตั้งฉากกับแนวราก เป็นรูปตัว “L” (L-shape) และหลังจากการทำการปักดำ 1-2 วัน ให้ทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงปลูกในระดับน้ำลึกประมาณ 2 ซ.ม. และทำการปล่อยแหนแดงให้ทั่วแปลงในอัตรา 10% ของพื้นที่
4. การดูแลรักษาแหนแดง และระดับน้ำในแปลงปลูก
- ทำการหว่านแหนแดงเพิ่มหลังจากการปักดำ 1-2 (หลังการใส่น้ำในแปลงข้าว)
- ควรให้ระดับสูงประมาณ 2 ซ.ม.ในครั้งแรก เพื่อป้องกันวัชพืชและการเพิ่มกระจายตัวของแหนแดงจากนั้นให้รักษาระดับน้ำไว้ประมาณ 5 ซ.ม.
- หว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน
สรุปข้อดีของการปลูกข้าวต้นเดี่ยวร่วมกับแหนแดงและปุยอินทรีย์ชีวภาพ
1. ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย
2. สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการใช้แหนแดงแทน
3. สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน
4. เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะจุลินทรีย์กกลุ่มส่งเสริมการเจริญเติบโต
5. ประหยัดน้ำ
6. กำจัดวัชพืชและข้าวปนได้ง่าย
7. อายุการเก็บเกี่ยวเร็วกว่าปกติ 10-15 วัน
8.จำนวนการแตกกอสงกว่าปกติ 2-3 เท่า
9.เปอร์เซ็นต์การสูญเสียจากข้าวลีบน้อยกว่าวิธีการผลิตแบบปกติ
10. ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 50-70%
ดูตัวอย่างความสำเร็จได้ที่ "หมู่บ้านข้าวเหลืออินทรีย์"
สมาชิก อสวท. มรพื้นที่ที่ร่วมเป็นวิทยากร ให้ความร่วมมือในการนำ วทน. ไปพัฒนาหมู่บ้าน
นายชุมพล ศิริภักดิ์ ประธานศูนย์การเรียนรู้ หมายเลขสมาชิก อสวท. 8303 ประวัติการปฏิบัติงาน