รู้ทันภัยเงียบ Burnout Syndrome !  146

คำสำคัญ : Burnout  Syndrome  

ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome เป็นภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์ เป็นผลจากความเครียดจากงานที่มากเกินไป อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ผู้มีภาวะหมดไฟมีความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้ มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลงมาก และไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการ ในการทำงานหรือทำงานได้ไม่ดี นานเข้าทำให้เสียแรงจูงใจในการทำงาน กระทั่งรู้สึกว่า ทำอะไรก็ไม่ได้ดี เป็นรู้สึกลบและเสียใจ ลงท้ายด้วยรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรให้ใครได้

โดยองค์การอนามัยโลก ได้ให้อาการหลัก 3 อาการ คือ รู้สึกสูญเสียพลังงาน หรือมีภาวะอ่อนเพลีย , มีความรู้สึกต่อต้านและมองงานของตนเองในทางลบ ขาดความรู้สึกในความตั้งใจที่จะประสบความสำเร็จ และ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า รวมถึงขาดความผูกพันกับสถานที่ทำงาน

 

อันตรายจากภาวะหมดไฟ !!

1. ผลด้านร่างกาย >>อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ

2. ผลด้านจิตใจ >> บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับได้ หากอาการรุนแรงจะนำไปสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง/ฝันร้าย อาจพบมีการใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์

3. ผลต่อการทำงาน >> อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด

 

วิธีการรักษาและป้องกัน Burnout Syndrome 

1. การขอความช่วยเหลือ การพูดคุยระบายความเครียด การปรึกษาหารือคนที่อาจช่วยได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง หรือครอบครัว

2. การพบปะสังสรรค์ มีกิจกรรมนอกงานกับเพื่อนร่วมงานบ้าง ทั้งช่วงพัก พักทานอาหารกลางวันและช่วงนอกเวลางาน ในขณะเดียวกันให้ลดการพบปะสังสรรค์พูดคุย กับคนที่ทำให้รู้สึกแย่หรือเป็นลบ

3. การเข้าร่วมกลุ่มที่อาจจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ชีวิตมีความหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มทางสังคม จิตอาสาต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ได้เพื่อนใหม่ด้วย ทั้งนี้ การเป็นผู้ให้หรือช่วยเหลือผู้อื่น จะมีส่วนช่วยให้เกิดความปลื้มใจและช่วยลดความเครียด แถมยังช่วยให้มีเพื่อนเพิ่มขึ้นด้วย

4. การปรับเปลี่ยนมุมมองต่องานที่ทำ มองหาคุณค่าในงานที่ทำ พยายามทำให้งานและชีวิตอื่น ๆ มีความสมดุล

5. การผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน จะช่วยลดความเครียดในการทำงาน และได้ความช่วยเหลือ มีโอกาสทำงานได้ผลดีขึ้น และผ่านเวลาที่ยากลำบากในการทำงานได้ง่ายขึ้น

6. หยุดพักบ้าง พักร้อนบ้าง พาตัวออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น

ฝากถึงทุกคนที่ทำงานกันอย่างหนักหน่วงนะคะ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือทำงานมาแล้วหลาย 10 ปี หากไม่มั่นใจว่า เอ๊ะ!! เราเป็นหรือยังนะ ลองเข้าไปทดสอบกันดูได้ค่ะที่ https://doh.hpc.go.th/bs/screenBurnOut.php

อ้างอิงแหล่งข้อมูล

https://www.rajavithi.go.th/rj/?p=16953

 


เขียนโดย : จตุรพร  วิศนุนาถนคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : jaturaporn.wis@gmail.com

อ่านๆไปเเล้ว เเอบรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเข้าข่าย Burnout Syndrome จังเลย >> ต้องทำตามคำเเนะนำเเล้วนะครับ ขอบคุณการเเชร์ความรู้ดีๆด้วยนะครับ 

เขียนโดย นายณัฐวุฒิ  ศรีสมบัติ