เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
การทำผ้าบาติก เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์จำเป็นต้องเตรียมให้พร้อมก่อนจะลงมือทำเพราะถ้าขาดวัสดุอุปกรณ์ในขั้นตอนใด อาจทำให้งานที่ได้ดำเนินไปแล้วเสียหายได้ และควรศึกษาวิธีการใช้การดูแลรักษาเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านั้นให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีด้วย เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในการผลิต ในขณะเดียวกันก็จะสามารถหาทางป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้
เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำผ้าบาติก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. เครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำผ้าบาติก
2. วัสดุในการทำผ้าบาติก
เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำผ้าบาติกนั้น มีอยู่หลายชนิด ทั้งนี้แล้วแต่ว่าจะทำบาติกประเภทใด จะเป็นบาติกลายเขียน หรือบาติกลายพิมพ์ เครื่องมืออุปกรณ์บางอย่างจำเป็นสำหรับการทำบาติกลายเขียน แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ในการทำบาติกลายพิมพ์
วัสดุที่ใช้ในการทำผ้าบาติกมีหลายชนิด การใช้วัสดุที่ถูกต้องและเหมาะสม
จะทำให้ผลงานที่สำเร็จออกมามีคุณภาพ วัสดุที่ใช้ในการทำผ้าบาติก มีดังนี้
1. ผ้า ผ้าที่จะทำบาติกให้สวยงาม จะต้องไม่หนาจนเกินไป ไม่มีแป้งและสารเคมีตกแต่งผิว เมื่อเขียนเทียนน้ำเทียนจะซึมผ่านอีกด้านหนึ่งได้ไม่เต็มที่ทำให้กันสีได้ไม่ดีเท่าที่ควร ผ้าที่เหมาะกับการทำผ้าบาติก ควรใช้ผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าไหม ผ้ารามี ผ้าซาติน ผ้าเรยอง ผ้าลอน ผ้าที่มีใยสังเคราะห์จือปนจะทำให้ย้อมสีติดไม่ดีเท่าที่ควร
2. เทียนผสมยางสน นำมาเขียนหรือพิมพ์ลวดลายลงบนผ้า ยางสนทำให้เทียนมีความเหนียว
3. สีย้อม สีย้อมมีอยู่หลายชนิด สีที่เหมาะกับการทำผ้าบาติกต้องใช้สีย้อมเย็น คือย้อมในน้ำสีที่มีอุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส และไม่ควรร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส ถ้าร้อนกว่านี้จะทำให้เทียนละลาย
4. ถุงมือ ควรใช้ถุงมือสีส้ม ซึ่งเป็นถุงมือที่ใช้กับสารเคมี เป็นเครื่องช่วยป้องกันไม่ให้มือถูกสารเคมีที่ผสมอยู่ในสี
ขั้นตอนการทำผ้าบาติกแบบเขียนลายวัสดุในการทำผ้าบาติก
การทำผ้าบาติก โดยทั่วไปมีกรรมวิธีที่ไม่สลับซับซ้อนมากนัก หลักการง่ายๆ คือ กันด้วยเทียน ระบายสีและต้มเทียนออกก็จะเสร็จกระบวนการ แต่การจะทำบาติกให้ได้ดี จะต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะตามขั้นตอน ต้องละเอียด พิถีพิถัน ผลงานที่สำเร็จออกมาจึงจะมีคุณภาพ การทำผ้าบาติกสามารถแยกกระบวนการผลิตเป็นขั้นตอนดังนี้
1.การเตรียมผ้า
2.การเตรียมเทียน
3.การเขียนเทียน
4.การระบายสี
5.การลงซิลิเกต
6.การลอกเทียนออกจากผ้า ( การต้มผ้า)
ข้อควรระวังในการระบายสี
1. การขึงผ้ากับขอบเฟรมหรือโต๊ะ ควรใช้ตะปูเกี่ยวกับหัวผ้า
2. หลีกเลี่ยงการใช้พู่กันกับสีที่มีส่วนผสมของโซดาไฟ และโซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ เพราะจะทำให้พู่กันเปื่อยเร็ว
3. ควรแยกอุปกรณ์ที่ใช้แต้มสีแต่ละสี การใช้อุปกรณ์แต้มสีร่วมกันจะทำให้เกิดสีเน่าหากจำเป็นต้องใช้ควรล้างให้สะอาด
4. ในฤดูฝน ไม่ควรนำผ้าที่แต้มสีแล้ววางซ้อนทับกัน เพราะสีมีความชื้นเมื่อวางซ้อนกัน จะทำให้สีซึมและเลอะส่วนอื่น ดูไม่สะอาด สีไม่สดใส
5. ควรระบายสีในขอบเขตของเทียน
6. ผ้าที่ระบายสีเสร็จแล้ว ถ้าสียังไม่แห้ง ไม่ควรนำผ้ามาพับหรือวางซ้อนกัน จะทำให้สีซึมเลอะ
ดาวส์โหลดคู่มือการทำผ้าบาติก
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่
ผศ.สมศรี มุสิกวงศ์ สาขาคหกรรมศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ต.บ่อยาง
อ.เมือง จ.สงขลา 90000074-324246 ต่อ 1725
โทรสาร 047-324245