ทำความรู้จัก "การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบาย การขับเคลื่อนและเป้าหมาย”  147

คำสำคัญ : เขตเศรษฐกิจพิเศษ  

ในงานสัมมนา เรื่อง บทบาทสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย

เมื่อวันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.30 - 15.00 น. ณ ห้องพระพรหม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ได้กล่าวว่า การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เพื่อให้เกิดพัฒนาการของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรมและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อการดำเนินงาน คือความสามารถในการผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการผลิตกำลังคนให้เพียงพอในแต่ละพื้นที่ โดยสถาบันอุดมศึกษาถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างบุคลากรให้มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะ ที่สามารถปฏิบัติงานได้จริงตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งต้องคำนึงถึงความต้องการทักษะของตลาดแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เพื่อให้การผลิตอัตราแรงงานสอดคล้องกับความต้องการของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

วัตถุประสงค์การจัดสัมมนา คือ เพื่อนำเสนอสถานการณ์ด้านการผลิตบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเข้าใจ สนใจ และมีส่วนร่วมกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทยในแต่ละพื้นที่สามารถดำเนินการได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการศึกษาบทบาทของภาคส่วนต่างๆ ต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย ผู้เขียนจึงขอสรุปข้อมูลการบรรยาย ในหัวข้อ “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบาย การขับเคลื่อนและเป้าหมาย” เพื่อให้ได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นและทำความรู้จักกับ “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ไปพร้อมกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การบรรยาย หัวข้อ “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบาย การขับเคลื่อนและเป้าหมาย”

โดย นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สถานการณ์และทิศทางการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนา ได้แก่ การแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ บทบาทของประเทศมหาอำนาจ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ และโรคระบาด ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพของประเทศ จึงต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานเพื่อให้มีแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่  การใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของที่ตั้ง การกระจายการลงทุนพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานไปในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพรองรับความเจริญ และการส่งเสริมภาคการผลิตและบริการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยการพัฒนาเรื่องพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของภาครัฐที่ผ่านมา ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ (New Growth Poles) และการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่และพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ของประเทศ

ความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และนโยบายรัฐบาล

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อมโยงกับแผนในทุกระดับ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 9 เขตเศรษฐกิจพิเศษ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ปลอดภัย เติบโตอย่างยั่งยืน และนโยบายรัฐบาลที่ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่

  1. อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมอัตราการขยายตัว EEC ร้อยละ 6.3ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ร้อยละ 5 และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ร้อยละ 3
  2. มูลค่าการลงทุนEEC 500,000 ล้านบาท ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 150,000 ล้านบาท และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน 10,000 ล้านบาท

เขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง และ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค ซึ่งกลไกการขับเคลื่อนเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีเครื่องมือที่เรียกว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปี 64

กลไกระดับชาติ มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ประกอบด้วย

  • คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ  มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน
  • คณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน

กลไกระดับพื้นที่ มี คณะทำงานบริหารจัดการและขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ/เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระดับพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง มีการขับเคลื่อนด้านต่างๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความก้าวหน้าร้อยละ 90 เรื่องสาธารณะสุข ด้านความมั่นคง สิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา พัฒนาแรงงาน/ผู้ประกอบการซึ่งทำให้พื้นที่มีความพร้อมในการรองรับการลงทุนโดยมีการขับเคลื่อนการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน และมาตรการส่งเสริมการลงทุน เช่น การส่งเสริมโดย BOI กรมสรรพากร กรมศุลกากร EXIM BANK

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค มีการขับเคลื่อน ได้แก่ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ชัดเจนเป็นระดับจังหวัด ซึ่งจำทำให้เกิดการเชื่อมโยง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีจุดเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาของแต่ละภาคอย่างชัดเจน มีการกำหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายของแต่ละภูมิภาคและการกำหนดสิทธิประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ

คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้กำหนดการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงฯ ตามองค์ประกอบ  5 ด้าน ได้แก่

  1. การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน
  2. การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ
  3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  4. การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ
  5. การวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ประเด็นขับเคลื่อนการพัฒนาในระยะต่อไป

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง

  1. สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง โดยเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุน
  2. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จตามแผนและใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ โดยเชื่อมโยงกับระเบียงฯ และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญทั้งในและต่างประเทศ
  3. พัฒนาแรงงานให้เพียงพอ สอดรับกับกิจการเป้าหมายที่ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ
  4. สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตฯ ชายแดน

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค

  1. สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค โดยเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุน
  2. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ทั้งเชื่อมโยงในระเบียงฯ และพื้นที่ต่อเนื่อง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนจุดเน้นของแต่ละระเบียงฯ ได้แก่ พัฒนาโครงข่ายการสื่อสารและโทรคมนาคมในระเบียงฯ ภาคเหนือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ในระเบียงฯ ภาคใต้ โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง/โลจิสติกส์ และด้านการวิจัยและพัฒนาในระเบียงฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และระเบียงฯ ภาคกลาง-ตะวันตก
  3. พัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ โดยศึกษาประเภทสินค้าและบริการที่มีศักยภาพจากคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย
  4. สนับสนุนการจิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยต่อยอดงานวิจัยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์

เขียนโดย : น.ส.พุทธพร  ผ่องกาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : puttaporn.p@mhesi.go.th