เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
การผลิตถ่านอัดแท่งจากวัสดุทางการเกษตรให้มีสมบัติตาม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนถ่านอัดแท่ง (มผช. 238/2547) ให้แก่ผู้ผลิตถ่านอัดแท่ง ชุมชน และเกษตรกร
ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย กรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการนำทรัพยากรธรรมชาตินั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อการเพิ่มมูลค่า จากการศึกษาวิจัยผลิตถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าว และให้บริการวิเคราะห์ทดสอบถ่านและถ่านกัมมันต์ จึงทำให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจหลายรายสนใจสอบถาม และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิตถ่านและการแปรรูปถ่าน เนื่องจากผู้ประกอบการและ
ผู้สนใจเหล่านั้นมีแหล่งวัตถุดิบได้แก่ กะลามะพร้าว เศษไม้ยางพารา ข้อไม้ไผ่ กะลาปาล์ม เป็นต้น เพื่อนำไปประกอบอาชีพอิสระโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก ซึ่งถ่านอัดแท่งหรือก้อน (briquette) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจกันมาก เพราะปัจจุบันพ่อค้า แม่ค้า แม่บ้าน ผู้ประกอบการร้านอาหาร นิยมใช้ถ่านอัดแท่งในการประกอบอาหารเนื่องจากใช้สะดวก ไม่มีควัน และเผาไหม้ได้นาน แต่ส่วนใหญ่ถ่านอัดแท่งยังขาดประสิทธิภาพในการใช้งานได้แก่ มีลักษณะเปราะ มีความชื้นเมื่อตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง ทำให้เกิดเชื้อรา จุดติดยาก ระยะเวลาเผาไหม้สั้น และมีควัน
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความต้องการใช้กะลามะพร้าว กิ่งไม้จากการตัดแต่ง ซางข้าวโพด เป็นวัตถุดิบผสมในการผลิตเพราะเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนของตนเองและมีปริมาณมาก ซึ่งเป็นวัสดุที่มีมูลค่าน้อยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทดแทนการใช้ไม้ และแก๊สหุงต้มซึ่งมีราคาแพง
ประเทศไทยมีบริษัท/กลุ่มผู้ผลิตถ่านอัดแท่งหลายบริษัทเพื่อใช้ในการปรุงอาหาร ปิ้ง ย่าง ซึ่งส่วนมากเป็นถ่านอัดแท่งจากขี้เลื่อยกะลามะพร้าว ส่วนถ่านอัดแท่งจากเศษวัสดุอื่นยังไม่แพร่หลาย และมีชุมชนอีกหลายชุมชนในต่างจังหวัดที่มีแหล่งวัตถุดิบที่สามารถผลิตถ่านอัดแท่งใช้เองหรือเพื่อขายได้ ปัจจุบัน ชาวบ้านสามารถรวมกลุ่มเป็นผู้ผลิตชุมชนผลิตสินค้าจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนของตนเองออกจำหน่าย โดยการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตและด้านการตลาด เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักเทคโนโลยีชุมชน ให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถ่านอัดแท่งจากวัสดุทางการเกษตรให้มีสมบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนถ่านอัดแท่ง (มผช. 238/2547) ให้แก่ผู้ผลิตถ่านอัดแท่ง ชุมชน และเกษตรกร เพื่อการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และการสร้างอาชีพ
ประโยชน์
• สร้างวิทยากรเครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อขยายผลครอบคลุมพื้นที่ในทุกภูมิภาค
การผลิตถ่านอัดแท่งไร้ควันใช้วัตถุดิบ ได้แก่ กะลามะพร้าว เศษไม้ยางพารา ข้อไม้ไผ่ กะลาปาล์ม เศษไม้ยูคาลิปตัส เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นมาเผาให้เป็นถ่านแล้วอัดขึ้นรูปเป็นแท่งหรือก้อน ( briquette) นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบ ได้แก่ ขี้เลื่อยไม้มะพร้าว แกลบ ที่สามารถนำมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่งได้ โดยนำมาอัดขึ้นรูปเป็นแท่งด้วยความร้อนแล้วจึงนำไปเผาเป็นถ่าน
เครื่องอัดรีดถ่านอัดแท่งมีหลักการทำงานของเครื่องโดยใช้มอเตอร์ ขนาด 3 แรงม้า 1250 รอบต่อนาที ทดด้วยพู่เล่ในอัตรา 1 ต่อ 4 ส่งกำลังไปที่เกียร์ ขนาด 72 แรงม้า ( เป็นของเครื่องยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ) ทดกำลังผ่านสกรูมีความเร็วรอบในการอัด ตั้งแต่ 150 250 350 450 รอบต่อนาที ตามเกียร์ที่กำหนด เครื่องอัดรีดถ่านอัดแท่งนี้เป็นการนำเอาเศษถ่าน หรือถ่านที่บดให้เป็นเม็ดเล็ก ๆ แล้วมาอัดโดยมีส่วนผสม คือ แป้งมันและน้ำ การยึดเกาะจะอาศัยแป้งมันเป็นตัวประสาน โดยอาศัยความร้อนจากการเสียดสีของเม็ดถ่านกับผนังของกระบอกอัดให้เกิดความร้อน ประมาณ 70 องศาเซสเซียส เพื่อให้แป้งกลายเป็นเจล (แป้งเปียก ) ยีดเกาะเม็ดถ่านให้ติดกันก่อนอัดรีดออกมาเป็นแท่ง แล้วตัดให้ได้ความยาวตามขนาดที่ต้องการ หรือหักด้วยมือ นำถ่านที่ได้ไปอบให้แห้งเพื่อไล่ความชื้นและป้องกันการเกิดเชื้อราที่ อุณหภูมิ 70-80 องศาเซลเซียส จนกว่าแห้ง
ติดต่อเจ้าของผลงานได้ที่
นางสาวอุราวรรณ อุ่นแก้ว
นายอรุณ คงแก้ว
สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ
75/7 ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ : 02-201-7107, 02-201-7112 โทรสาร 02-201-7102
E-mail urawan@dss.go.th , arun@dss.go.th