การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบาย การขับเคลื่อนและเป้าหมาย  65

คำสำคัญ : เขตเศรษฐกิจพิเศษ  นโยบาย  การขับเคลื่อน  กำลังคน  

สรุปประเด็น “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบาย การขับเคลื่อนและเป้าหมาย”

หัวข้อการบรรยายพิเศษ ภายในการสัมมนา
เรื่อง บทบาทสถาบันการอุดมศึกษา ต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย

ในวันพุธที่ 21 ก.พ. 67 เวลา 08.30 - 15.00 น.

............................................................

ที่มาและความสำคัญของการจัดงานสัมมนา

          ตามที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ภาคใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันตก และแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษกิจตามบริบทของพื้นที่ทั้งประเทศ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของวุฒิสภา ได้พิจารณาและมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาเรื่อง “บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทย” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาค SMEs ตลอดจนแผนการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับโครงการที่จะเกิดขึ้น โดยใช้ศักยภาพของภาคอุดมศึกษาเป็นแกนนำต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนและการวิจัย เพื่อเป็นการพัฒนาภาคของการศึกษา ภาคเศรษฐกิจและการสร้างอาชีพในพื้นที่ในมิติต่างๆ คณะอนุกรรมมาธิการฯ จึงจัดงานนี้ขึ้น เพื่อนำเสนอสถานการณ์ด้านการผลิต บุคลากร กำลังคน ที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตในแต่ละพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ มีความเข้าใจและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาทุกรูปแบบ พัฒนาด้านรายได้และเศรษฐกิจให้มีความมั่นคงต่อไป

คำกล่าว พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง (ประธานคณะกรรมาธิการ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา)

          เป้าหมายประเทศ คือการอยู่ดีมีสุข อยู่กีกินดี อยู่ดีมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ซึ่งจะเกิดได้คือคนต้องมีงานทำ เป็นงานที่เป็นสัมมาชีพ สร้างรายได้ ผู้ทำมีความสุข ตอบโจทย์ความต้องการสังคม ประเทศชาติและเชื่อมต่อกับต่างประเทศและทั่วโลก ตอบโจทย์ความต้องการของกระแสหรือ Demand-Suply มีเชิงปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนงานของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และต้องมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ การขับเคลื่อนให้ประชาชนอยู่ดีกินดีนั้น ต้องมีแผน โดยสภาพัฒน์ได้รับนโยบายจากภาครัฐ ประมวลความเห็นจากทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ ออกมาเป็นแผนประเทศในเชิงเศรษฐกิจสังคม ออกเป็นแผนระดับภูมิภาค มีแผนกลุ่มจังหวัด แผนจังหวัด และดูว่าความต้องการที่แท้จริงของ Stakeholder คืออะไร จะตอบโจทย์โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างไร จะเชื่อมตลาดอย่างไร คำตอบคือ เราต้องมีบุคลาการ ที่มีสมรรถนะ ทักษะ ความสามารถทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของกระแส ทั้งในจังหวัด ในประเทศและทั่วโลก ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันระดมความคิดเห็น ดูบทบาทของสภาอุดมศึกษาฯ ว่าจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับพื้นที่ ตัวอย่าง เขตเศรษฐกิจภาคใต้ มีปัญหาความมั่นคง และบุคลากรไม่เพียงพอตอบโจทย์ความต้องการ EEC มีความล่าช้าในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เตรียมที่ดิน สิทธิประโยชน์ แต่ก็มีความก้าวหน้าพอสมควร แต่จุดเด่นคือมีการรวมตัวกัน มีผู้ประกอบการกว่า 600บริษัท เช้ามาร่วม เกิดการสร้างบุคลากร ทั้งอาชีวะ เทคนิค วิศวะ นับเป็นเป็นความท้าทายระดับภูมิภาค ทั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10แห่งเดิม และระเบียงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่กำหนดขึ้นมาใหม่ ภายใต้การบูรณาการงานสภาพัฒน์และกลุ่มจังหวัด จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถานศึกษา ต้องช่วยกันผลักดันให้บุคลากร นิสิต นักศึกษาถูกนำไปใช้ประโยชน์ หลังจากผ่านการศึกษา อบรม เรียนรู้ ถ้าไม่มีการใช้ประโยชน์นับเป็นการสูญเปล่า ซึ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการ Demand-Suply กระแสโลกในปัจจุบัน ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี ในส่วนของกรรมมาธิการฯ จะเป็นเพียงผู้ประสานงานให้เกิดการเชื่อมโยง การผลักดัน การรายงานเพื่อเสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาประเด็นที่ยังเป็น Missing Point ที่ยังไม่ครอบคลุม นำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข หรือเพิ่มเติม

         

          การรับทราบถึงภาพรวมของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ สถานการณ์ ความก้าวหน้าในการดำเนินงานในปัจจุบัน และแนวทางในการดำเนินการในระยะต่อไป ก็นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องทำความเข้าใจ รับทราบข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในการขับเคลื่อนผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในด้านต่าง ๆ  ผู้เขียนจึงขอหยิบยกประเด็นนี้มาสรุป โดยมีรายละเอียดดังนี้

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบาย การขับเคลื่อนและเป้าหมาย

บรรยายโดย นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ส่วนที่ 1 : นโยบาย

          ในสถานการณ์ปัจจุบันในเรื่องของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีปัจจัยภายนอกภายในที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น การแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ บทบาทของประเทศมหาอำนาจต่างๆในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และรวมไปถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่โรคโควิด 19ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาและก็ส่งผลต่อขีดความสามารถของประเทศ เพราะฉะนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ เพื่อจะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การพัฒนาเชิงพื้นที่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งเรามีความได้เปรียบ 2อย่าง คือ ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ที่เราอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนรายล้อมด้วยประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก อีกส่วนคือ ผลจากการลงทุนของภารรัฐในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ได้กระจายไปยังพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีผลที่จำทำให้เราสามารถพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคให้เป็นฐานการลงทุน เพื่อจะกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ ที่ผ่านมาการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจก็จะมีทั้งเรื่องของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งมีพรบ.เฉพาะ และมีสำนักงาน EEC ที่ดูแลเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4ภาค ซึ่งสภาพัฒน์ฯ ต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน สร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะดึงดูดการลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้ เชื่อมโยงทั้งในประเทศและก็ประเทศต่างประเทศ

เขตเศรษฐกิจพิเศษกับแผนในระดับต่าง ๆ

          ในเชิงนโยบาย เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ในแผนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติก็เปิดเป็นเรื่องเฉพาะ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 กำหนดไว้ในหมุดหมายที่ 8 ที่สำคัญล่าสุดคือนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เรื่องของการพัฒนาต่อยอดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นการปรากฏอยู่ในแผนทุกระดับจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

การขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

          การขับเคลื่อนมีกรอบเป้าหมายที่ชัดเจน ตามแผนแม่บทที่ 9 ส่วนที่ 1 ในเรื่องของการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวม กำหนดไว้ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษจะประกอบด้วย 3 ส่วน ทั้ง EEC เขตชายแดนและระเบียง 4 ภาค ตั้งไว้ว่าต้องขยายตัวร้อยละ 5 เพื่อผลักดันประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มีการลงทุน เฉลี่ยทุก ๆ 5 ปี กำหนดไว้ที่ 650,000 ล้านบาท ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องขับเคลื่อนมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยการขับเคลื่อนต้องอาศัยเครื่องมือคือ “ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปี พ.ศ.2564”

          เขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง (ขับเคลื่อนการดำเนินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558) เป็นแค่ระดับอำเภอ ตำบล อีกส่วนคือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (เริ่มดำเนินการปี 2564) ขอบเขตเป็นระดับทั้งจังหวัด ระเบียงหนึ่งมี 4 จังหวัด ซึ่งสภาพัฒน์จะต้องขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          โดยกลไกการขับเคลื่อน ตามระเบียบฯ ให้ตั้งกลไกระดับชาติ เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) มีอนุกรรมการ 3 ชุด กลั่นกรองในเรื่องเฉพาะ ได้แก่ ด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการตลาด ประชาสัมพํนธ์ การสอดประสานระดับนโยบายไปสู่ระดับพื้นที่ ต้องเป็นไปตามนโยบายของ กพศ. ขับเคลื่อนให้สอดรับกับความต้องการของคนในพื้นที่

ส่วนที่ 2:ความก้าวหน้า

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง

          เนื่องจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญมีความก้าวหน้าแล้วเสร็จไปร้อยละ 90 พร้อมรับการลงทุน และนอกจากโครงสร้างพื้นฐาน ยังมีการพัฒนาในมิติทุกด้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดน จึงให้ความสำคัญด้านสาธารณสุข อนามัยเป็นอย่างมาก รวมถึงสิ่งแวดล้อม การพัฒนาฝึกอบรมแรงงาน ฝึกทักษะ พื้นที่ชายแดนนั้นมีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและด้านความมั่นคง จึงจัดสรรงบประมาณดำเนินการด้านความมั่นคงในทุกด้าน รวมถึงเรื่องการผ่านแดน ทำให้พื้นที่มีความพร้อมรองรับการลงทุน

          ภาพรวมการลงทุนของเขตชายแดน ตั้งแต่ปี 58 ถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 45,000 กว่าล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ถึง 20,000 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุน BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการทบทวนกิจการเป้าหมายที่ส่งเสริมการลงทุนในเขตชายแดน ล่าสุดมีประกาศของ BOI เพิ่มกิจการเป้าหมายจาก 13 กลุ่ม เป็น 89 ประเภทกิจการ ตามความต้องการของนักลงทุนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ ซึ่งการเพิ่มนี้มุ่งหวังให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยนอกจาก BOI ยังมีหน่วยงานอื่นที่มีมาตรการส่งเสริม เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร EXIM Bank      

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค

          มีการประกาศพื้นที่ชัดเจน กำหนดโดยเน้นความเชื่อมโยงของเครือข่ายและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะพัฒนาในระเบียง โดยจะมีความเชื่อมโยงทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กพศ. เน้นย้ำให้เกิดการพัฒนาทั้งในระเบียงและไปยังพื้นที่ใกล้เคียง/พื้นที่ต่อเนื่องด้วย เช่นต้นน้ำ สามารถที่จะนำวัตถุดิบจากพื้นที่ข้างเคียงที่มีปริมาณมาก มาแปรรูปในระเบียงได้  แต่ละระเบียงต้องมีจุดเน้นการพัฒนาตามศักยภาพและโอกาส

  • ภาคเหนือเน้นเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ในประเทศ เน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่เชื่อมตลอดห่วงโซ่การผลิต
  • ภาคกลาง ตะวันตก เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำเรื่องการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง เน้นการเชื่อมโยงกับ กทม. ปริมาณฑล EEC ได้สะดวก ทั้งมิติพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน กิจกรรม เศรษฐกิจ
  • ภาคใต้ มีศักยภาพที่หลากหลาย เน้นเป็นศูนย์กลางการค้า โลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงการค้าภายในประเทศและกลุ่มประเทศ ฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและเกษตรมูลค่าสูง มีวัตถุดิบระดับประเทศ เช่น ปาล์ม ยางพารา ผลไม้ สมุนไพร การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ

การขับเคลื่อน การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตามองค์ประกอบ 5 ด้าน

  1. การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกในการลงทุน ค่อนข้างมีความก้าวหน้ามาก มีการดำเนินการในส่วนของการให้สิทธิประโยชน์เป็นการเฉพาะ กำหนดมาตรการส่งเสริม Ecosystem มีกิจการเป้าหมายตามจุดเน้นการพัฒนาแต่ละระเบียงฯ + ส่งเสริม BCG
  2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  3. การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและการบริการ ต้องเชื่อมโยงต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้มีประสิทธิภาพ ได้รับประโยชน์
  4. การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ การเตรียมคน เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ เป็นหัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนให้การเติบโตมีความต่อเนื่อง
  5. การวิจัย พัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมี อว. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เป็นหัวใจการขับเคลื่อนเรื่องระเบียงฯ เนื่องจากระเบียงฯ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับหนึ่ง ถ้าให้ความสำคัญกับการแปรรูปที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามา จะทำให้การขับเคลื่อนมีความก้าวกระโดด การลงทุนของภาคธุรกิจจะมีการเติบโต สร้างงานสร้างรายได้ ซึ่งต้องดำเนินการดังนี้
  • ยกระดับการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
  • ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  • แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างรัฐ – เอกชน – สถาบันการศึกษา - ชุมชน

ส่วนที่ 3 : ประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาในระยะต่อไป

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

          ต้องบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จะทำให้การขับเคลื่อนมีความคืบหน้า ดึงดูดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ ประเทศไทยจะได้ฐานเศรษฐกิจใหม่ในแต่ละภูมิภาคและในแต่ละพื้นที่ชายแดนเพิ่มมากขึ้น ช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยการวิจัยพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการนำความรู้ ภูมิปัญญา มารวมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม เพื่อสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ


เขียนโดย : น.ส.กมลวรรณ  สุนทรเกตุ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : kamonwan.s@mhesi.go.th

พอจะมีข้อเสรอแนะในการเชื่อมโยงงานของ กปว. ไปสู่ระเบียงเจตเศรษฐกิจพิเศษ มัยครับ

เขียนโดย นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นค่ะ

อว. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการวิจัย พัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อน การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ

งานของ กปว. เรา ตรงตามแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว เรามีโครงการที่ดำเนินการทั้งการยกระดับการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาคน Upskill - Reskill

และกลไกที่เราใช้ คือการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา ชุมชน

ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทำกันอยู่แล้ว

ดังนั้น เพื่อที่จะเชื่อมโยงงาน กปว. ไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจได้

สิ่งที่ควรดำเนินการและให้ความสำคัญ คือ ทบทวนแนวทางการสนับสนุนงบประมาณในโครงการต่าง ๆ ของเรา พิจารณากำหนดเป้าหมาย กำหนดเรื่องที่จะมุ่งเน้น

เช่น ทบทวน VC ที่เราใช้อยู่ ให้สอดรับกับจุดม่งเน้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษค่ะ

เขียนโดย น.ส.กมลวรรณ  สุนทรเกตุ