บทบาทสถาบันอุดมศึกษา ต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย  72

คำสำคัญ : เขตเศรษฐกิจพิเศษ  สถาบันอุดมศึกษา  การพัฒนากำลังคน  

ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ได้จัดสัมมนาเรื่อง “บทบาทสถาบันอุดมศึกษา ต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย” ณ ห้องพระพรหม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นผู้เปิดการสัมมนา และรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ ส่วนราชการ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว

การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างมั่นคง ยั่งยืน และเป็นรูปธรรม และนำเสนอสถานการณ์ด้านการผลิตบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเข้าใจ สนใจ และมีส่วนร่วมกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทยในแต่ละพื้นที่สามารถดำเนินการได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับ “บทบาทสถาบันอุดมศึกษา ต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย” ได้มีการพิจารณาศึกษาตามหน้าที่และอำนาจในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศโดยรวมตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ

จากการศึกษา พบว่า ปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ความสามารถในการผลิตกำลังคน เพื่อตอบโจทย์ประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการผลิตกำลังคนให้เพียงพอในแต่ละพื้นที่ ๆ มีความแตกต่างกันในหลากหลายมิติ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษา จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างบุคลากรให้มีคุณภาพสูง มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะในการคิดวิเคราะห์ สามารถปฏิบัติงานได้จริง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงความต้องการทักษะของตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เป็นสำคัญ เพื่อให้การผลิตอัตราแรงงานตอบโจทย์ตรงตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะได้นำข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์นำไปประกอบการดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=694486259538829&id=100069323824998&mibextid=oFDknk


เขียนโดย : ดร.เอกชัย   เขื่อนมณี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : aekachai@mhesi.go.th