ทำความรู้จักมาตรฐาน อย. (เบื้องต้น) (EP 3)  233

คำสำคัญ : อย.  มาตรฐาน  ความปลอดภัย  

อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและดูแลผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพและร่างกาย โดยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดที่ต้องการจำหน่ายในประเทศไทยจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยจากอย.ก่อน
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่เพียงทำหน้าในการตรวจสอบอาหารและยา แต่ยังดูแลผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นของใช้ภายในบ้าน อย่างน้ำยาล้างจานหรือยาฆ่าแมลง ไปจนถึงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยในบทความนี้ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตรา อย. และข้อมูลต่างๆ โดยสรุป มาแลกเปลี่ยนกัน
อย. มีหน้าที่อะไรบ้าง?

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีหน้าที่กำกับดูแล กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ อนุญาตและเพิกถอนทะเบียนสินค้า จำแนกและจัดประเภทของสินค้าหรือสารเคมีทั้งก่อนจำหน่ายและหลังจำหน่าย ไปจนถึงควบคุมการโฆษณาสินค้าไม่ให้โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยประเภทสินค้าที่อยู่ในการดูแลของอย. ได้แก่
1. อาหาร อย.มีหน้าที่ในการตั้งมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร
2. ยา ไม่ว่าจะเป็นยาสำหรับคนหรือสัตว์ วัคซีน และสารเคมีที่ใช้ในทางการแพทย์
3. สารเสพติด อย.มีหน้าที่จัดประเภท อนุญาต และควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีสารเสพติดเป็นส่วนประกอบ
4. สารเคมีอันตราย อย่างผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง และสารเคมีทางการเกษตร
5. เครื่องสำอาง อย่างการตรวจสอบส่วนประกอบที่เป็นอันตราย หรือสารควบคุมบางชนิดที่อาจส่งผลเสียเมื่อมีปริมาณมาก เช่น สเตียรอยด์และสารปรอทที่มักลักลอบใส่ในเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ประทินผิว
6. เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เข็มฉีดยา ปรอทวัดไข้ หน้ากากอนามัย หรือเครื่องวัดความดัน
ทั้งนี้ อาจสรุปโดยคร่าว ๆ ได้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีหน้าที่ในการดูแลผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ ทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงพาณิชย์ และเชิงบริโภค โดยเริ่มตั้งแต่ผลิต นำเข้า จัดจำหน่าย ไปจนถึงหลังการใช้และการบริโภคในการตรวจสอบสินค้า
โดยการติดต่อ หรือร้องเรียนสามารถทำได้บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเบอร์โทรศัพท์ 1556

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์อย.

ในแต่ละประเทศมีหน่วยงานอย. หรือ FDA อยู่ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ซึ่งหลายครั้งเราอาจเห็นข่าวเกี่ยวกับการจับกุมสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากอย.ภายในประเทศ ทำให้สินค้าเหล่านั้นผิดกฎหมาย สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะในแต่ละประเทศมีการกำหนดปริมาณสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน บางสินค้าอาจถูกกฎหมายในประเทศที่ผลิต แต่เป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทย ดังนั้น การเลือกซื้อบางผลิตภัณฑ์จากร้านค้าที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายจึงอาจผิดกฎหมาย สำหรับการซื้อมาบริโภคเอง ส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหา หากไม่ได้มีปริมาณมากหรือดูเป็นการกักตุนเพื่อจำหน่าย ยกเว้นในกรณีที่สินค้าเหล่านั้นเป็นของผิดกฎหมาย อย่างยาเสพติด

บทบาท หน้าที่ ของ อย. ดังนี้
1.ดำเนินการตามกฏหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในความรับผิดชอบ
2.กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด
3.ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ
4.ตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาดและการโฆษณาผลิตภัณฑ์
5.เฝ้าระวังปัญหาหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้น
6.ส่งเสริมผู้บริโภคให้มีความรู้และศักยภาพในการเลือกผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างปลอดภัย คุ้มค่า
7.ส่งเสริมการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน
ประชาชน และเครือข่าย

ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องมีเครื่องหมายอย. VS ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมาย อย.
 “เครื่องหมาย อย. และเลขที่จดแจ้ง” เป็นการบ่งบอกเพียงว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับอนุญาตจาก อย. ให้ผลิตหรือจำหน่าย ไม่ได้หมายความว่าอย. เป็นผู้รับรองว่าโฆษณาของผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึงสรรพคุณและประโยชน์จะใช้แล้วเห็นผลจริง ฉะนั้นการดูโฆษณาจึงต้องวิจารณญาณส่วนตัวสูงประกอบการตัดสินใจด้วย แล้วคงเคยสงสัยกันใช่ไหมคะว่า ทำไมขนมห่อนี้มีเครื่องหมาย อย. แล้วทำไมยาสีฟันไม่เห็นมีเครื่องหมาย อย. แต่กลับอยู่ในผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องมี อย.  นั่นเป็นเพราะผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทแบ่งตามเครื่องหมาย อย. เป็น

3.1 ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. หรือผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องมือแทย์ที่ต้องมีใบอนุญาต วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน เช่น ยาฆ่าแมลง                                  3.2 ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ได้แก่ ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ที่ต้องแจ้งรายการละเอียด เครื่องมือแพทย์ทั่วไป วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนยากำกับบนผลิตภัณฑ์ 

 


ซึ่งช่องทางหลัก ๆ ของหน่วยงาน อย. ได้แก่ สายด่วน 1556 Line @FDAthai ORYOR Smart Application เว็บไซต์กระทรวงสาธารณะสุข www.moph.go.th และเว็บไซต์ อย. www.oryor.com
 
         
 
              อ้างอิงแหล่งข้อมูลจาก
1. https://alert.dmsc.moph.go.th/pages/technicalview?id=5
2. https://www.wongnai.com/food-tips/oryor
3. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา https://www.fda.moph.go.th/       

เขียนโดย : น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ketsarat.w@mhesi.go.th

พึ่งรู้ว่าเครื่องหมาย อย. และเลขต่างๆ ประกอบด้วยอะไรบ้างจากกระทู้นี้เลยครับ อยากให้มีมาตรฐานอื่นๆเพิ่มเติมอีกในกระทู้ต่อๆไปนะครับ รอติดตามครับ

เขียนโดย นายปรเมษฐ์  สีเขียวแก่

เป็นเเรื่องใกล้ตัว ที่ควรรู้เลยฮะ ขอบคุณมากๆฮะ

เขียนโดย น.ส.พรทิพย์  เพิ่มวรัญญู

ยินดีที่สุดค่ะน้องๆเราลงพื้นที่กันบ่อยๆ กับโครงการของกองเรา แล้วรู้สึกว่าผู้ทรงฯ จะให้คำแนะนำหรือความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลักดันเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ พี่เองก็อยากศึกษาและทบทวนตัวเองไปด้วยเหมือนกัน ขอบคุณน้องทิพย์ น้องอาร์ท ที่สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันนะคะ 

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล

มาตรฐาน อย. มีความสำคัญมากๆจริงๆ ที่สามารถผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค และเป็นการการันตี ให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความปลอดภัย จากการอุปโภคหรือบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นๆ ค่ะ ขอบคุณข้อมูลดีๆ ที่น้องฮ๊อบเอามาเขียนลงไว้นะคะ

เขียนโดย น.ส.ปุณชยา  บัณฑิตกุล