ทำไมบางคน เห็นผี แต่บางคนไม่เห็น!  50

คำสำคัญ : ghost  วิถีวิทย์  

ทำไมบางคน เห็นผี แต่บางคนไม่เห็น! เคล็ดลับก้าวแรกอยู่ที่ “ความเชื่อ”

บุคลิกภาพ ภูมิหลัง และการรับรู้ของเราล้วนมีบทบาทต่อประสบการณ์นี้ ความเชื่ออาจเป็นก้าวแรกที่สำคัญ การรับรู้เป็นตัวทำนายที่จะมองเห็นสิ่งเหนือธรรมชาติได้ดี และภูมิหลังทางศาสนาก็ส่งผลต่อรูปแบบของสิ่งที่มองเห็น

ข้อมูลการสำรวจจากสหรัฐอเมริการะบุว่าร้อยละ 18 ของชาวอเมริกัน เคยมีประสบการณ์เห็นผีหรือแม้แต่อยู่ตรงหน้าผี ในทางเดียวกันร้อยละ 29 ก็ระบุว่าพวกเขารู้สึกเคยติดต่อกับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว

แต่ทำไมคนราว ๆ 1 ใน 3 รับรู้ถึงวิญญาณ แต่คนอีก 2 ใน 3 กลับมองไม่เห็น และดูเหมือนว่าบางคนจะเห็นมากกว่าคนอื่น ๆ อีกด้วย

‘ถ้าคุณเชื่อว่ามี มันก็จะมีอยู่จริง’

คริสโตเฟอร์ เบเดอร์ (Christopher Bader) นักสังคมวิทยาเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ข้อกำหนดแรกสุดสำหรับการมีผีอยู่ในบ้านก็คือ ‘คน’ ที่เชื่อว่ามีผีอยู่ในบ้าน”

การสำรวจโดย ‘Gallup Polls’ เมื่อปี 2001 และปี 2005 ชี้ให้เห็นว่าชาวอเมริกันประมาณ 75% มีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างน้อย 1 ข้อ (รวมผีและอื่น ๆ) และมีคน 50% ในกลุ่มนั้นยอมรับความเชื่อเหล่านี้มากพอจนสามารถจัดอยู่ในประเภท ‘ผู้ศรัทธา’ ได้

ตามปกติแล้วนักจิตวิทยาจะใช้ ‘มาตราส่วนความเชื่อเรื่องอาถรรพ์ ฉบับปรับปรุง ’ (Revised Paranormal Belief Scale) ที่จัดพิมพ์โดย เจโรเม โทบาซีค์ (Jerome Tobacyk) ซึ่งแบ่งความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเอาไว้ 6 ข้อคือ การรับรู้ล่วงหน้า (สามารถคาดการณ์อนาคตได้), รูปแบบสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมตา (เช่นเอเลี่ยนหรือสัตว์ประหลาดต่าง ๆ)

วิญญาณ (สื่อสารกับคนตายได้), ไสยศาสตร์ (เลข 13 เป็นเลขโชคร้าย), คาถา (มนต์ดำ) และ Psi (ตัวอักษรกรีก ψ มักใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิทยา ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกประสาทการรับรู้และอธิบายทางกายภาพหรือทางชีววิทยาไม่ได้ ในที่นี้คือ พลังจิต การอ่านใจ และอื่น ๆ)

นักวิจัยพบว่าผู้ที่เชื่อในทั้ง 6 ข้อนี้มีแนวโน้มที่จะยอมรับทฤษฎีสมคบคิดและวิทยาศาสตร์เทียมมากกว่า นอกจากนี้ยังระบุอีกว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความเชื่อเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติมากกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายมักจะเชื่อในเรื่องรูปแบบสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่นเอเลี่ยนหรือสัตว์ประหลาดมากกว่า

โดยสรุปแล้ว “ความเชื่อ” เป็นก้าวแรกในการสร้างประสบการณ์เหนือธรรมชาติในแต่ละบุคคล

 

‘รูปแบบการรับรู้ที่แตกต่างกันก็มองโลกแตกต่างกัน’

มีโมเดลทางจิตวิทยาจำนวนมากที่พยายามอธิบายและทำความเข้าใจสไตล์การรับรู้ของแต่ละบุคคล ซึ่งบางรูปแบบก็ง่าย และบางรูปแบบก็ซับซ้อน และหนึ่งในนั้นคือทฤษฎีของ คาร์ล จุง (Carl Jung) และการจัดประเภทของ ไมเยอร์-บริกกส์ (Myers-Briggs) ที่แบ่งประเภทบุคคลตามรูปแบบของการรับรู้แตกต่างกัน 16รูปแบบ

แต่นักวิจัยพบว่ามีรูปแบบบางอย่างสามารถทำนายความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ใช้สัญชาตญาณทำความเข้าใจโลก และใช้การวิเคราะห์ทำความเข้าใจโลก พวกเขาชี้ว่าผู้ที่มีรูปแบบการรับรู้ตามสัญชาตญาณมักจะ ‘ไปตามสัญชาตญาณ’ เพื่อเข้าถึงแนวทางที่แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และเชื่อมั่นในความรู้สึกนั้นว่าเป็นความจริง

ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีรูปแบบการรับรู้เชิงวิเคราะห์จะดำเนินไปช้ากว่า และมีระเบียบวิธีในการหาข้อมูลเชิงประจักษ์กับพยายามหลีกเลี่ยงการถูกอารมณ์และสัญชาตญาณให้มามีอิทธิพลในการหาคำตอบมากเกินไป ซึ่งการรับรู้ทั้งสองแบบต่างก็มีประสิทธิภาพตามสถานการณ์ แต่งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าการรับรู้แบบใช้สัญชาตญาณนั้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติมากขึ้น

‘บุคลิกภาพก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ’

ผลการศึกษาจำนวนมากยืนยันว่า บุคคลที่ได้คะแนนสูงในด้านบุคลิกภาพที่เปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ การแสดงความสนใจต่อสิ่งภายนอก หรือการแสวงหาความรู้สึก ต่างก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความเชื่อเหนือธรรมชาติ มากกกว่าคนที่ได้คะแนนคุณสมบัติด้านเหล่านี้น้อย รวมถึงคนที่ไม่เรียกตัวเองว่า ‘ขยัน’ (ไม่คิดว่าตัวเองขยัน แต่ก็ไม่ขี้เกียจ) ก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเช่นกัน

ดร. แฟรงค์ แมตแอนดรูว์ (Frank McAndrew) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่วิทยาลัยน็อกซ์ (Knox College) เคยทำการทดลองกับนักเรียนของเขา 2คนและพบว่า บุคคลที่ไม่อดทนกับความคลุมเครือ ชอบความชัดเจน และอึดอัดกับความไม่แน่นอนนั้น มีแนวโน้มที่จะเชื่อเรื่องผีหรืออาจเคยเจอผี เพราะให้คำตอบที่รวดเร็ว หากคุณเคยเห็นผี เป็นไปได้ว่าคุณอาจมีบุคลิกภาพแบบนี้

‘ภูมิหลังทางศาสนาก็มีส่วนเช่นเดียวกัน’

เกือบทุกศาสนาต่างกล่าวถึงโลกหลังความตาย หรือไม่ก็แสดงว่าความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุด จนงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า คนที่เคร่งศาสนามักจะไม่มีความกลัวตายมากกว่าคนอื่น ๆ หรือยอมรับความตายได้ง่ายกว่า

แต่มีหลักฐานบางชิ้นที่น่าแปลกใจ ซึ่งให้เบาะแสว่า ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น ‘ผู้เชื่อ’ แต่กลับไม่เข้าร่วมกิจรรมทางศาสนาเป็นประจำ มีแนวโน้มที่จะเชื่อเรื่องผีมากกว่าผู้ที่มีความเชื่อทาศาสนาแบบสุดโต่งถึง 2 เท่า (แบบสุดโต่งคือ ไม่เชื่อเลย และศรัทธาอย่างลึกซึ้ง)

และเนื่องจากศาสนาส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มเทพเจ้า วิญญาณ เทวดา หรือปาฏิหาริย์ที่น่าประทับใจ ดังนั้นหลักคำสอนหรือเรื่องราวทางศาสนาอาจเป็นตัวกำหนดรูปแบบสิ่งที่เราเห็น เช่นในศาสนาคริสต์อาจมองเห็นเป็นวิญญาณชั่วร้าย หรือเทวดา ขณะที่คนศาสนาอื่นอาจมองเห็นเป็นเจ้ากรรมนายเวร หรือผีขอส่วนบุญ

‘มันอาจเกิดจากสมองล้วน ๆ’

รายงานทางวิทยาศาสตร์ระบุไว้ว่าประมาณ 50%ของผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน เคยเห็นภาพหลอน และภาพหลอนเหล่านั้นบางครั้งก็ปรากฎขึ้นมาในรูปแบบของผีหรือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติอื่น ๆ ในอีกทางหนึ่ง โอลาฟ แบลงก์ (Olaf Blanke) นักประสาทวิทยาเคยแสดงไว้ว่า การหยุดชะงักของสารสื่อประสาทระหว่างสมองส่วนหน้าและบริเวณขมับอาจเป็นตัวการให้ผู้ป่วยพาร์กินสันมีอาการประสาทหลอน

ดังนั้นมันจึงดูเหมือนว่าการเห็นผีอาจเป็นประสบการณ์ทางจิตวิทยาที่มีรากฐานมาจากประสบการณ์ ความเชื่อ เหตุการณ์ทางชีววิทยา การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง หรือแม้แต่ปัจจัยอื่น ๆ เช่น นักปีนเขาสูง นักสำรวจขั้วโลก และกะลาสีเรือโดดเดี่ยว ที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ ระดับออกซิเจนต่ำ และแยกตัวออกจากสังคม มักรายงานว่าเห็นผี หรือมีอาการประสาทหลอน

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงเป็นไปได้ว่าทำไมบางคนเห็นผี แต่บางคนไม่เห็น

ที่มา : https://ngthai.com/science/53277/see-ghosts/


เขียนโดย : นายจตุรงค์  สินแก้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : jaturong.s@most.go.th

แล้วผีเห็นผีไหมครับ 😅

เขียนโดย นายสมบัติ  สมศักดิ์

น่าจะเห็นนะครับ เพราะเป็นสถานะเดียวกันแล้ว

เขียนโดย นายจตุรงค์  สินแก้ว

แปลว่าจริงๆ น่าจะเป็นประสบการณ์ทางจิตวิทยาที่มาจากประสบการณ์ ความเชื่อ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง ใช่ไหมคะพี่ เรื่องนี้ชวนติดตามจริงๆ ยังอยู่บนพื้นฐานของหลักการทางวิทยาศาสตร์ สะด้วย

ขอบคุณข้อมูลสนุกๆ ที่นำมาแชร์ กันนะคะพี่ตู่

เขียนโดย น.ส.เกศรัตน์  วิศวไพศาล

วิทยาศาสตร์อธิบายได้แต่ยังไม่หมดนะครับ ยังต้องรอการพิสูจน์ และทฤษฏีใหม่ๆที่อาจจะค้นพบความเป็นจริงของชีวิตหลังความตายได้อย่างครบถ้วน พี่ก็อยากรู้เหมือนกันครับ

เขียนโดย นายจตุรงค์  สินแก้ว