20 ปี โครงการวิศวกรรมย้อนรอยกับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของภาครัฐ  152

คำสำคัญ : วิศวกรรมย้อนรอย  อุตสาหกรรมท้องถิ่น  ยุทธศาสตร์  

สืบเนื่องจาก blog ที่แล้ว นี่เป็นการรีคอล (Recall) ไม่ใช่การรีวิว (Review) หนังสือหรือบทความของใครเหมือน blog ก่อนหน้า นี่เป็นการย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ครั้งนี้เป็นการเขียนบทความเกี่ยวกับโครงการวิศวกรรมย้อนรอย ซึ่งในปัจจุบันคือโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าหรือ VCE (ยังใช้ชื่อนี้อยู่รึเปล่านะ) ก็ลองอ่านดูครับ ถึงแม้ตอนที่เขียนบทความนี้จะเป็นการเขียนเพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการวิศวกรรมย้อนรอย แต่ปัจจุบันก็ครบรอบ 20 ปี แล้ว หลักการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของไทย ยังคงเป็นปัจจุบันอย่างน่าเหลือเชื่อ นี่เป็นสิ่งยืนยันว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมใด ในระดับชาตินั้น ต้องอาศัยระยะเวลาอันยาวนานเป็นสิบๆปีเลยทีเดียว งั้นลองอ่านดูนะครับว่ามันยังคงใช้ได้ในปัจจุบันหรือไม่ หรือใครอยากจะอัพเดตว่า ปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วยังไงก็สามารถ comment แลกเปลี่ยนกันได้ครับ

 

 

 

10 ปี โครงการวิศวกรรมย้อนรอยกับแนวทางการส่งเสริมของภาครัฐ

 

โดย นายสมบัติ สมศักดิ์

สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.วท.) ได้ดำเนินงานโครงการศึกษา พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตด้วยวิธีวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering: RE) มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2556 ได้ร่วมทุนกับสถาบันการศึกษา สถาบันทางวิชาการ สถาบันวิจัย สมาคม และผู้ประกอบการภาคเอกชนมากกว่า 640 ล้านบาท และมีการสนับสนุนโครงการไปแล้วจำนวนมากถึง 99 โครงการ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพในการผลิตเครื่องจักรกลทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

โครงการวิศวกรรมย้อนรอย มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นการลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำโดยไม่ได้พัฒนา ซึ่งตามกฎหมายแล้วการทำวิศวกรรมย้อนรอยหรือวิศวกรรมย้อนกลับไม่ผิดกฎหมาย เพราะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 7 “การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้แก่ความลับทางการค้า มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า...” และ “(4) การทำวิศวกรรมย้อนกลับ ได้แก่ การค้นพบความลับทางการค้าของผู้อื่น โดยผู้ค้นพบได้ทำการประเมินและศึกษาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เพื่อค้นคว้า หาวิธีที่ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการประดิษฐ์ จัดทำหรือพัฒนา แต่ทั้งนี้ บุคคลที่ทำการประเมินและศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวจะต้องได้ผลิตภัณฑ์เช่นว่านั้นมาโดยวิธีที่สุจริต”

อย่างไรก็ตามโครงการวิศวกรรมย้อนรอยยังคงเป็นชื่อโครงการที่ผู้ได้ยินรู้สึกติดภาพลบทั้งในและต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2554 จึงมีแนวความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อโครงการ ประกอบกับการขยายขอบเขตการสนับสนุนของโครงการให้ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ต่อยอดจากการทำวิศวกรรมย้อนรอย เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกการสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศ

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2555 โครงการวิศวกรรมย้อนรอย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ด้วยเหตุผลและความหมายของชื่อโครงการตามที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า เพราะนอกจากจะเปลี่ยนชื่อโครงการแล้ว ยังมีการปรับปรุงขอบเขตการดำเนินงานของโครงการให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในไทย ถึงแม้ไม่มีต้นแบบจากต่างประเทศก็ตาม กล่าวคือ สามารถครอบคลุมเทคโนโลยีที่เกิดจากการต่อยอดเทคโนโลยีเดิมให้กลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่เป็น Local Content ของไทย ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีตหลายสิบปีของการถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทย เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของต่างชาติในไทย ก็จะทราบว่าแนวคิดเรื่อง Local Content ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยแม้แต่น้อย การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทยมีมานานกว่า 20 ปี แล้ว ซึ่งก็ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เป็น Local Contentจำนวนมากโดยเฉพาะอุตสากรรมยานยนต์ และ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แต่ทว่าความยั่งยืนเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวกลับมีข้อจำกัดด้วย กลไกภาษีที่สนับสนุนไม่สอดคล้องก้าวตามการพัฒนา เพราะจำกัดอยู่ที่ส่งเสริมการลงทุนสร้างโรงงานซื้อเครื่องจักร แต่ยังไปไม่ถึงขั้นการส่งเสริมการสร้างเครื่องจักรโดยลดการนำเข้า ซึ่งหากพิจารณาขั้นตอนหรือกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทย สรุปง่ายๆ 3 ขั้นคือ

Local Content คนนอกลงทุน คนไทยได้ประโยชน์

ขั้นต้น “เทศในไทย” : ส่งเสริมให้ต่างประเทศลงทุนในประเทศไทยเพื่อหวังดูดซับเทคโนโลยี

ขั้นกลาง “ไทยในไทย” : ส่งเสริมให้เกิด Local Contentในประเทศไทย หลังจากที่ดูดซับเทคโนโลยีมา ได้ระดับหนึ่ง

ขั้นปลาย “ไทยในเทศ” : ขั้นสุดยอดของความสำเร็จ คือผู้ประกอบการไทยสามารถดูดซับเทคโนโลยีจนสามารถพัฒนาเป็นของตัวเอง และก้าวล้ำจนอยู่ระดับเดียวกันหรือเหนือกว่าต่างประเทศ และสามารถไปลงทุนในต่างประเทศและแข่งขันได้

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยให้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมากจากหลายๆกลไก เช่น สิทธิพิเศษในเขตอุตสาหกรรม การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร และอื่นๆ จึงทำให้ไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นต้น แต่ทว่าไทย ก็หยุดความสำเร็จไว้ที่ขั้นต้นมานานหลายปี และยังไม่สามารถก้าวสู่ความสำเร็จขั้นกลางอย่างยั่งยืนได้ ทั้งนี้เพราะกลไกภาษีที่ล้าสมัย เป็นกลไกภาษีที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนแบบ “เทศในไทย” คือลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร แต่ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนกลับสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อกลายเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรกลใช้เองภายในประเทศได้ ทำให้เครื่องจักรกลที่ผลิตภายในประเทศ มีราคาสูงเนื่องจากต้นทุนชิ้นส่วนสูง หนำซ้ำยังไม่อาจแข่งขันด้านราคากับเครื่องจักรนำเข้าที่ปลอดภาษี ทำให้ “ไทยในไทย” ไม่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนเสียที จะมีก็แต่เพียงบริษัทรายใหญ่ที่มีเงินทุนสูงที่สามารถกระโดดข้ามจาก “ไทยในไทย” สู่ “ไทยในเทศ” โดยการเน้นออกแบบดีไซน์เครื่องจักรกลด้วยมันสมองและความสามารถของคนไทย แต่ส่งไปผลิตที่ประเทศจีนแล้วนำเข้ากลับมาขายคนไทย ผลประโยชน์จึงไม่ตกอยู่กับคนในชาติอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรทบทวนกลไกภาษี และการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดและดูดซับเทคโนโลยี ในระดับขั้น “ไทยในไทย” และ “ไทยในเทศ” อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยแนวความคิดข้างต้น การขับเคลื่อนระดับขั้นจาก “เทศในไทย” ให้ก้าวขึ้นสู่ “ไทยในไทย” เป็นแนวความคิดที่ก่อเกิดเป็นกลไกการส่งเสริมที่เป็นต้นแบบของโครงการวิศวกรรมย้อนรอย ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 10 ปี (ปัจจุบันคือ 20 ปี แล้ว) อย่างไรก็ตาม กลไกการสนับสนุนต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า การผลักดันและจูงใจให้เกิดการขับเคลื่อนระดับขั้นจาก “ไทยในไทย” ให้เข้าสู่ “ไทยในเทศ” จึงเกิดเป็นโครงการวิศวกรรมสร้างสรรค์คุณค่า เพื่อขับเคลื่อนกลไกการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเดิมให้กลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทัดเทียมต่างชาติหรือดียิ่งกว่าเดิม


เขียนโดย : นายสมบัติ  สมศักดิ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : sombat.s@most.go.th

หลังจากนั้นไม่นาน โครงการพัฒนาต่อยอดต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ สู่เชิงพาณิชย์โดยการออกแบบใหม่ (Technology Re-Design) เพื่อผลักดันสู่ตลาด AEC ก็ถูกริเริ่มขึ้นมา ตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องจักรกล 3 ระยะ ที่เขียนไว้ในขณะนั้น โดยระยะแรกคือ เทศในไทย เพื่อลดการนำเข้า (ซึ่งก็คือโครงการวิศวกรรมสร้างสรรค์คุณค่า: VCE) และไทยในไทย โดยสร้าง local content ให้เกิดขึ้นในประเทศ (ในขณะนั้นคือโครงการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยี) จากนั้นคือ ไทยในเทศ ส่งเสริมให้เกิดการส่งออก โดยโครงการพัฒนาต่อยอดต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ สู่เชิงพาณิชย์โดยการออกแบบใหม่ (Technology Re-Design) เพื่อผลักดันสู่ตลาด AEC นี้เป็นการริเริ่มตามกลยุทธไทยในเทศนั่นเอง

เขียนโดย นายสมบัติ  สมศักดิ์

เป็นบทความที่น่าสนใจมากครับ การรวมถือว่าเป็นโครงการที่ดี ในกระบวนการส่งเสริมกาพัฒนา แต่ต้องมาดูการส่งเสริมให้เกิดการซื้อขาย เครื่องจักร อุปกรณ์ ในกลุ่มที่เป็น  appropriate tech เพิ่มขึ้น

เขียนโดย นายเอกพงศ์  มุสิกะเจริญ
ผ่านมาแล้ว 20 ปี หลักการทำวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering: RE) ยังคงใช้ได้อยู่เหมือนเดิมครับ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำมาใช้พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลในบ้านเรา และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ มากมาย
น่าดีใจครับที่ยอดการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องจักรกลของบ้านเรา ไม่ได้ขี้เหร่ ถูกจัดให้เป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคอาเซียนแล้ว  เนื่องจากแชมป์เก่าอย่างสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดเครื่องจักรกลได้แล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตของประเทศเค้าสูงแบบสูงมากๆ  สิงคโปร์จึงหันไปผลิตสินค้าในหมวดอื่นที่ใช้เทคโนโลยีชนิดขั้นสูงแบบสูงเว่อแทน คือ ผลิต อะไรที่มันอันเล็กๆ ใช้วัตถุดิบน้อย แต่ขายได้ราคา กำไรสูงลิบ อย่างเช่น ชิฟประมวลผล ชิฟหน่วยความจำ บอร์ด ซอฟต์แวร์ประยุกต์ และระบบอัจฉริยะต่างๆ  ทั้งหมดทั้งมวลนี้สิงคโปร์สามารถขยับเข้าสู่อุตสาหกรรมประเภทไฮเทคโนโลยีได้ค่อนข้างง่าย เนื่องจากมีทรัพยากรที่ได้ สร้าง บ่มเพาะ สั่งสมไว้ อย่างยาวนานตั้งแต่แยกตัวมาจากมาเลเซีย เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าที่สุดนั่นก็คือ “ทรัพยากรมนุษย์” นั่นเอง
เขียนโดย จิรวัฒน์  วงษ์สมาน