ข้อมูลผลิตภัณฑ์
การผลิตและการแปรรูปถั่วดาวอินคา การสร้างอุปกรณ์เครื่องมือผ่อนแรงในการกะเทาะเปลือกถั่วดาวอินคาให้กับชุมชนได้นำไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันจากถั่วดาวอินคา การเก็บข้อมูลการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องสกัดน้ำมันจากถั่วดาวอินคา การทดสอบน้ำมันโดยหน่วยทดสอบผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ การทดสอบหาเชื้อรา จากนั้นมีการให้ความรู้โดยการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์สู่ชุมชนจำนวน 25 คน เก็บข้อมูลจากแบบประเมินการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูลและค่าสถิติโดยการหาค่าร้อยละหาค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยพบว่า ด้านการแปรรูปถั่วดาวอินคาสามารถทำผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้หลากหลาย ใบและเปลือกถั่วดาวอินคามีสารเทอร์พีนอยด์และซาโพนิ ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งใบถั่วดาวอินคาทำเป็นชาชงดื่มได้ เมล็ดสามารถนำมาสกัดเย็นออกมาเป็นน้ำมันทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิวหรือสามารถเป็นสารตั้งต้นในการทำสบู่ได้ กระบวนการแปรรูปในการกะเทาะเปลือกถั่วดาวอินคา จากผลการทดลองเปรียบเทียบถั่วดาวอินคาจำนวน 1 กิโลกรัม ด้วยวิธีใช้มือ มีเวลาเฉลี่ยเท่ากับ 40.59 นาที และการกะเทาะเปลือกด้วยเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น มีเวลาเฉลี่ยเท่ากับ 24.28 นาที แสดงให้เห็นว่าการใช้เครื่องมือเพื่อเป็นการผ่อนแรงการทำงานมีการใช้เวลาที่เร็วกว่าการใช้มือเปล่าโดยใช้เวลาต่างกันเท่ากับ 16.31 นาที ผลการทดลองการทำงานของเครื่องบีบน้ำมันถั่วดาวอินคา จำนวน 1 กิโลกรัม ได้น้ำมันถั่วดาวอินคาเท่ากับ 116.30 มิลลิลิตร ใช้เวลาในการสกัดน้ำมันเท่ากับ 3.30 นาที ผลการประเมินในการจัดโครงการอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันจากถั่วดาวอินคา พบว่าส่วนใหญ่ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.39
ค่า S.D 0.69 อยู่ในระดับมาก ผลการทดสอบจากหน่วยทดสอบผลิตภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี น้ำมันถั่วดาวอินคาแบบสกัดเย็น ไม่พบเชื้อราดำ สามารถนำไปส่งเสริมศักยภาพการผลิตและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้
