เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
หินฝุ่น คือ หินปูนบดหยาบๆ เป็นผลพลอยได้จากการโม่หินปูน มีองค์ประกอบหากหลายขึ้นอยู่กับแหล่งของหินว่ามีสิ่งเจือปนมากน้อยเท่าใด ในการศึกษาตัวอย่างหินฝุ่นจากโรงโม่หิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พบว่ามีองค์ประกอบสำคัญ คือ แคลเซียมประมาณ 30 – 35 % แมกนีเซียมประมาณ 3 – 5 % และธาตุอื่นๆปะปนในปริมาณเล็กน้อย คือ ฟอสฟอรัส กำมะถัน เหล็ก แมงกานีส ทองแดงสังกะสี ซึ่งเป็นธาตุอาหารพืชที่จำเป็นต่อมันสำปะหลัง
หินฝุ่นสามารถละลายในน้ำได้อย่างช้าๆ แต่ในดินที่เป็นกรดสามารถละลายในน้ำได้เร็วขึ้น และในดินที่มีความเป็นกรดค่อนข้างจัด ที่พีเอช ( pH )ต่ำกว่า 5 มักจะละลายหมดภายใน 4 – 6 เดือน จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการสามารถละลายน้ำได้ 90.6 % มีกากเหลือที่ไม่ละลายน้ำเพียง 9.4 % หินฝุ่นมารถละลายได้ในดินด่าง เมื่ออยู่ใกล้รากพืชจึงสามารถเป็นประโยชน์ต่อมันสำปะหลังได้ในดินด่างเล็กน้อย ( pHอยู่ระหว่าง 7 – 7.5 ) หรือดินเค็มเล็กน้อย ( ค่า EC อยู่ระหว่าง 0.5 – 1.5 ds/m )
ประโยชน์ของหินฝุ่น
1. เป็นแหล่งของธาตุอาหารพืชที่มีราคาถูกมาก โดยละลายให้แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุอื่นๆปะปนในปริมาณเล็กน้อย คือ ฟอสฟอรัส กำมะถัน เหล็ก แมงกานีส ทองแดงสังกะสี ซึ่งเป็นธาตุอาหารพืชที่จำเป็นต่อมันสำปะหลัง
2. ช่วยลดความเป็นกรดของดิน
3. ช่วยให้สภาพของดินร่วนซุยขึ้น
4. ช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้ดี
5. ช่วยให้ดินระบายน้ำได้ดี
6. ช่วยให้จุลินทรีย์ในดินทำงานได้ดี
7. เมื่อใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสมจะทำให้พืชใช้ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสมดุลดีขึ้น นั่นคือพืชจะใช้ธาตุทั้งสามนั้นน้อยลงต่อการสร้างมันสำปะหลัง 1 กิโลกรัม
พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่เป็นดินทรายจัดส่วนมากจะขาดธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และจุลธาตุต่างๆ จึงมีความจำเป็นต้องใช้ “ หินฝุ่น ”
วิธีการใช้
หินฝุ่นสามารถนำไปใช้กับมันสำปะหลังได้โดยการหว่านลงไปในพื้นที่เพาะปลูก ก่อนหรือหลังการไถ่พรวนและการปลูก ไปจนมันสำปะหลังอายุ 1 – 4 เดือน ซึ่งก่อนหว่านควรทำให้ชื้นเพื่อไม่ให้ฟุ้งกระจายและหว่านง่าย หรือนำหินฝุ่นไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ที่แห้งสนิททำเป็น ปุ๋ยรองพื้น ( อยู่ระหว่างการวิจัย )
ไม่ควร! ผสมหินฝุ่นกับปุ๋ยอินทรีย์ที่เปียกชื้น หรือผสมปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจน ( N )
อัตราการใช้
ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าควรใช้หินฝุ่นกี่กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งการวิจัยอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล แต่จากการที่ได้แนะนำเกษตรกรนำหินฝุ่นไปใช้ในพื้นที่ปลูก ขนาดใหญ่ ( 40 ไร่ ) ร่วมกับการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมในอัตรา 100 กก./ไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตของมันสำปะหลังจาก 4.8 ตัน/ไร่ เป็น 7.2 ตัน/ไร่ ที่อายุเก็บเกี่ยว 12 เดือน ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้วิจัย อัตราการใช้หินฝุ่น ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นกรดของดิน และความละเอียดของเนื้อดิน ควรใช้หินฝุ่นในปริมาณน้อยก่อน หรือ ทดลองใช้ในปริมาณที่ต่างกันจากน้อยไปหามากในพื้นที่ขนาดเล็กก่อนนำไปขยายผล
คำแนะนำ
การใช้หินฝุ่นในดินที่มีค่าพีเอช ( pH ) ระหว่าง 4.7 – 7.5 โดยไม่เกิดผลเสีย คือ
1. ดินที่เป็นดินทรายจัดควรใช้ปริมาณ 25 – 50 กก./ไร่/ปี
2. ดินร่วนปนทรายใช้ระหว่าง 50 – 100 กก./ไร่/ปี
3. ดินร่วนเหนียวใช้ระหว่าง 50 – 200 กก./ไร่/ปี
4. ดินเหนียวใช้ระหว่าง 50 – 500 กก./ไร่/ปี
สำหรับการใช้ในอัตราสูงอาจใส่ 1 ครั้งแล้วเว้นไป 1 – 3 ปี ทั้งนี้ควรพิจารณาเรื่องต้นทุนประกอบไปด้วย
สำหรับในบางท้องที่ที่ดินมีความเป็นด่างค่อนข้างสูงพีเอช ( pH ) สูงกว่า 7.5 ควรทดสอบในพื้นที่ขนาดเล็กก่อนนำไปขยายผล
การทดสอบหินฝุ่นในผักโขม
จากการทดสอบการใช้หินฝุ่นในผักโขมเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมี มูลโค และ การใช้แบบผสมผสาน ผลปรากฏว่าผักโขมที่มีการใช้หินฝุ่นร่วมกับ ปุ๋ยเคมี และมูลโค มีการเจริญเติบโตดีที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ยังมีอาหารธาตุอื่นๆ ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตที่ดีที่สุดของผักโขม การใช้หินฝุ่นเข้าไปร่วม จึงช่วยลดช่องว่างนั้นและทำให้ผักโขม มีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงสุด ซึ่งสามารถนำมาใช้กับการผลิตมันสำปะหลังเช่นเดียวกัน
เกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จจากการใช้หินฝุ่นในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง
กลุ่มเกษตรกร
ต.ลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
นายสุขุม ขอยึดกลาง
ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
นายวิเชียร กาญจนวัฒนาวงศ์
ต.ไชยมงคล อ.เมือง จ.นครราชสีมา
นางละมัย เพียรขุนทด
ต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
ผู้ใหญ่อำนวย งานแข็ง
ต.นิคม อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
ติดต่อ
อ.ดร.อัศจรรย์ สุขธำรง E-mail : ashcan_@sut.ac.th
สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนึกวิชาการเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
โทรศัพท์ 0-4422-4275 , 0-4422-4268